'สาลินี'มั่นใจเอสเอ็มอีแบงก์กำไร

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 20 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "สาลินี" มั่นใจ แผนฟื้นฟู 4 ข้อดัน "เอสเอ็มอีแบงก์" พลิกมีกำไรในปีหน้า เชื่อดีลดิลิเจนท์เสร็จก่อน 3 เดือน

    นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ภายหลังหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในวานนี้ (19 ส.ค.) ทำให้มั่นใจว่า แผนการจัดทำข้อมูลการสำรวจสินทรัพย์และหนี้สิน (ดีลดิลิเจนท์) ของเอสเอ็มอีแบงก์จะเสร็จก่อนที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด กำหนดไว้แน่นอน

    “หลังจากได้คุยกับทาง สคร. ซึ่งเขาได้นัดให้ทาง บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินของทาง สคร. มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำแผนดีลดิลิเจนท์ก็ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่า การจัดทำแผนดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหา เพราะตามแผนฟื้นฟูทั้ง 4 ข้อที่เราเสนอไป เรื่องที่เราต้องทำก็สอดคล้องกับการจัดทำดีลดิลิเจนท์อยู่แล้ว”นางสาลินีกล่าว

    เธอกล่าวด้วยว่า การจัดทำดีลดิลิเจนท์ตามที่ บอสตัส คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ให้คำแนะนำมีด้วยกัน 3 เรื่อง คือ การประเมินสถานะของธนาคารในปัจจุบัน การประมาณการในอนาคต 1 ปีข้างหน้า และการประเมินกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานหลักของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการให้สินเชื่อ การติดตามดูแลลูกหนี้ ตลอดจนการแก้ไขสถานะลูกหนี้ในกรณีที่มีปัญหาว่าจะดำเนินการอย่างไร

    นางสาลินี ยืนยันว่า กระบวนการเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ทางธนาคารต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูทั้ง 4 ข้อที่เสนอให้กับ สคร. ได้พิจารณาอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าแผนการจัดทำดีลดิลิเจนท์จะแล้วเสร็จก่อน 3 เดือนตามที่ซูเปอร์บอร์ดได้กำหนดไว้แน่นอน

    นอกจากนี้ เธอยังยืนยันว่า แผนฟื้นฟูทั้ง 4 ข้อที่เสนอต่อ สคร. นั้น สามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการทำดีลดิลิเจนท์ให้เสร็จก่อน ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าหากธนาคารสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ จะทำให้ธนาคารพลิกกลับมามีกำไรได้ภายในปีหน้า

    “เราได้เสนอแผนฟื้นฟูต่อ สคร. ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา สาระหลักๆ ยังตรงกับแผนที่เราได้แถลงไปเมื่อวันที่ 8 ส.ค. โดยเน้น 4 เรื่องเร่งด่วนหลัก คือ 1.จัดการหนี้ด้อยคุณภาพและหนี้ที่อ่อนแอ 2.ดูแลสินเชื่อที่ดีของธนาคารและทำให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้กับเอสเอ็มอีต่อไปได้ ซึ่งตรงนี้คงต้องไปปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อเพิ่ม 3.การบริหารจัดการด้านสภาพคล่อง และ 4.ดูแลพนักงานที่มีกว่า 1,600 คน ให้เขามีความมั่นใจเพื่อจะมีความกระตือรือร้นในการทำงาน”นางสาลินีกล่าว

    เธอกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการบริหารลูกหนี้ด้อยคุณภาพ โดยปกติเราต้องทำการแยกคุณภาพลูกหนี้ดีกับลูกหนี้เสียอยู่แล้ว โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารจำนวน 3.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เราสำรวจพบว่าเป็นลูกหนี้ที่เลิกกิจการหรือไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติประมาณ 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นจำนวนรายอยู่ที่ 2 หมื่นราย เฉลี่ยรายละ 1 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้กลุ่มนี้จะตัดขายหลักประกันออกไป

    “เท่าที่เราประเมิน หากสามารถขายหลักประกันเหล่านี้ออกไปได้ ก็มั่นใจว่าธนาคารจะไม่ขาดทุน เพราะยอดหนี้ที่ถูกหักด้วยสำรองเหลือจำนวนไม่สูงนัก ดังนั้นถ้าเราขายหลักประกันได้ตามที่วางแผนเอาไว้ ทางเราก็ไม่จำเป็นต้องขอให้กระทรวงการคลังใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามาเลย”นางสาลินีกล่าว

    ส่วนลูกหนี้เอ็นพีแอลที่เหลืออีก 1.4 หมื่นล้านบาท ที่ดูแล้วพอจะแก้ปัญหาได้ ก็จะมีการปรับโครงสร้างกันใหม่ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของเขา ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าหนี้เหล่านี้จะไม่กลับมาเป็นเอ็นพีแอลอีกรอบหนึ่ง

    นางสาลินี กล่าวว่า หลักประกันของลูกหนี้เหล่านี้ ธนาคารมีการบันทึกเอาไว้ เพียงแต่จะมีการนำส่งเข้าแผนกประเมินหลักประกันอีกครั้งเพื่ออัพเดทมูลค่า ขณะเดียวกันเพื่อความโปร่งใส ธนาคารจะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) มาประเมินเพื่อยืนยันมูลค่าที่แท้จริงอีกครั้งด้วย

    สำหรับการจัดทำงบการเงินในอนาคตตามแผนดีลดิลิเจนท์นั้น ทางธนาคารได้มีการประเมินฐานะการเงินใน 1 ปีข้างหน้าไว้อยู่แล้ว โดยคาดว่าการปล่อยสินเชื่อในระยะต่อไป น่าจะทำได้ประมาณ 2.5 เท่าของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    “เรามองว่าสินเชื่อน่าจะโตได้ 2.5 เท่าของจีดีพี หากจีดีพีโต 5% สินเชื่อก็น่าจะโตได้ 12% หรือคิดเป็นการเติบโตของสินเชื่อใหม่สุทธิประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท แน่นอนว่า เราก็จะมีรายได้จากสินเชื่อเหล่านี้กลับมา ซึ่งทุกวันนี้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อดี หักกับดอกเบี้ยจ่ายก็สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้หมดแล้ว”นางสาลินีกล่าว

    ส่วนกระแสข่าวเรื่องการควบรวมกิจการของธนาคารกับธนาคารออมสินนั้น นางสาลินี กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่ทราบรายละเอียดของเรื่องนี้ แต่ล่าสุดได้คุยกับผู้บริหารของทาง สคร. ซึ่งท่านก็ยืนยันกลับมาว่า ให้ทำตามแผนฟื้นฟูที่เสนอไปเพื่อให้ฐานะการเงินของธนาคารกลับมาแข็งแกร่งตามปกติ

    นางสาลินี กล่าวด้วยว่า ในส่วนของแผนการคัดเลือกกรรมการผู้จัดการของเอสเอ็มอีแบงก์นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดสรรได้หารือและสรุปรายละเอียดข้อตกลงการว่าจ้าง (ทีโออาร์) ไว้เรียบร้อยแล้ว และจะนำเข้าขออนุญาตในที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารในวันนี้ (20 ส.ค.) จึงเชื่อว่า ภายในสิ้นเดือนนี้น่าจะสามารถเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการได้

    Tags : สาลินี วังตาล • เอสเอ็มอีแบงก์ • กำไร

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้