สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เตรียมชงรัฐหนุนตั้ง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ดึงแรงงาน 37 ล้านคน เข้าระบบ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางสมาคมเคยผลักดันให้ภาครัฐมีการจัดให้มีการออมที่ทั่วถึงในกลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 50 ก็มีเขียนไว้แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าไรนัก ที่ผ่านมาก็เคยพูดคุยเรื่องนี้กับทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่นเดียวกัน และจะมีการเสนอแผนให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับอีกครั้ง แต่ต้องรอให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อนแต่คาดว่าน่าจะเสนอเข้าไปได้ภายในปีนี้ หากมองแรงงานทั้งระบบในปัจจุบันมีประมาณ 37 ล้านคน เป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม 10 ล้านคน อีก 27 ล้านคนไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และใน 10 ล้านคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมเองนั้น มีเพียง 2.7 ล้านคน ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อีก 7.3 ล้านคนไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แนวคิดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับก็จะดึงให้แรงงานทั้ง 37 ล้านคน เข้ามาอยู่ในระบบการออมเพื่อเกษียณ โดยในช่วงแรกอาจจะเริ่มจากกลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม 7.3 ล้านคน ที่ยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนก็ได้ “โดยสิ่งที่สมาคมฯ จะเสนอเข้าไป คือ การเปิดให้ลูกจ้างสามารถออมได้มากกว่านายจ้าง และให้ลูกจ้างชั่วคราวสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ด้วย ปัจจุบันจำนวนสมาชิกที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมี 2.7 ล้านคน แต่คิดเป็นเม็ดเงินไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านบาท ถ้าดึงเข้าสู่ระบบได้เพิ่ม 10 เท่าตัว เงินจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านล้านบาท สามารถนำเงินออมนี้ไปใช้ลงทุนประเทศได้อีกมากทีเดียว และจังหวะนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี ที่จะนำเรื่องนี้เสนอให้ภาครัฐพิจารณาอีกครั้ง ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรคงขึ้นกับการตัดสินใจภาครัฐอีกครั้ง” นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพการเคหะแห่งชาติ ซึ่งจดทะเบียนแล้วให้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสมดุลตามอายุ (Target Date Retirement Provident Fund) ซึ่งเป็นแผนที่ 11 ที่ทางการเคหะแห่งชาติได้เพิ่มเติมเข้าไป ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของการเคหะมีมูลค่าประมาณ 2,031 ล้านบาท มีสมาชิก 1,603 คน ซึ่งเบื้องต้นมีสมาชิกที่จะเข้ามาเลือกแผนใหม่นี้ประมาณ 10% ซึ่งกองทุนแบบสมดุลตามอายุนี้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่บริษัทนำมาเสนอให้กับอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของไทยเป็นแห่งแรกของอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นทางเลือกที่สะดวกสำหรับสมาชิก โดยเลือกแผนเมื่อเริ่มลงทุนเพียงครั้งเดียว ให้ตรงกับช่วงเวลาและอายุที่จะเกษียณเท่านั้น หลังจากนั้นผู้จัดการกองทุนจะเป็นคนผสมสินทรัพย์ในสัดส่วนต่างๆ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนที่สม่ำเสมอให้กับนักลงทุนในระยะยาวเอง “กองทุนสมดุลตามอายุนี้เบื้องต้นคงนำมาใช้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนยังไม่ทำในรูปแบบของกองทุนรวม ซึ่งบริษัทคงนำเสนอแผนสมดุลตามอายุให้กับลูกค้าบริษัททุกแห่งไว้พิจารณา โดยบริษัทที่สนใจและยังมีขนาดเล็กก็มาร่วมในกองทุนสมดุลตามอายุแบบกองทุนร่วม (Pooled Fund) ไปก่อน แต่ถ้ามีขนาดใหญ่เพียงพอระดับ 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป ก็สามารถจัดตั้งกองทุนสมดุลตามอายุแบบกองทุนเดี่ยว (Single Fund) ได้เช่นกัน” นายเจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันมีสัดส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ประมาณ 14-15 เท่า ซึ่งถ้ามองไปในอีก 12 เดือนข้างหน้า ตลาดยังสามารถไปได้แต่อาจจะไม่ได้ขึ้นรวดเร็วนัก โดยโอกาสในขาขึ้น (Upside) มีประมาณ 10-15% จากเศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่จะออกมาดีกว่าในปีนี้แน่นอน ปีนี้เศรษฐกิจอาจจะโต 1-2% แต่ในปีหน้าจะโต 3-5% การเมืองและสังคมที่ดีขึ้น มีงบประมาณรายจ่ายปี 2558 มีโครงการลงทุนเมกะโปรเจค และในกลางปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้งอีกภาพของเศรษฐกิจที่ดีขึ้น กำไรบริษัทจดทะเบียนที่ดี และการเมืองและสังคมที่นิ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปได้ “ปัจจัยลบในประเทศเองไม่น่าจะส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรงได้ ยกเว้นปัจจัยลบจากต่างประเทศ เช่น การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ความตึงเครียดในยูเครน เป็นต้น อาจจะกระทบตลาดหุ้นไทยได้มากกว่า” Tags : พิสิฐ ลี้อาธรรม • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ • แรงงาน