'ยานยนต์'เร่งปรับรับมือเออีซี หวั่นคู่แข่งลอกโมเดลธุรกิจ

หัวข้อกระทู้ ใน 'ยานยนต์' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 20 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    จับทิศอุตฯยานยนต์ไทยหลังเปิดเออีซี แนะผู้ประกอบการปรับตัวรับพันธมิตรและคู่แข่งในเวลาเดียวกัน

    เร่งสางปัญหาขาดแคลนแรงงาน ระบุสมาชิกเออีซี เร่งโครงการหนุนผลิตรถ เลียนแบบโมเดลความสำเร็จไทย โดยเฉพาะอินโดนีเซีย และเวียดนาม ด้านกรมขนส่งเตรียมพร้อม ออกป้ายทะเบียน 2 ภาษาปลายปีนี้ รับการเดินทางข้ามประเทศ

    วานนี้ (19 สิงหาคม) สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (THAI AUTOMOTIVE JOURNALISTS ASSOCIATION - TAJA) จัดงานสัมมนาหัวข้อ ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ AEC โดยมี นางทัศนา พิริยพฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันยานยนต์ นายธานี สืบฤกษ์ ผู้อำนวยการ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และนายอนุชาติ ดีประเสริฐ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ร่วมสัมมนา

    นางทัศนา พิริยพฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันยานยนต์ กล่าวถึง ความพร้อมของสถาบันยานยนต์ต่อการเข้าสู่ เออีซีว่า เออีซีถือเป็นตลาดและเป็นฐานการผลิตร่วม ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์จะได้รับการลดภาษีนำเข้าระหว่างประเทศ โดยสมาชิกอาเซียนเดิม ได้ลดภาษีเป็น 0% มาตั้งแต่ปี 2010 ส่วนประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม) จะได้ลดภาษี ในปี 2558

    ลอกโมเดลสำเร็จอุตฯยานยนต์ไทย

    ด้านนโยบายระหว่างประเทศของสมาชิกขณะนี้จะเห็นว่า ประเทศต่างๆ ก็พยายามเลียนแบบโมเดลของไทยและพยายามจะสร้างอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น ในเวียดนามที่พยายามผลักดันการผลิตรถยนต์ แต่ยังไม่สำเร็จ จึงมุ่งไปที่การผลิตรถจักรยานยนต์ ซึ่งในปีนี้การผลิตรถยนต์ของเวียดนาม ทำได้มากกว่า 3 ล้านคัน ขณะที่อินโดนีเซียก็พัฒนารถเก๋งประหยัดพลังงาน สำหรับประเทศไทยเดิมมีปิคอัพ 1 ตันผลิตขายไปทั่วโลก ก่อนจะพัฒนาอีโค คาร์ เฟส 1 และปรับมาเป็นอีโค คาร์ เฟส 2

    โดยย้ำว่าไทยยังคงเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของอาเซียน แม้ว่าส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ในอาเซียนจะปรับลดลง โดยในปี 2546 มีการผลิต 2 ล้านคัน และมีส่วนแบ่งตลาด 59% ปีล่าสุดตลาดอาเซียน มีการผลิตเพิ่ม 14% หรือคิดเป็นยอด 4 ล้านคัน แต่ส่วนแบ่งตลาดไทยลดลงเหลือ 55% ยอดการผลิตเติบโต 10% ส่วนอินโดนีเซีย ภาคการผลิตมีการเติบโตถึง 15%

    "สิ่งที่น่าจับตามองคืออินโดนีเซีย จากขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น อดีตอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้นำเข้าเพราะผลิตรถไม่พอเพียงสำหรับใช้ในประเทศ แต่ปีที่แล้วอินโดนีเซียเริ่มมีรถส่งออกรถ เกือบ 2 แสนคัน ซึ่งส่วนหนึ่งส่งมาจำหน่ายในไทย"

    ยานยนต์ไทยต้องปรับตัวรับเออีซี

    อย่างไรก็ตามเห็นว่า ยานยนต์ของไทยมีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่อาเซียน แต่จะต้องปรับปรุงบางอย่างเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง โดยเป้าหมายของไทยในปี 2560 จะผลิตรถยนต์ 3 ล้านคัน โดยมีเครื่องมือใหม่ ได้แก่โครงการผลิตรถอีโค คาร์ 2 ซึ่งกำหนดไว้ที่กำลังการผลิต 1.5 ล้านคัน จาก 10 ผู้ผลิตรถยนต์

    โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในเรื่องแรงงาน ซึ่งอนาคตไทยจะเข้ายุคการขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นผลมาจากการคุมกำเนิดประชากร นอกจากนี้ยังต้องแก้ไขโครงสร้างแรงงาน ซึ่งเด็กไทยไม่นิยมเรียนสายอาชีวะ แต่นิยมเรียนปริญญา ทำให้ช่างเทคนิคขาดแคลนซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานพยายามรับมือปัญหา โดยการร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ทางสถาบันยานยนต์ได้ร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคคลกรระดับสูง ในขณะที่ภาครัฐต้องส่งเสริม โครงสร้างพื้นฐานที่ยังขาดแคลน โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนา

    ในขณะที่ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยต้องเร่งยกศักยภาพของตัวเองในเรื่องเทคโนโลยีและความสามารถในการบริหารจัดการให้เข้าสู่มาตรฐานสากล มีการเชื่อมโยงคู่แข่งและคู่ค้าเข้าด้วยกัน เพราะบางประเทศเป็นตลาดเป้าหมาย

    อาเซียนเป็นทั้งพันธมิตร-คู่แข่ง

    นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โจทย์ของไทยในวันนี้คือทำอย่างไรไทยจะเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างยั่งยืน

    โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังเปิดเออีซี คือ ตลาดอาเซียนจะเป็นทั้งพันธมิตรและคู่แข่ง เพราะไทยกับเพื่อสมาชิก มีสินค้า (โปรดักท์) หลักคล้ายกันมาก ยกเว้นปิกอัพ จะเห็นว่าอินโดนีเซีย แม้แต่เวียดนามก็พยายาม เริ่มสร้างโมเดลความสำเร็จแบบที่ไทยเคยทำ ซึ่งไทยต้องเตรียมตัวรับมือ

    “ที่ผ่านมาคู่แข่งในอาเซียนอาจไม่แข็งแกร่งเพราะไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยาวนาน และพัฒนาคุณภาพไปสู่ในระดับโลก ในขณะที่คู่แข่งในภูมิภาค ตัวจริง คืออินโดนีเซีย ซึ่งอินโดฯผลิตรถได้ 1.3-1.4 ล้านคัน แต่ขายวิสัยทัศน์ไปถึงปี 2025 โรดแมฟของอินโดนีเซียเริ่มจากผลิตรถเก๋งเล็ก ที่มีแนวคิดเดียวกับอีโค คาร์ ของไทย จากนั้นก็มีแผนจะทำ รถเก๋งขนาดกลาง รถบรรทุกใหญ่ รถไฮบริด รถหรูหรา สรุป คือ ปี 2025 อินโดนีเซีย จะทำทุกอย่างยกเว้นรถ ในขณะที่ มาเลเซียเองมีโครงการ EEV หรือรถเพื่อสิ่งแวดล้อมแต่รัฐบาลจะ พิจารณาส่งเสริมเป็นกรณี ๆ ไป ซึ่งไม่ง่ายนักที่จะทำให้ผู้ลงทุนเชื่อมั่น”

    ขนส่งออกป้ายทะเบียน2ภาษาปลายปีนี้

    ด้านนายธานี สืบฤกษ์ ผู้อำนวยการ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบต่างๆ ต่อการเข้าสู่เออีซีว่า กรมการขนส่งได้เตรียม กำหนดมาตรฐานและการรับรองแบบรถ ตราพ.ร.บ. ขนส่งทางบก และพ.ร.บ.รถยนต์ โดยเมื่อเปิดเออีซี จะมีการขับรถและการเดินทางระหว่างกัน มีรถวิ่งผ่านระหว่างประเทศและผ่านไปประเทศที่3 ซึ่งบางประเทศมีข้อตกลงเดิมกับไทย บางประเทศไม่มี นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเข้าออกด่านต่างๆ อาจจะมีการบริการแบบ วันสต็อป เซอร์วิส

