นิสสันนาวารานุ่มบนถนนแน่นกับออฟโรด

หัวข้อกระทู้ ใน 'ยานยนต์' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 28 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    9ปีผ่านไปนับตั้งแต่รหัส นาวารา เข้ามาทำตลาด นิสสันก็ได้ฤกษ์ส่งนาวารา ใหม่ที่มีชื่อต่อท้ายว่าเอ็นพี300

    ลงชิงชัยในตลาดปิกอัพ โดยเปิดตัวในไทยเป็นแห่งแรก

    เอ็นพี 300 ผลิตจากโรงงานแห่งใหม่ ที่เพิ่งเปิดสายการผลิตเช่นกัน ซึ่งเป็นโรงงานที่นิสสันลงทุนสำหรับนาวาราโดยเฉพาะ เพราะก่อนหน้านี้ช่วงที่ตลาดดีๆ โรงงานนิสสันซึ่งรับผิดชอบรถยนต์หลายรุ่น ผลิตไม่ทัน ต้องจากมิตซูบิชิประกอบให้

    นิสสันให้ความสำคัญกับตลาดเมืองไทยมาก เช่นเดียวกับอีกหลายยี่ห้อ เนื่องจากไทยถือว่าเป็นเมืองหลวงรถปิกอัพ 1 ตัน และมีบทบาททั่วโลก และนิสสันก็เช่นกัน รถที่ผลิตจากโรงงานถนนบางนา-ตราด จะส่งไปขายยัง 45 ประเทศทั่วโลกในเร็วๆนี้

    และช่วงนี้พี่น้องชาวเชียงใหม่อาจจะจะเห็นชาวต่างชาติมาแอ่วเหนือด้วยรถนาวาราใหม่ ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะนิสสัน มีกิจกรรมทดสอบสำหรับสื่อมวลชนนานาชาติที่นั่น

    นาวารา เอ็นพี300 เริ่มต้นเปิดตัว 2 ตัวถังคือ คิงส์แค็บ และดับเบิลแค็บ รวม 18 รุ่นย่อย ส่วนรุ่นซิงเกิลแค็บ จะตามมาในอนาคต

    เครื่องยนต์บล็อกเดียว และเป็นบล็อกเดิม แต่พัฒนาให้มีสมรรถนะดีขึ้น แบ่งเป็น YD25DDTi VGS Turbo อินเตอร์คูลเลอร์ ขนาด 2,488 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที และ YD25DDTi VGS Turbo อินเตอร์คูลเลอร์ ขนาด 2,488 ซีซี เช่นเดียวกัน แต่แรงม้าต่ำกว่า คือ 163 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 403 นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที

    ส่วนเกียร์มีให้เลือก 2 แบบ คือธรรมดา 6 สปีด และอัตโนมัติ 7 สปีด

    ผมลองขับ 2 รุ่น สีเดียว ซึ่งโดดเด่นสะดุดตาทีเดียว คือสีส้มที่มีชื่อทางการว่า สวันน่า ออเรนจ์ เป็นหนึ่งในสองสีใหม่ ซึ่งอีกสีหนึ่งคือ เอิร์ธบราวน์ น้ำตาลเข้ม

    2 รุ่นที่ขับ คือ คิงส์แค็บ ขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์ธรรมดา เครื่องยนต์ตัวแรง 190 แรงม้า และดับเบิลแค็บ ขับเคลื่อน 2 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ ในเส้นทางที่แตกต่างกัน เลือกโดยทีมงานนิสสัน โกลบอล ซึ่งยกทีมจากต่างประเทศเข้ามากำกับดูแลกิจกรรมทดสอบครั้งนี้

    ก่อนจะขับมาดูกันที่ตัวรถกันก่อนครับ นาวาราใหม่ มีตัวถังขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของรถปิกอัพในยุคปัจจุบัน แต่การออกแบบถือว่าใช้ได้ครับ ใหญ่ แต่สามารถทำให้ไม่ดูเทอะทะ ด้วยความสมดุล กว้าง ยาว สูง ตัวถังดูโฉบเฉี่ยวขึ้น แต่ก็ยังไม่ทิ้งดีเอ็นเอของนาวาราเดิม ยังมีอารมณ์ร่วม มีมุม มีเหลี่ยมสันพอควร รวมถึงรูปทรงด้านหน้าที่ดูทันสมัยขึ้น รวมถึงเติมรายละเอียดเข้าไปหลายอย่างเช่น ไฟหน้า แอลอีดี โปรเจกเตอร์ ไฟเดย์ไลต์แบบแอลดีดี เพิ่มอารมณ์หรู แต่เมื่อรถคันหน้ามองผ่านกระจกหลัง ก็รู้ได้ทันทีว่านาวาราตามมา

    ส่วนภายในนั้น ไม่ต้องห่วงครับ กว้างขวาง นั่งสบาย ซึ่งพื้นที่ที่เพิ่มขึ้้น ทำให้สามารถปรับองศาการเอนของเบาะหลังได้มากขึ้น นั่งสบายขึ้น ที่สำคัญในรุ่น ดับเบิลแค็บ เพิ่มช่องแอร์ด้านหลัง น่าจะถูกอกถูกใจคนเมืองร้อนอย่างบ้านเรา รวมถึงมีที่วางแก้วตรงกลางให้อีกด้วย

