สัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ'เสี่ยง'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 28 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สมาคมแบงก์ชี้พ.ร.บ.ค้ำประกันกระทบวงกว้าง "สมหมาย" เผยหากก.ม.ไม่เหมาะสม พร้อมแก้ทันที รอประเมินผลกระทบ

    สมาคมแบงก์รอประเมินผลกระทบกฎหมายค้ำประกันใหม่ เตือนส่งผลกระทบวงกว้าง ภาครัฐมีความเสี่ยงสูง กรณี"เอกชน"ผิดสัญญา ขณะเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนยากขึ้น ผลักดันรายย่อยหันกู้นอกระบบ ด้านบสย.เตรียมหารือแบงก์พาณิชย์ ห่วงผลกระทบ

    สมาคมธนาคารไทย ร่วมหารือกับตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ เพื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ว่าด้วยการลดภาระของผู้ค้ำประกัน โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ. 2558 หลังจากผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)มาแล้ว

    ทั้งนี้ตามกฎหมายใหม่ ได้ลดภาระของผู้ค้ำประกัน โดยไม่ต้องรับผิดกรณีมีการผิดชำระหนี้ จากเดิมต้องรับภาระหนี้แทน

    นายธวัชชัย ยงกิตติคุณ เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่าที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าธนาคารพาณิชย์พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายใหม่นี้ และเข้าใจถึงเจตนารมณ์กฎหมายว่า ต้องการจะสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ค้ำประกัน

    "ภายหลังการหารือได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้นสมาคมธนาคารไทย จะยังไม่ส่งผลกระทบที่ประเมินในวันนี้ ไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ได้แนะนำให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง ไปศึกษาข้อกฎหมายให้ดี และพยายามหาวิธีปฏิบัติ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น" นายธวัชชัย กล่าว

    นอกจากนี้ นายธวัชชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับวิธีปฏิบัติ หรือการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละสถาบันการเงินกันเองว่า จะเลือกใช้วิธีใดในการป้องกัน หรือแก้ปัญหา

    เตรียมปรับแก้สัญญาปล่อยกู้

    "จากการหารือในเบื้องต้น อาจจะใช้วิธีการปรับแก้สัญญาการปล่อยสินเชื่อ โดยอาจจะให้ลูกหนี้เพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรืออาจจะพิจารณาลดจำนวนสินเชื่อลง หรืออาจจะใช้วิธีการปรับแก้ในส่วนของรายละเอียดสัญญาก็เป็นได้" นายธวัชชัย กล่าว

    เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวต่อว่า สมาคมธนาคารไทย คาดกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลกระทบในวงกว้าง ตั้งแต่ภาครัฐจนถึงผู้ขอสินเชื่อรายย่อย

    เสี่ยงภาครัฐหาก"เอกชน"ผิดสัญญา

    สำหรับภาครัฐเอง จะมีความเสี่ยงในกรณีที่มีการจัดจ้างให้บริษัทเอกชน หรือให้เอกชนดำเนินงานก่อสร้าง และกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ค้ำประกัน ในกรณีที่เอกชนผิดสัญญา ซึ่งตามกฎหมายลดภาระผู้ค้ำประกันใหม่นี้ อาจจะทำให้ภาครัฐมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหาย จากการผิดสัญญา หากธนาคารพาณิชย์หลุดจากการเป็นผู้ค้ำประกันไปแล้ว

    ในขณะที่ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี อาจจะได้รับผลกระทบมากขึ้น เพราะอาจจะไม่สามารถขอสินเชื่อได้ตามความต้องการ และในส่วนของรายย่อยอีกจำนวนหนึ่ง อาจจะต้องหันไปพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจะเป็นปัญหาตามมาในระยะยาวได้

    เสี่ยงเอสเอ็มอีกู้เงินได้น้อยลง

    "สำหรับธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม ซึ่งประสบปัญหาการขอกู้เงินได้น้อยลง อาจจะใช้วิธีการกู้ร่วมกับผู้ที่ต้องการกู้รายอื่นๆ หรือเพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่อย่างไรก็ตามภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ควรรีบชี้แจงรายละเอียดของข้อกฎหมายนี้ให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจโดยเร็ว" นายธวัชชัย กล่าว

    ในส่วนของกรณีที่ว่าจะมีการปรับแก้กฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางภาครัฐเอง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง ซึ่งในขณะนี้ภาครัฐ ได้ตระหนักแล้วว่า กฎหมายลดภาระผู้ค้ำประกันฉบับใหม่นี้ อาจจะส่งผลกระทบในหลายๆ ส่วน และในต่างประเทศ เริ่มมองว่าไม่เป็นไปตามหลักสากลเท่าใดนัก