    “วันแรกที่เปิดเออีซี (หลัง31ธ.ค.58) รถที่ผ่านด่านจะต้องมีทะเบียนเป็น 2 ภาษา โดยกรมขนส่งอยู่ระหว่างการออกแบบป้าย 2 ภาษาโดยมีหมวดภาษาอังกฤษร่วมอยู่ในป้าย ซึ่งจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ในขณะที่ใบขับขี่ต้องเป็นภาษาอังกฤษซึ่งกรมขนส่งทางบกได้จัดทำส่วนนี้แล้ว ซึ่งใบขับขี่ดังกล่าว สามารถใช้ขับขี่รถได้10 ประเทศสมาชิกอาเซียน (รถที่จะเข้าออกได้หลังเปิดเออีซี ต้องเป็นรถส่วนบุคคล ส่วนรถบรรทุก รถประจำทาง ต้องขออนุญาตแต่ล่ะประเทศ)

    นอกจากนี้การที่จะเปิดเออีซี จะต้องมีการเพิ่มความร่วมมือ ที่เรียกว่า อาเซียน MRA (การรับรอง และการทดสอบมาตรฐาน) ซึ่งเป็นกลไกเพื่อ ลดขั้นตอนการขอใบอนุญาต การตรวจสอบซ้ำ ซึ่งขณะนี้มีมาตรฐานอีกหลายรายการที่มีมาตรฐานต่างกัน สำหรับไทย พยายาม ผลักดันให้ทุกชาติปรับให้เป็นไปตามมาตรฐานUN ACE ที่ไทยอ้างอิงอยู่ เพราะ ท้ายสุดมาตรฐานที่ใช้ต้องเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ

    ชิ้นส่วนแนะพัฒนาแรงงานคุณภาพ

    นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวว่าไทยต้องเดินหน้าสู่เออีซี แม้เริ่มแรกอาจจะยังไม่ราบรื่น การที่เป็นฐานการผลิตเดียวกันและทำให้เป็นภูมิภาคอาเซียนเกิดขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนต้องเตรียมตัวมากขึ้น ซึ่งจุดแข็งของไทยยังดีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตลาดใหญ่อันดับ2 ของอาเซียน โอกาสของตลาดชิ้นส่วนไทยย่อมเติบโตตามการผลิต แต่จุดอ่อนของไทยคือ นโยบายของรัฐซึ่งคู่แข่งมีความชัดเจนกว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงผู้นำนโยบายมักเปลี่ยนไป

    "เราจะเห็นว่า มีปัจจัย 2 อย่างที่เป็นตัวแปร คือ คนกับเทคโนโลยี ซึ่งควรปรับปรุงโครงสร้างการศึกษาเพื่อให้อยู่ อย่างยั่งยืน โดยความต้องการแรงงานของภาคชิ้นส่วน ในปี 2558 จะเพิ่มเป็น 1.24 แสนคน”

    เช่าซื้อ ยังห่วงตามยึดรถข้ามแดน

    นายอนุชาติ ดีประเสริฐ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า เมื่อไทยเข้าสู่เออีซี ไทยมีจุดเด่นการขนส่ง การบิน การท่องเที่ยวเมื่อธุรกิจเพิ่มขึ้น การใช้รถก็จะเพิ่มขึ้นแต่มีข้อศึกษาที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้คือ การที่มีรถวิ่งข้ามประเทศจะทำอย่างไร หรือการติดตามยึดรถจะทำได้หรือไม่ รวมถึง ความเสี่ยงเมื่อรถออกนอกประเทศ การประกันภัย ซึ่งรถที่เป็นลูกหนี้ ไฟแนนซ์ ขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับเห็นชอบให้ไปวิ่งเข้าไปยังต่างประเทศ

    "ในปัจจุบัน ยังไม่มีบริษัทใด เข้าไปขยายการเช่าซื้อในประเทศ เออีซี ยกเว้น ค่ายมอเตอร์ไซค์ ที่เริ่มขยาย เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ซึ่งหลายประเทศ ยังไม่มีกฎหมายเข้ามารองรับ บางประเทศ ยังไม่มีระบบสินเชื่ออย่างไรก็ตามคาดว่า เมื่อไทย เข้าสู่เออีซี เชื่อว่า ยอดขายรถจะเพิ่มขึ้น อย่างน้อยการใช้รถจะเพิ่มขึ้นราว 25% และธุรกิจเช่าซื้อก็จะโตไปด้วยตัวเอง"

    Tags : สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์ • สัมมนา • AEC • อนุชาติ ดีประเสริฐ • องอาจ พงศ์กิจวรสิน • ลอกโมเดล • อาเซียน • แรงงาน • เช่าซื้อ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้