    การออกแบบภายในเน้นหรู เพราะคนใช้ปิกอัพปัจจุบัน รู้ๆ กันว่ามีจำนวนมากที่ใช้แทนรถเก๋ง ซึ่งนาวาราก็มีอุปกรณ์มาตรฐานติดตั้งเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งอาจจะต่างกันไป แต่รุ่นบนๆ ที่ผมขับอยู่นี้มีทั้ง ระบบนำทาง กล้องมองหลัง หน้าจอสัมผัส 7 นิ้ว พวงมาลัยมัลติฟังก์ชัน เบาะนั่งปรับด้วยไฟฟ้า เครื่องเสียงพร้อมดีวีดี เครื่องปรับอากาศแยกซ้าย-ขวา ให้ปรับอุณหภูมิกันตามใจชอบ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ หรือครูส คอนโทรล และลูกเล่นที่หลายคนชอบใจ ก็นำมาใช้ในปิกอัพ นั่นคือ คีย์เลส หรือ กุญแจไม่ต้อง จะติดเครื่อง ดับเครื่อง ง่ายๆ ด้วยการกดปุ่ม

    ส่วนระบบความปลอดภัย ก็มีทั้งระบบช่วยขับ หรืออุปกรณ์ผ่อนหนักเป็นเบา เช่น ถุงลมด้านหน้า ด้านข้าง ถุงลมป้องกันช่วงเข่าสำหรับผู้ขับ เป็นต้น

    ผมเริ่มกับคิงส์แค็บ 4x4 ตัวแรง 190 แรงม้า เกียร์ธรรมดา 6 สปีด ซึ่งทีมงานเลือกเส้นทางให้ผ่านป่าเขา หมู่บ้าน โดยมีบางช่วงเป็นทางดินทางโคลน มีร่อง มีหิน ซึ่งเข้าใจนิสสันต้องการให้เห็นถึงความสามารถในการใช้งานนอกถนน ที่ทำได้ดีกว่าตัวที่แล้วด้วยโครงสร้างของตัวถัง ไม่ว่าเป็นมุมประชิด หรือมุมจาก รวมถึงความสูงใต้ท้องรถ

    แม้ว่าโดยรวมของการขับเส้นทางเหล่านี้ แม้จะมีโคลน มีเนินชัน แต่ก็ไม่ต้องพึ่งพาระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ แต่อย่างใด แรงบิดระดับ 450 นิวตันเมตร ช่วยให้ผ่านไปได้ง่ายๆ แต่ก็ทำให้รู้ว่าความสามารถเชิงกายภาพของรถนั้นผ่านได้

    จะมีต้องออกแรงบ้างก็คือการเปลี่ยนเกียร์ที่ต้องสอดคล้องกับเส้นทาง และรวดเร็วพอควร เพราะบางช่วงบางเนิน เกียร์ 2 เอาไม่อยู่ ต้องตบลงมาที่เกียร์ 1 เท่านั้น

    นิสสัน ยังลงทุนทำเส้นทางออฟโรดจำลองแถวๆ แม่ริมเพื่อให้ลองสมรรถนะของรถ การปีนเนิน 31 องศา ชนิดมองผ่านกระจกเห็นแต่ท้องฟ้า ก่อนจะหยุดกลางเนิน เพื่อพิสูจน์ระบบช่วยออกตัวบนทางชัน (HSA) ที่รถจะช่วยออกแรงเบรกให้ประมาณ 3 วินาที และระบบช่วยลงเนิน หรือ HDC ซึ่งช่วยได้มากสำหรับผู้ที่ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะใช้เกียร์ไหนลงเนิน จะใช้เบรกอย่างไร ก็แค่กดปุ่ม จากนั้นมีหน้าที่แค่ควบคุมพวงมาลัยเพียงอย่างเดียว เท้าไม่ต้องยุ่งกับแป้นอะไรทั้งสิ้น

    และก็ยังมีสนามสำหรับทดสอบลิมิเต็ด สลิป หรือว่า VDC (Vehicle Dynamic Control) ให้เห็นการทำงานเมื่อล้อใดล้อหนึ่งไม่พร้อมสำหรับการส่งแรงขับเคลื่อน

    จากนั้นผมย้ายมาดับเบิลแค็บ 163 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด เส้นทางราดยาง แต่ก็หลากหลายทั้งทางใหญ่ หรือเส้นทางลัดเลาะป่าเขา ชนบท

    นาวารา ปรับช่วงล่างให้นุ่มนวลกว่าเดิม แต่ก็ไม่ทำให้การทรงตัวเสียไป รถยังยึดเกาะถนนอยู่ในระดับที่ไว้ใจได้ ผ่านทางโค้งไปได้ไม่ยาก แม้รถมีอาการโยนตัวอยู่บ้าง แต่อยู่ในวิสัยที่สามารถควบคุมได้ พวงมาลัยน้ำหนักดี และถือว่ามีความแม่นยำสำหรับรถปิกอัพ

    เสียงรบกวนจากภายนอกมีให้ได้ยิน แต่ไม่อยู่ในระดับที่ทำให้รำคาญ ความเร็ว 140-150 คนในรถยังพูดคุยกันได้รู้เรื่อง

    ส่วนเกียร์ 7 สปีด ก็เห็นได้ชัดเจนว่าการเปลี่ยนเกียร์นุ่มนวล ลื่นไหลมากขึ้น ถูกใจคนที่ใช้ปิกอัพแทนรถเก๋งล่ะครับ

    Tags : นิสสัน • ยานยนต์ • นิสสัน นาวารา • ตลาดรถยนต์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้