ตั้ง6.5พันล้านเพิ่มใช้ยาง ปูสนามฟุตซอล-พื้นอาคาร

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 23 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    เกษตรฯตั้งงบ 6,500 ล้านบาท แปรรูปยางสต็อกรัฐ 5 หมื่นตัน เพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ

    เน้นสร้างบล็อกยางปูพื้นนอกอาคาร -ในอาคาร และยางปูสนามฟุตซอล กระทรวงอุตสาหกรรม เปิด 2 โครงการปล่อยกู้ผู้ประกอบ 2.5 หมื่นล้าน รับซื้อน้ำยาง-ปรับปรุงเครื่องจักร มั่นใจแผนรับซื้อยางเอกชนดูดซับปริมาณยางเข้าสู่ระบบได้ 2 แสนตัน ดันราคากิโลกรัมละ 2-3 บาทได้

    การประชุมคณะกรรมการนโยบายธรรมชาติ (กนย.) เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือถึงแนวทางการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก เป็นผลให้ราคาในประเทศไม่มีเสถียรภาพ จากปัจจุบันที่ไทยมีการส่งออกมากถึง 86% ใช้ในประเทศเพียง 14%

    นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าที่ประชุมกนย.มีความเห็นตรงกันว่า ให้เปลี่ยนสัดส่วนโดยให้มีการใช้ยางในประเทศ 30 % ส่งออก 70% จึงจะมีความเหมาะสมและตั้งเป็นเป้าหมายของ กนย. หากจะให้ดีที่สุดสัดส่วนควรจะเป็นใช้ในประเทศ 50% และส่งออก 50 % หากทำได้ราคายางที่เกษตรกรได้รับจะปรับสูงขึ้นแน่นอน

    ระบายยางใช้ยางปูสนามฟุตซอล

    ทั้งนี้เพื่อให้การใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการนำยางในสต็อก 2.08 แสนตัน มาใช้ด้วย เช่น การผลิต บล็อกยางปูพื้นนอกอาคาร บล็อกยางปูพื้นภายในอาคาร และ บล็อกยางปูสนามฟุตซอล ซึ่งจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เป็นรูปธรรมได้ ในไตรมาส 1 ปี 2558 โดยเริ่มจากการทำสนามฟุตซอล ให้เป็นสาธารณประโยชน์ โดยจะให้กับโรงเรียนมัธยมในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ในส่วนของสนามฟุตซอล จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้เป็นหน่วยงานที่เลือกพื้นที่ เพื่อนำร่องในการทำสนามฟุตซอลให้กับโรงเรียน

    “กระทรวงเกษตรฯมีแนวคิดที่จะนำยางในสต็อกไปใช้ในเชิงสาธารณกุศล เช่น ทำสนามฟุตซอล บล็อกตัวหนอนปูพื้นสนามเด็กเล่น สนามออกกำลังกาย พื้นที่ในวัด เป็นการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ ทำให้เสถียรภาพราคาดีขึ้นในระยะยาว”นายอำนวย กล่าว

    อัด6.5พันล้านแปรรูปยาง5หมื่นตัน

    แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการสต็อกรัฐเพื่อแปรรูปยางใช้ภายในประเทศ จะตั้งคณะกรรมการจัดการแปรรูปยาง ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบและครบวงจร เบื้องต้นจะเร่งดำเนินการภายใต้งบประมาณ 6,500 ล้านบาท อายุโครงการ 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนต.ค.2557-ก.ย.2558 เพื่อแปรรูปยางพาราในสต็อกรัฐ จำนวน 50,000 ตัน โครงการนี้จะส่งผลให้การบริหารจัดการยางพาราในสต็อกขององค์การส่วนยาง (อสย.) มีศักยภาพ สามารถรักษาเสถียรภาพยางพาราในระยะยาว เป็นการนำร่องให้หน่วยงานภายในประเทศสนับสนุนและใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารามากขึ้น

    กระจายใช้ยาง

    เบื้องต้นได้วางแผนที่จะนำมาใช้แปรรูปเพื่อใช้ในประเทศ 5 ส่วน รวม 50,000 ตัน วงเงินค่าจ้างทำบล็อก และทำแผ่นยางปูพื้นคอก 6,409 ล้านบาท คือ 1. บล็อกยางปูพื้นภายนอกอาคาร นำร่องในหน่วยงานราชการ 1,000 แห่ง คาดใช้ยาง 4,300 ตัน ค่าจ้างทำบล็อก 559 ล้านบาท ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาเด็กขององค์การบริหารส่วนตำบล 5,339 แห่ง จำนวน 3,000 ตัน ค่าจ้างทำบล็อกยาง 390 ล้านบาท ทางเท้าในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด 77 จังหวัด จำนวน 3,000 ตัน ค่าจ้างทำบล็อก 3,003 ล้านบาท

