คสช.ลงทุนไฟฟ้า1.7แสนล.ไฟเขียวเกณฑ์'บีโอไอ'ใหม่

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 20 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    คสช.เห็นชอบโครงการลงทุนระบบ"ผลิต-ส่ง"ไฟฟ้ากว่า 1.7 แสนล้าน บอร์ดบีโอไอไฟเขียวยุทธศาสตร์ใหม่ 7 ปี

    เน้นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงขึ้น เลิกสนับสนุนกิจการ 10 ประเภท รวม"ขนมขบเคี้ยว-ขนมปัง-ชาเขียว" พร้อมใช้รูปแบบ"คลัสเตอร์"แทนแบ่งเขต ขณะอนุมัติอีก 15 โครงการกว่า 4 หมื่นล้าน คาดในเดือนก.ย.นี้อนุมัติคำขอค้างท่อได้หมด

    คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินหน้าตามแผนสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการอนุมัติการลงทุนครั้งใหญ่ที่"ค้างท่อ"มาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน เนื่องมาจากปัญหาการเมือง ทั้งเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ โครงการลงทุนโรงไฟฟ้าและสายส่ง อีกทั้งมาตรการภาษีอีโคคาร์เฟส 2

    นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ครั้งที่ 3 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานว่าวานนี้ (19 ส.ค.) ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ครอบคลุมในระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2558 - 2564) ตามที่บีโอไอเสนอยุทธศาสตร์ใหม่จะปรับเปลี่ยนจากส่งเสริมครอบคลุมเกือบทุกกิจการ (Broad-based) ที่ให้สิทธิพิเศษในการลงทุนกว่า 240 ประเภท มาเป็นการส่งเสริมที่มีเป้าหมายชัดเจนและมีการจัดลำดับความสำคัญ (Focus& Prioritized) มากขึ้น และมีการทบทวนบัญชีประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเน้นอุตสาหกรรมที่จะช่วยนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สามารถก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

    ทั้งนี้ บีโอไอจะมีการยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ภาษีและตัดลดสิทธิประโยชน์ที่ให้การสนับสนุนกิจการต่างๆลงรวมประมาณ 100 กิจการ ซึ่งเป็นกิจการที่มีการผลิตเป็นจำนวนมาก มีการแข่งขันมากและไม่ส่งเสริมการแข่งขันและพัฒนาในอุตสาหกรรมของไทยในอนาคตจะมีการยกเลิกการให้สิทธิพิเศษ เช่น กิจการการผลิตขนมขบเคี้ยว ขนมปัง และ ชาเขียว เป็นต้น

    นายอุดมกล่าวว่าสำหรับรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ (Activity-based Incentives) คือ การให้สิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันตามประเภทของกิจการและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ(Merit-based Incentives) ที่จะให้เพิ่มเติม

    ใช้รูปแบบ"คลัสเตอร์" ยกเลิกแบ่งเขต

    สำหรับโครงการที่มีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมมากขึ้น ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาทักษะขั้นสูง การพัฒนาผู้รับช่วงการผลิต และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยยังคงกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะให้การส่งเสริมการลงทุนออกเป็น7 กลุ่มเช่นเดิม แต่จะเน้นประเภทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีมูลค่าเพิ่มสูง มีการวิจัยและพัฒนาหรือการออกแบบ รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    นอกจากนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะยกเลิกระบบการส่งเสริมที่อิงกับเขตพื้นที่ (เขต 1-3 เดิม) ปรับเปลี่ยนจากการส่งเสริมตามเขตพื้นที่ (Zones) เป็นการส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ในภูมิภาค (New Regional Clusters) เพื่อสร้างการรวมกลุ่มใหม่ของการลงทุนที่สอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของแต่ละพื้นที่มากขึ้น อีกทั้งยังจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของ Value Chain

    คณะกรรมการฯ จะกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมตามประเภทของการลงทุนโดยให้ความสำคัญในการลงทุนแบบคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรม ทั้งในรูปแบบของคลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมและการส่งเสริมคลัสเตอร์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

