เรือดำ 2019 ภัยคุกคามทางเทคโนโลยีจากต่างชาติ หรือโอกาสสำหรับคนที่พร้อมเปลี่ยน

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 14 กันยายน 2019.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ดัดแปลงจากคำกล่าวเปิดงาน Blognone Tomorrow 2019 - 9 กันยายน 2019

    หากเราย้อนเวลากลับไปเกือบ 200 ปี ในปี ค.ศ. 1853 ชาวญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตอย่างสงบในยุคโชกุน-ซามูไร ก็พบกับสิ่งที่น่าตระหนก เมื่อมี "เรือดำ" จำนวน 4 ลำแล่นเข้ามาในอ่าวโตเกียว

    "เรือดำ" หรือ black ships เป็นชื่อที่คนญี่ปุ่นใช้เรียกเรือกลไฟเหล่านี้ ทั้งจากปัจจัยว่าตัวเรือมีสีดำ และมีควันสีดำจากถ่านหินของเครื่องยนต์ไอน้ำในเรือ ลอยพุ่งขึ้นมาสู่ท้องฟ้า

    [​IMG]ภาพวาดเรือดำในปี 1853 จากมุมมองของสหรัฐอเมริกา ภาพจาก MIT

    คนที่เคยอ่านการ์ตูนหรือดูซีรีส์ญี่ปุ่นแนวย้อนยุคมาบ้าง คงพอทราบกันดีว่าเมืองหลวงของญี่ปุ่นในอดีตคือ "เกียวโต" และภายหลังย้ายมาเป็น "โตเกียว" (หรือเอโดะ) ซึ่งยุคสมัยที่ย้ายเมืองหลวงมายังโตเกียว เป็นช่วงเวลาที่โชกุนจากตระกูลโตคุงาวะ (Tokugawa Shogunate) ปกครองประเทศเป็นเวลาเกือบ 300 ปี (1600-1868)

    โตคุงาวะ อิเอยาสุ โชกุนคนแรกของตระกูลโตคุงาวะ เป็นผู้รวบรวมญี่ปุ่นที่แตกเป็นเสี่ยงๆ กลับมาเป็นปึกแผ่นอย่างมั่นคง แต่หลังจากนั้นไม่นาน โชกุนในตระกูลโตคุงาวะก็ตัดสินใจปิดประเทศ ไม่ทำการค้าขายหรือติดต่อใดๆ กับต่างชาติเลย หลังจากเกิดเหตุการณ์กบฎที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์

    สังคมญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคโดดเดี่ยวไม่สนใจโลกภายนอกมาเป็นเวลานานถึง 200 กว่าปี โชกุนแต่ละรุ่นในตระกูลโตคุงาวะสร้างสังคมศักดินาที่มีชนชั้นไดเมียวและซามูไร ปกครองประเทศมาอย่างช้านาน ชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนี้ผ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร วันพรุ่งนี้ก็คงเป็นเช่นนั้น

    จนกระทั่ง "เรือดำ" ปรากฏตัวขึ้นที่อ่าวโตเกียว

    เรือดำเหล่านี้คือกองเรือรบของสหรัฐอเมริกา ประเทศใหม่ที่กำลังแผ่อิทธิพลทางการเมืองในโลกยุคนั้น ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาต้องการค้าขายกับญี่ปุ่น จึงมอบหมายให้พลเรือแมธธิว เพอร์รี (Matthew C. Perry) เดินเรือครึ่งโลก นำเรือรบเข้ามาเจรจาให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ และเขาได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธหากรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ยินยอม

    ประวัติศาสตร์หลังจากนั้นคือ ญี่ปุ่นยอมเปิดประเทศทำการค้ากับต่างชาติอีกครั้ง ความเปลี่ยนแปลงหลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว และเป็นเหตุให้ระบอบโชกุนล่มสลายลงอย่างเป็นทางการในปี 1868 หลังจากเรือดำปรากฏตัวขึ้นเพียง 15 ปี

    [​IMG]ภาพวาดเรือดำปี 1854 ที่มาของภาพจาก MIT

    เรือดำถือเป็นสิ่งแปลกปลอมทางประวัติศาสตร์ในมุมมองของคนญี่ปุ่นยุคนั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ปรากฏตัวขึ้นอย่างฉับพลัน และมาพร้อมกับความเป็นปฏิปักษ์ ส่งสัญญาณที่เป็นอันตรายต่อสังคมศักดินาของระบบโชกุน

