ภาษีใหม่เพิ่มศักยภาพยานยนต์ ลุ้น'ไฮบริด'โปรดักท์แชมเปี้ยน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ยานยนต์' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 2 ธันวาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    อุตสาหกรรมยานยนต์ มั่นใจ พ้นจุดถดถอย "จักรมณฑ์" ชี้ชัดการเมืองนิ่ง โครงการรถคันแรกจบถาวร ดันตลาดปรับตัวดีขึ้น

    เชื่อปีหน้ายอดผลิต 2.2 ล้านคัน ระบุปี 59 โครงสร้างภาษีใหม่ "จุดเปลี่ยน" อุตสาหกรรมยานยนต์ ดันการพัฒนาเทคโนโลยีผลิต เผยเตรียมเปิดระบบข้อมูลรถยนต์ภายใน 1 ปี หวังผู้บริโภคได้รับเป็นธรรม ค่ายรถเพิ่มขีดแข่งขัน ลุ้น "ไฮบริด" โปรดักท์ แชมเปี้ยนใหม่ ด้านเอกชนมั่นใจปีหน้ายอดขายโต เล็งใช้ประโยชน์ เออีซี ขับเคลื่อนธุรกิจ

    สมาคมผู้สื่อข่าวรถจักรยานยนต์ไทย จัดงาน "CEO TALK 2015 : จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย" ระดมความคิดเห็นจากผู้บริหารภาครัฐ และเอกชน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งภาวะอุตสาหกรรม ทิศทางการพัฒนา การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี อย่างเต็มรูปแบบในปลายปี 2558 และการเตรียมบังคับใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ในปี 2559 วานนี้ (1 ธ.ค.)

    นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เติบโตมาโดยตลอด ทำให้ปัจจุบันไทยมีความสามารถในการผลิตรถทุกโรงงานในประเทศร่วมกัน 2.8 ล้านคัน แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ หลังจากตลาดถดถอย เป็นส่วนหนึ่งทำให้จีพีดีภาคอุตสาหกรรมติดลบ เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ คิดเป็นสัดส่วน 10% ของภาคอุตสาหกรรมระบบ

    ทั้งนี้ภาพรวมการผลิตในปีนี้ คาดว่าจะทำได้ 1.95 ล้านคัน ลดลง 25% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดในประเทศถดถอย อย่างไรก็ตามยังมีตัวช่วยคือการส่งออกที่อยู่ในเกณฑ์ดี คือ 1.1 ล้านคัน

    "อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าขณะนี้อุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หลังจากไทยมีเสถียรภาพทางการเมือง และโครงการรถคันแรก จบลงอย่างถาวร"

    ดังนั้น มั่นใจว่าปีหน้าทุกอย่างจะดีขึ้น โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประเมินว่า ปี 2558 การผลิตจะกลับมาอยู่ในระดับ 2.2 ล้านคัน

    นอกจากนี้ ทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะต่ำในระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปจนถึงกลางปีหน้า หนุนให้ความต้องการซื้อรถยนต์มีสูงขึ้น

    จัดทำระบบข้อมูล-หาโปรดักท์ แชมเปี้ยนใหม่

    นายจักรมณฑ์ ยังกล่าวถึงโครงสร้างใหม่ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค.2559 ว่า จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ โดยที่ผ่านมาไทยมีนโยบายใช้ภาษีผลักดันการพัฒนามาหลายครั้ง เช่น ผลักดันให้เกิดการลงทุนในโครงการอีโค คาร์ ซึ่งกลายเป็นโปรดักท์ แชมเปี้ยนตัวใหม่ ดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาผลิตรถยนต์ไฮบริด สอดรับกับโครงสร้างภาษีที่เน้นให้เกิดการประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยมลพิษ นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของความปลอดภัยที่ผู้ผลิตต้องพัฒนาตามข้อกำหนดของโครงสร้างภาษีใหม่ อีกด้วย

    ขณะที่กระทรวงฯ ก็ได้จัดทำระบบข้อมูลรถยนต์แบบเดียวกับต่างประเทศและจะนำมาใช้ในปี 2558 เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับตัวรถ ก่อนตัดสินใจซื้อ

    "ที่ผ่านมาบางครั้งการสำแดงที่สูงเกินความเป็นจริง กระทรวงจึงตัดสินใจเข้าไปจัดทำ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น ไม่เฉพาะผู้บริโภคเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ค่ายรถเองก็ได้ประโยชน์ เพราะรู้ข้อมูลที่แท้จริงของคู่แข่ง ทำให้เกิดการพัฒนา"

    อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยังท้าทายจากการแข่งขันของต่างชาติ ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนา และอาจจะต้องหาสินค้าสำหรับขยายตลาดในอนาคต ที่จะต้องเหนือกว่า อีโค คาร์ รุ่น 2

    ทั้งนี้รถที่จะมาเป็นโปรดักท์ แชมเปี้ยนตัวใหม่ อาจจะเป็น "ไฮบริด" หรือว่า รถพลังงานไฟฟ้า ก็เป็นได้

    โตโยต้าสนใจตลาดลุ่มน้ำโขง

    นายวิเชียร เอมประเสริฐสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เชื่อว่าปีหน้าตลาดรถยนต์จะเติบโตได้อีกครั้ง หลังจากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ และอนาคตน่าจะขึ้นไปได้ถึง 1.5 ล้านคัน

    อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะต้องมองโอกาสในการขยายตัวในอนาคต เพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขันโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน หลังจากที่เพื่อนบ้านพยายามยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นมา

