กนง.หนุน'ปฏิรูปเศรษฐกิจ' หวังปูฐานเติบโตระยะยาว

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 21 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "กนง." ย้ำการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ได้ผล อาจกระทบการเติบโตระยะสั้น เพื่อวางรากฐานที่มั่นคงระยะยาว

    แนะจับตาปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์หวั่นฉุดเศรษฐกิจโลก พร้อมประเมินนโยบายบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนยังเหมาะสม มองเงินบาทแข็งค่าตามปัจจัยการเมือง แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

    ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งได้ประชุมกันไปเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยรายงานดังกล่าว ระบุว่า กนง. บางท่านเป็นห่วงการขยายตัวของเศรษฐกิจระยะต่อไปซึ่งยังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งหากต้องการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน อาจจำเป็นต้องมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นบ้าง แต่จะเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงในประเทศในระยะต่อไป

    นอกจากนี้ยังต้องติดตามผลกระทบของปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่ง กนง. บางท่านเห็นว่าอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยอุปสงค์ในประเทศน่าจะได้รับแรงกระตุ้นจากแนวนโยบายการสร้างรายได้ของภาครัฐ

    ขณะที่การส่งออกจะได้รับประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น กนง.บางท่านเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องติดตามภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากอัตราการก่อหนี้ใหม่ยังสูงกว่าการขยายตัวของรายได้

    สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมนั้น กนง. ประเมินว่า ภายใต้บริบทที่นโยบายการคลังมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น และภาครัฐสามารถกลับมาดำเนินมาตรการเศรษฐกิจเร่งด่วนในระยะสั้น ประกอบกับการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศในมิติต่างๆ ที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ ท่ามกลางความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น บทบาทของนโยบายการเงิน คือ การรักษาความผ่อนคลายในระดับที่เพียงพอที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในระยะต่อไป

    เปิด4เหตุผลคงดอกเบี้ย

    รายงานระบุว่า ทั้งหมดนี้จึงทำให้ กนง. ทั้ง 7 คนตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% โดยมีเหตุผล 4 ข้อ คือ 1.เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน โดยแรงส่งทางเศรษฐกิจในระยะ 12 เดือนข้างหน้า แม้อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตแต่ก็ยังมีความเสี่ยง จึงยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป 2.นโยบายการเงินอยู่ในเกณฑ์ผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยไม่กระทบเสถียรภาพการเงินในภาพรวม ซึ่งเอื้อต่อความพยายามในการปฏิรูปประเทศของภาครัฐ เพื่อยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย

    ส่วนข้อ 3 คือ การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอาจสร้างต้นทุนด้านเสถียรภาพระยะยาว และ 4.การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินภายใต้ภาวะเศรษฐกิจการเงินปัจจุบันที่มีเสถียรภาพในเกณฑ์ที่น่าพอใจอาจส่งสัญญาณที่สับสนให้กับตลาด

    สำหรับในเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น กนง. มีความเห็นว่า กรอบนโยบายบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันยังเหมาะสมในการรองรับความผันผวนระยะสั้นของค่าเงินบาท โดยหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาลงทุนทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหลักทรัพย์ของไทย

    ต่างชาติเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว

    ส่วนค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์การเมืองในประเทศคลี่คลาย โดยเดือนก.ค. เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้น และการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่มีความชัดเจนขึ้น

    รวมทั้งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งส่งผลให้เริ่มมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เงินบาทปรับอ่อนค่าลงบ้างในช่วงปลายเดือนก.ค. หลังตัวเลขจีดีพีของสหรัฐในไตรมาส 2 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด และการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เอฟโอเอ็มซี) ที่มีมุมมองต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อดีขึ้น

    ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยรวมปรับลดลงนับแต่เดือนก.ค.เป็นต้นมา ตามความต้องการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้น จากความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับ มีแรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศ เพื่อชดเชยพันธบัตรออมทรัพย์ที่ครบกำหนด

    “ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ (การประชุมวันที่ 6 ส.ค.) เนื่องจากประเมินว่านโยบายการเงินปัจจุบันมีความผ่อนคลายเพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงและแนวนโยบายภาครัฐชัดเจนขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ความเชื่อมั่นภาคเอกชนปรับดีขึ้น และอุปสงค์ในประเทศเริ่มฟื้นตัว ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ”รายงานการประชุม กนง.ระบุไว้

    นอกจากนี้ในรายงานยังได้ระบุถึงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ด้วยว่า มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากสถานการณ์การเมืองและนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนขึ้นส่งผลให้การใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัว ขณะที่การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามอุปสงค์ของประเทศอุตสาหกรรมหลัก อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐยังทำได้จำกัดเนื่องจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายไม่สัมฤทธิผลเต็มที่ ในขณะที่การท่องเที่ยวยังหดตัวต่อเนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง

    ระยะต่อไป คาดว่าแรงส่งต่อเศรษฐกิจไทยจะมาจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและสถาบันการเงินยังมีบทบาทและความสามารถในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

    ส่งออกขยายตัวต่ำกว่าคาด

    ด้านการส่งออกสินค้าแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินเอาไว้ ขณะที่การท่องเที่ยวคาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้น ทั้งนี้การใช้จ่ายภาครัฐในระยะสั้นอาจได้รับผลกระทบจากการตรวจสอบโครงการลงทุนภาครัฐ ซึ่งอาจทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ต่ำกว่าคาดได้ อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายเหลื่อมปี ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อต่ำกว่าการประเมินครั้งก่อน จากการปรับขึ้นราคาอาหารสำเร็จรูปที่ชะลอลงกว่าคาด

    "กนง.ยังประเมินด้วยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2557 อาจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าคาดเล็กน้อยตามการใช้จ่ายภาครัฐที่ล่าช้ากว่าที่คาด ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าและบริการจะกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นในปีหน้า แนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนเล็กน้อย แต่ยังมีเสถียรภาพ"

    Tags : ธปท. • กนง. • เงินบาทแข็งค่า • ส่งออก • ปฏิรูปเศรษฐกิจ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้