    ส่งเสริมธุรกิจไทยลงทุนนอก

    ที่ประชุมยังเห็นชอบให้บีโอไอปรับเปลี่ยนบทบาทการส่งเสริมการลงทุนโดยการให้ความสำคัญทั้งการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ (Inbound Investment)และการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ (Outbound Investment) ซึ่งสอดคล้องกับข้อจำกัดด้านทรัพยากรในประเทศและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะโอกาสจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเป็นการเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก

    ทั้งนี้ มีประเทศเป้าหมายการลงทุน ลำดับ 1 อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว ลำดับ 2 จีน และอินเดีย และลำดับ 3 ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกา

    “การเน้นให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศเป็นการคำนึงถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งในบางประเทศในอาเซียนก็ยังได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี หรือ จีเอสพีทำให้ได้ประโยชน์จากการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และผู้ประกอบการไทยก็มีศักยภาพมากขึ้นในการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน” นายอุดม กล่าว

    ประหยัดพลังงาน-ดูแลสิ่งแวดล้อมได้เพิ่ม

    นายอุดมกล่าวว่ายังเห็นชอบในหลักการของมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยกระตุ้นให้กิจการที่ดำเนินการอยู่แล้วมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในด้านต่างๆ ได้แก่ 1. ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน 2. ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อใช้พลังงานทดแทน 3. ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม 4.ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ 5. ลงทุนเพิ่มด้านการวิจัย พัฒนา และการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ

    สำหรับ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยเป็นมาตรการที่ครอบคลุมทุกประเภทกิจการที่อยู่ในข่ายให้การส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะครอบคลุมการลงทุนในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และจังหวัดสตูล รวมทั้งพื้นที่ในอำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาด้วย

    อนุมัติ15โครงการ4หมื่นล้าน

    นายอุดม กล่าวอีกว่าที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 40,538 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านไฟฟ้าและพลังงาน

    "การประชุมครั้งนี้นับเป็นการประชุมบอร์ดครั้งที่ 3 ภายหลัง คสช.ได้ตั้งบอร์ดบีโอไอ ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. 2557 โดยที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ และบอร์ดบีโอไอแล้วรวม 106 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 278,301.5 ล้านบาท ซึ่งหากรวมผลการประชุมครั้งนี้ก็จะมีโครงการได้รับการอนุมัติรวม 121 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 318,839.5 ล้านบาท"

    นายอุดม คาดว่าจะพิจารณาคำขอส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

    อนุมัติลงทุนไฟฟ้า1.71แสนล้าน

    ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า คสช.มีมติเห็นชอบการลงทุนของหน่วยงานด้านการผลิตและจ่ายไฟฟ้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าของประเทศรวม 5 โครงการวงเงินรวม 171,850 ล้านบาท ประกอบไปด้วยโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 3 โครงการวงเงินรวม 160,011 ล้านบาท

    โครงการของกฟผ. ประกอบการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเดิม เครื่องที่ 4-7 วงเงิน 36,811 ล้านบาท การลงทุนขยายระบบส่งไฟฟ้า รวมทั้งก่อสร้างสถานีส่งไฟฟ้าแรงสูงเพิ่มเติมในระยะที่ 12 วงเงินลงทุนรวม 60,000 ล้านบาท และการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ วงเงินรวม 63,200

    นอกจากนั้นที่ประชุมฯได้เห็นชอบแผนการลงทุนประจำปี 2557 ของการไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

    นอกจากนี้ที่ประชุมฯยังมีมติเห็นชอบให้ฝ่ายความมั่นคงประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยในการศึกษาการจัดตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ รวมทั้งได้เห็นชอบให้อนุมัติจัดสรรวงเงิน 375 ล้านบาทจากงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยไปดำเนินการโครงการนำร่องแปลงขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง โดยติดตั้งเตาเผาขยะในพื้นที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา บนเนื้อที่ 372 ไร่

    Tags : คสช. • บีโอไอ • อุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย • ไฟฟ้า • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ • ยุทธศาสตร์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้