    "ในส่วนของการปล่อยกู้ร่วม หรือซินดิเคทโลนก็อาจมีปัญหา โดยเฉพาะกับการปล่อยกู้ร่วมที่มีธนาคารต่างประเทศด้วย เนื่องจากอาจถูกมองได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่เป็นสากล" นายธวัชชัย กล่าว

    มั่นใจไม่ได้รับผลกระทบพ.ร.บ.ค้ำประกัน

    นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.ได้มีการประชุมเพื่อประเมินผลกระทบจากพ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องการค้ำประกัน และการจดจำนอง ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2558 โดยกังวลว่าจากกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขยาดย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น

    "เราให้ฝ่ายกฎหมายมานั่งดูว่า มีส่วนใดบ้างที่จะมีผลกระทบ ซึ่งผลกระทบโดยตรงต่อบสย.กระทบน้อยมาก แต่เป็นห่วงเอสเอ็มอี เพราะเชื่อว่าทางแบงก์พาณิชย์จะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แม้ว่าทางแบงก์พาณิชย์อาจจะมีการเสนอให้ปรับแก้กฎหมายฉบับนี้ แต่มองว่าการปรับแก้กฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย"

    บสย.เล็งถกแบงก์พาณิชย์

    นายวัลลภ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้บสย.จะเข้าไปหารือกับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง เพื่อให้มาใช้บริการ บสย. ในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น แทนการใช้ตัวบุคคลในการค้ำประกัน โดย บสย. พร้อมจะทบทวนเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อลดขั้นตอน และอำนวยความสะดวก หากไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย เพื่อให้ธนาคารต่างๆ หันมาใช้บริการบสย.มากขึ้น

    "พ.ร.บ. นี้อาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์หันมาใช้บริการ บสย. มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะ บสย. เป็นองค์กรของรัฐบาล และมีหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินให้กับธนาคารชัดเจน หากเกิดเป็นหนี้เสีย และจ่ายเงินเร็วภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้เราจะเข้าไปหารือกับธนาคารพาณิชย์ใกล้ชิด เพราะอยากให้เอสเอ็มอีมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน"

    "สมหมาย"ยันก.ม.ไม่เหมาะสมพร้อมแก้

    ด้านนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการลดภาระของผู้ค้ำประกัน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ. 2558 หากข้อกฎหมายมีสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม กระทรวงการคลังพร้อมที่จะเร่งแก้ไขให้ถูกต้อง

    ส่วนแนวทางการแก้ไขนั้น คงต้องรอให้มีความชัดเจนมากกว่านี้ ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นที่จะต้องเรียกประชุมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ธนาคารพาณิชย์

    ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายนี้สร้างความกังวลต่อธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ส่วนใหญ่ดี มีประโยชน์ แต่ดูแล้วคงต้องแก้ไข เพราะยังมีบางประเด็นที่เป็นปัญหาในการบังคับใช้ ซึ่งยังมีเวลา

    แม้กฎหมายจะประกาศในราชกิจานุเบกษาแล้ว เมื่อ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่ในบทเฉพาะกาลจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ 90 วัน หรือประมาณเดือนก.พ.ปีหน้า จึงยังมีเวลาพอที่จะแก้ไขได้ทัน ก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ระหว่างนี้ก็หารือคุยกันเพื่อหาทางแก้ไขกันไป

    ทั้งนี้ภาพรวมกฎหมายฉบับนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้แย่ โดยเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้ำประกันและการจดจำนอง สร้างความเป็นธรรมมากขึ้น แต่อาจจะเป็นปัญหากับสถาบันการเงิน เช่น เวลาประนอมหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันไม่มาลงนาม ก็จะมีปัญหาทำให้ประนอมหนี้กันไม่ได้ เพราะผู้ค้ำประกันไม่มาลงนาม ซึ่งแบงก์ก็คงไม่ต้องการให้ผู้ค้ำประกันหลุดไปง่ายๆ เพราะตามหนี้ลำบาก

    ส่วนแนวทางในการแก้ไข ต้องรอฟังข้อสรุปของผลกระทบจากทางธนาคารพาณิชย์ก่อนว่าจะเสนอมาอย่างไรบ้าง


    Tags : ค้ำประกัน • กฎหมาย • ผลกระทบ • สมาคมธนาคารไทย • แบงก์ • จัดซื้อจัดจ้าง • เอสเอ็มอี • บสย. • สมหมาย ภาษี

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้