    2.บล็อกยางปูพื้นภายในอาคาร ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 8,339 แห่ง 23,100 ตัน ค่าจ้างทำบล็อก 390 ล้านบาท 3.บล็อกยางปูพื้นในสนามกีฬาฟุตซอล ของเทศบาลทั้งประเทศกว่า 2,436 แห่ง จำนวน 12,600 ตัน ค่าจ้างทำบล็อก 1,638 ล้านบาท 4.บล็อกยางปูพื้นในสวนสุขภาพ ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล กว่า 9,000 แห่ง จำนวน 3,000 ตัน ค่าจ้างทำบล็อกยาง 390 ล้านบาท และ5.ยางปูพื้นคอกปศุสัตว์ 80 แห่ง จำนวน 1,000 ตัน ค่าจ้างทำแผ่นยางปูพื้นคอกปศุสัตว์ 39 ล้านบาท

    นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีค่าขนย้ายวัตถุดิบจากโกดังเก็บยางไปยังโรงงานแปรรูป 30 ล้านบาท ค่าขนย้ายผลิตภัณฑ์ยางไปยังถึงผู้ใช้ 25 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการโครงการ 64.64 ล้านบาท

    อุตฯดัน 2 โครงการเงินกู้2.5 หมื่นล้าน

    นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ 2 โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมยาง ที่กำลังมีราคาตกต่ำ วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มการรับซื้อน้ำยางพาราได้ประมาณ 5 แสนตัน เป็นโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น โดยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนรับซื้อยางส่วนเกิน ออกจากระบบในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ในช่วงเดือนพ.ย.2557 -เม.ย.2558 คาดว่าจะ สามารถดูดซับปริมาณยางที่จะเข้าสู่ระบบได้ประมาณ 2 แสนตัน ส่งผลให้ราคายางเพิ่มขึ้นทันทีกิโลกรัมละประมาณ 2-3 บาท ซึ่งจะทำให้ราคายางได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้กิโลกรัมละ 66 บาท

    6แบงก์แห่ปล่อยกู้ผู้ประกอบการ

    ทั้งนี้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1 หมื่นล้านบาท ขณะนี้มีสถาบันการเงิน 6 แห่ง ให้การสนับสนุนแล้วประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต โดยเงินกู้ดังกล่าวเป็นแบบระยะสั้น ส่วนระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ผู้กู้จะชำระดอกเบี้ยเท่ากับอัตรา 2% โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคาร 3% ตลอดอายุโครงการ

    “สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือสศอ.จะหารือร่วมกับผู้ประกอบการและธนาคารที่เกี่ยวข้องวันที่ 27ต.ค.นี้ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาร่วมกัน คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมาณ 70 รายตามรายชื่อที่สมาคมผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้นแจ้งไว้” นายจักรมณฑ์ กล่าว

    เอกชน 9 รายยื่นขอกู้เปลี่ยนเครื่องจักร

    นอกจากนี้ ยังมีโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อขยายกำลังการผลิตเปลี่ยนเครื่องจักรวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับธนาคารออมสิน ในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อขยายกำลังการผลิตในการแปรรูปยางขั้นปลายน้ำ รวมถึงการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ คาดว่าจะทำให้ปริมาณการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนตันต่อปี

    การปล่อยสินเชื่อดังกล่าว เป็นประเภทเงินกู้ระยะยาวไม่เกิน 10 ปี มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน และผู้กู้จะชำระดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารออมสินที่ 3% ตลอดอายุโครงการ เบื้องต้นมีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง ยื่นความจำนงต่อธนาคารออมสินแล้ว 9 ราย วงเงินรวม 7,658.65 ล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรมจะตั้งคณะทำงานตรวจสอบเครื่องจักรที่เข้าโครงการเงินกู้ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และติดตามการดำเนินงานตลอดอายุโครงการ รวมทั้งตรวจสอบรายชื่อผู้ขอสินเชื่อ เพื่อไม่ให้กระจุกกับผู้ขอสินเชื่อรายเดิม จะมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์ทั่วถึง


    Tags : กนย. • อำนวย ปะติเส • เกษตรและสหกรณ์ • ฟุตซอล • แปรรูป • จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช • ดอกเบี้ย

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้