    ทั้งนี้เห็นว่า สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ การเกิดขึ้นของเออีซี ซึ่งนอกจากจะทำให้การค้าขายชายแดนขยายตัว กำลังซื้อต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นแล้ว ตลาดเพื่อนบ้านก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ควรเข้าไปสร้างโอกาสในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงให้มากขึ้น

    "อินโดนีเซียพยายามที่จะแข่งกับไทย มีข้อได้เปรียบคือประชากรกว่า 200 ล้านคน แต่ถ้าไทยร่วมมือกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลุุ่มน้ำโขง ทั้งลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า ก็จะมีประชากรที่ไม่แพ้เช่นกัน"

    นิสสันยันไทยสำคัญสุดในอาเซียน

    นายประพัฒน์ เชยชม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเปิดเออีซี จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และนิสสันจับตาดูมาหลายปี และเห็นถึงพัฒนาการของตลาดรถยนต์ เช่น พม่า ที่มีความกระตือรือร้นมากที่สุด แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ

    โดยเห็นว่าการเข้าไปลงทุนในบางประเทศ ยังมีข้อจำกัด เช่น การใช้พวงมาลัยซ้าย และตลาดยังเล็ก ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมนิสสันจึงได้ตัดสินใจลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท สร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2 ในไทย เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกไปยังเพื่อนบ้านแทน

    "การเข้าไปลงทุนในประเทศอื่นต้องใช้เวลา ดังนั้นใช้ไทยดีกว่า แต่เออีซี ก็จะมีผลดีคือ ในอนาคตจะสามารถใช้แรงงานจากเพื่อนบ้าน แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานหรือปัญหาค่าแรงสูงในไทยได้"

    ปีหน้าน่าจะทรงตัวอยู่ได้ อาจจะโตขึ้น 10% ปีนี้ตลาดปรับบานปีหน้าจะโตสอดคล้องไปพร้อมๆ การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ

    คาดยอดผลิตรถปีหน้า2.4-2.5ล้านคัน

    นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผยว่า อนาคตแนวโน้มการส่งออกรถยนต์ยังคงสดใส เพราะเออีซี จะทำให้ประเทศอาเซียนใหม่ ได้แก่ พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา จะต้องลดภาษีรถยนต์เป็น 0% ทำให้ยอดการส่งออกผ่านชายแดนเพิ่มขึ้น รวมทั้งในปี 2559 ไทยจะใช้อัตราภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ที่ให้การสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งตรงตามความต้องการของตลาดโลก ทำให้รถยนต์ของไทยส่งออกมากขึ้น ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์คาดว่าในปี 2025 ไทยจะผลิตรถรถยนต์ได้ไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านคัน

    ยอดผลิตร่วงไปอันดับ12-13ของโลก

    ส่วนในยอดขายในปีนี้ คาดว่าจะประมาณ 1.9 ล้านคัน เป็นยอดขายในประเทศ 9 แสนคัน และส่งออก 1.2-1.3 ล้านคัน โดยตลาดภายในประเทศได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองในช่วงต้นปี ส่งผลให้อันดับการผลิตรถยนต์ของไทย ลดลงจากปีก่อนอยู่ในอันดับ 9 ของโลก มาอยู่ที่อันดับ 12-13 ของโลก

    อย่างไรก็ตามหลังจากที่รัฐบาลได้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เริ่มเห็นยอดซื้อรถบรรทุกเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับงบก่อสร้างภาครัฐ จากนั้นรถยนต์ชนิดอื่นๆ จะเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งหากยอดผลิตในปีหน้าถึงระดับ 2.4 ล้านคัน ตามที่คาดไว้ ไทยกลับมาเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 11 ของโลก

    ชี้ไฮบริด-รถยนต์ไฟฟ้ามาแรง

    นางสาวสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี รองประธานกรรมการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการรถยนต์ในอนาคต จะไปใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1. รถยนต์ไฮบริดที่มีประสิทธิภาพสูง ที่ลดข้อเสียในเรื่องความแรงของเครื่องยนต์ พัฒนาไปสู่เครื่องยนต์ไฮบริดที่มีความแรงและประหยัดน้ำมัน 2. เทคโนโลยี คลีนดีเซล ที่ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยไอเสีย ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์จะลงมาพัฒนาในเรื่องนี้มากขึ้นโดยเฉพาะประเทศเยอรมันที่ได้ใช้รถยนต์คลีนดีเซลเกือบ 100% แล้ว และ 3. รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯได้ทุ่มงบวิจัยในเรื่องแบตเตอรี่จำนวนมาก เพื่อรองรับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต แต่ทั้งนี้รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องใช้เวลานานในการพัฒนา เพราะว่าต้องลงทุนเครือข่ายสถานีเติมไฟฟ้าที่มีมูลค่าสูง

    โดยหลังจากที่ไทยได้ใช้มาตรการทางภาษีในการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ซึ่งบางค่ายรถยนต์อาจจะปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีลดคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดภาษี แต่บางค่ายอาจใช้มาตรการลดราคาลงมาสู้โดยไม่ปรับเทคโนโลยี ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องพิจารณาในเรื่องประสิทธิภาพต่างๆ มากกว่าในเรื่องของราคา

    Tags : จักรยานยนต์ • เออีซี • อาเซียน • จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช • กระทรวงอุตสาหกรรม • ไฮบริด • นิสสัน • โตโยต้า • สรรพสามิต • ภาษี

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้