    สิ่งนี้สะท้อนออกมาในภาพเขียนที่คนญี่ปุ่นยุคนั้นวาดขึ้น ภาพที่มีชื่อเสียงเป็นภาพพิมพ์ไม้ที่วาดช่วงปี 1854 ถ่ายทอดมุมมองของคนญี่ปุ่นต่อเรือดำออกมาเป็น "ปีศาจ" ที่น่าเกลียดน่ากลัว ตัวเรือสีดำมีควันพวยพุ่ง หัวเรือเป็นสัตว์ร้ายที่มีเขาแหลมยาว ส่วนท้ายเรือก็มีสายตาเหมือนปีศาจคอยจับตาคนญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา

    ระบอบโชกุนที่ยิ่งใหญ่เลือกที่จะต่อกรกับเรือดำ แต่ก็ประสบความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีด้านการรบไม่สามารถทัดเทียมกันได้ ดาบซามูไรหรือจะสู้ปืนใหญ่ยิงจากเรือ ระบอบโชกุนจึงถูกบีบให้เซ็นสัญญาเปิดประเทศ หลังจากนั้นก็แพ้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากความขัดแย้งภายในประเทศเอง จนต้องล่มสลายลงไปในระยะเวลาหลังจากนั้นไม่นาน

    [​IMG]ศูนย์ฝึกทหารเรือนางาซากิ ภาพจาก Wikipedia

    แต่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นทุกคนที่ต่อต้านเรือดำ พลันที่เรือดำปรากฏตัวขึ้นมาในอ่าวโตเกียว บางคนรู้ทันทีว่านี่คือโอกาส

    คัตสึ รินทาโร่ หรือที่ทุกวันนี้เรารู้จักเขาในชื่อ "คัตสึ ไคชู" คือหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น เขาเกิดในตระกูลซามูไรชั้นต่ำที่เอโดะ แต่กลับหลงใหลในอารยธรรมต่างชาติมาโดยตลอด เขาศึกษาภาษาดัตช์เพื่อเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีของต่างชาติ และเมื่อโอกาสมาถึงจากเรือดำ เขาก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดัน "ศูนย์ฝึกทหารเรือ" แห่งแรกของญี่ปุ่นที่เมืองนางาซากิ โดยอาศัยเทคโนโลยีด้านการเดินเรือ-ต่อเรือจากดัทช์เป็นหลัก

    ศูนย์ฝึกทหารเรือแห่งนี้มีนโยบายที่เปิดกว้าง เปิดรับนักเรียนจากทุกชนชั้น ไม่จำกัดเฉพาะลูกหลานตระกูลซามูไรชั้นสูงเท่านั้น ในเวลาไม่ช้านาน ญี่ปุ่นก็สามารถต่อเรือกลไฟลำแรกของตัวเองได้สำเร็จ และคัตสึ ไคชู ก็เป็นกัปตันเรือเดินทางไปยังซานฟรานซิสโกเพื่อเจรจาการทูตกับสหรัฐอเมริกา

    ผลผลิตของศูนย์ฝึกทหารเรือนางาซากิ กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลในระยะเวลาต่อมา และยิ่งใหญ่เกรียงไกรถึงขั้นรบชนะรัสเซียในยุคมหาอำนาจ หรือเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 อย่างที่เราทราบกันดี

    เรื่องราวของ "เรือดำ" เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกิดขึ้นเสมอในประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมาก แต่ก็ขึ้นกับทัศนคติของคนว่าจะรับมือกับมันอย่างไร ในขณะที่บางคนหวาดกลัว บางคนก็เข้าหา เรียนรู้ และใช้งานมัน

    Embrace!

    สถานการณ์ของประเทศไทยในปี 2019 ก็ไม่ต่างกันนัก ถึงแม้ยุคสมัยเปลี่ยน เทคโนโลยีแตกต่างจากในอดีตมาก แต่ภาพรวมของเหตุการณ์กลับคล้ายกัน นั่นคือเรากำลังตื่นขึ้นมาจากสังคมอนุรักษ์นิยมแบบ "ไทยๆ" มาเจอกับ "เรือดำ" จากต่างชาติเต็มไปหมด

    ปฏิกิริยาจากหลายคนคือการต่อต้านหรือคร่ำครวญว่ากำลังถูกต่างชาติเข้ามาคุกคาม แต่ผู้กล้าหาญแห่งยุคสมัยมีอยู่เสมอ เราก็เชื่อว่ามีคนไทยจำนวนมากมองว่านี่คือโอกาส และกำลังถอดรื้อเรือดำเหล่านี้เพื่อเรียนรู้ โดยหวังว่าจะสร้างกองเรือดำของตัวเองขึ้นมา

    Topics: Blognone Tomorrow
     

แบ่งปันหน้านี้