'การเมือง-ส่งออก'ฉุดจีดีพีโต2% สศช.ชี้ศก.โตต่ำกว่า'ศักยภาพ'-หวังเชื่อมั่นฟื้นดันครึ่งปีหลัง สศช.หั่นเป้าเศรษฐกิจจาก 1.5-2.0% เหลือ 1.5-2.5% ระบุเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ จากผลกระทบการเมืองครึ่งปีแรก ตลาดโลกฟื้นตัวช้าฉุดส่งออก คาดโตแค่ 2% ส่วนไตรมาส 2 ขยายตัว 0.4% ดีกว่าคาดการณ์ ส่งผลครึ่งปีแรกติดลบ 0.1% ขณะเอกชนประเมินอียูนำเข้าเพิ่ม คาดตัวเลขเศรษฐกิจดีกว่าสศช.ประเมิน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้อยู่ในกรอบ 1.5-2.0% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.5-2.5% โดยได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกขยายตัวน้อยกว่าคาดการณ์และปัญหาการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อมานานกว่า 5 เดือน ไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออก ซึ่งหากการส่งออกขยายตัวน้อย จะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของจีดีพีไปด้วย สศช.ปรับประมาณการส่งออกในปีนี้จะขยายตัว 2% จากประมาณการเดิม 3.7% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าส่งออกในปีนี้จะขยายตัว 3% นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสศช. กล่าวว่าได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลง เนื่องจากการส่งออกขยายตัวต่ำ ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว การลงทุนภาคเอกชนยังต้องใช้เวลา แม้ว่าคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อนุมัติโครงการไปแล้ว อีกทั้งการบริโภคขยายตัวไม่มากนักจากปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง "เศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อในช่วงห้าเดือนแรกของปี การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของการส่งออก และการหดตัวต่อเนื่องของปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกยังหดตัว ในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น ตามการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นและการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการบริหารงานและการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ แต่การขยายตัวยังมีแนวโน้มต่ำกว่าศักยภาพ" นายอาคม กล่าวว่าการขยายตัวของการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออกที่ลดลง โดยสศช.ได้ปรับลดตัวเลขประมาณการการขยายตัวของการส่งออกทั้งปีลงจากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.7%เหลือขยายตัว 2% โดยในไตรมาสที่ 2 การส่งออกสามารถขยายตัวได้ 0.4% โดยเฉพาะความต้องการสินค้าในตลาดสหรัฐฯและยุโรป ด้านการท่องเที่ยวยังมีข้อจำกัดและต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว รวมทั้งตลาดท่องเที่ยวมีการแข่งขันกันมากขึ้นทำให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยว โดยในปี 2557 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากปี 2556 ประมาณ 2 ล้านคน โดยส่วนหนึ่งในปีนี้ประเทศจีนมีการควบคุมนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาในประเทศไทยไม่ให้ใช้บริการทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือบางส่วนนักท่องเที่ยวไทยมีการเปลี่ยนจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวไปยังประเทศอื่นๆ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก ในด้านการลงทุนยังมีข้อจํากัดเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำและความล่าช้าในการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก โดยโครงการใหญ่ๆของเอกชนจะทยอยมีการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้นจากความเชื่อมั่นการลงทุนมากขึ้นและมีการแก้ปัญหาด้านต่างๆ เช่นการเร่งรัดการพิจารณาการส่งเสริมการลงทุน และการเร่งรัดการออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ได้รวดเร็วมากขึ้น สำหรับการบริโภคภาคเอกชน สศช.มองว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพราะมีการใช้จ่ายล่วงหน้าโดยเฉพาะจากโครงการรถยนต์คันแรก ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่ม แต่การกู้ประเภทอื่นเพื่ออุปโภคบริโภคไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนที่เกิดจากการซื้อรถซื้อบ้านด้านหนึ่งเป็นหนี้แต่อีกด้านหนึ่งเป็นทรัพย์สิน ถ้าเศรษฐกิจเติบโตได้ดีต่อเนื่องประชาชนก็จะมีความสามารถในการชำระหนี้ ไตรมาส2ขยายตัวดีกว่าคาดการณ์ สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ขยายตัวได้ 0.4% ปรับตัวดีขึ้นจากในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ที่หดตัวหรือติดลบ 0.5% ทำให้ตัวเลขรวมในครึ่งแรกของปี 2557 (ม.ค. - มิ.ย.) เศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบ 0.1% ทั้งนี้ เศรษฐกิจในไตรมาส 2 ขยายตัวได้เนื่องมาจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.2% แต่หากรวมทั้งในส่วนสินค้าและบริการ ในไตรมาส 2 ยังติดลบ 0.7% ส่วนในการใช้จ่ายภาครัฐยังคงขยายตัวโดยการบริโภคภาครัฐขยายตัว 1.9% ขณะที่การลงทุนทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจหน่วยงานต่างๆมีการเร่งการใช้จ่ายลงทุนมากขึ้นทำให้การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวติดลบมา 3 ไตรมาสติดต่อกันนั้นติดลบลดลงจากไตรมาสก่อน 9.3%.เหลือติดลบลดลง 6.9% “ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ เนื่องจากหลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะติดลบต่อเนื่อง แต่เมื่อไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจกลับมาเป็นบวกได้เร็วกว่าคาดก็นับว่าเป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากในครึ่งปีแรกโดยรวมเศรษฐกิจติดลบเพียง 0.1% เท่านั้น ดังนั้นในครึ่งปีหลังจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกนั้นหากสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องเหมือนกับในเดือน มิ.ย.จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจในประเทศ” นายอาคมกล่าว ชี้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ นายอาคมกล่าวด้วยว่าในปี 2558 สศช.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 3.5 - 4.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ สศช.ใช้ในการจัดทำงบประมาณ 2558 โดยสมมติฐานคาดว่าปีหน้าการส่งออกจะขยายตัวได้ 5-7% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากโดยศักยภาพการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ 10% ขึ้นไป อย่างไรก็ตามตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 3.5 - 4.5% เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าศักยภาพโดยรวมของประเทศ เนื่องจากที่จริงแล้วศักยภาพของประเทศการเติบโตทางเศรษฐกิจควรจะอยู่ที่ 4 - 5 % หรือหากมีการลงทุนหรือกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่มากขึ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจอยู่ที่ 5 - 6% “ในแง่ของความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 เพราะเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารราชการตอนนี้ปัญหาทั้งหมดที่สั่งสมก็เริ่มฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้นและทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาส่วนหนึ่ง แต่การที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.5 - 4.5% ก็เป็นการคาดการณ์ที่ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพของประเทศ แต่หากในปีหน้ามีการเร่งรัดอย่างเต็มที่ เช่น หากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปตามแผน และการส่งออกเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 5 - 7 % ได้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมจะอยู่ที่ 5 - 6% ซึ่งเศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากน้อยแค่ไหนอยู่ที่ความทุ่มเทความพยายามที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกภาคส่วน ทั้งราชการ เอกชน และประชาชน จะทำได้มากน้อยแค่ไหน”นายอาคมกล่าว เอกชนชี้ส่งออกมีโอกาสโตต่ำกว่า 2% นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่ามีโอกาสที่การส่งออกปีนี้จะขยายตัวต่ำกว่า 2% เพราะไม่มีสัญญาณจากตลาดต่างประเทศ เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าจะฟื้นตัวจริงหรือไม่ โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ทำให้ความต้องการบริโภคลดลงส่งผลถึงความต้องการนำเข้าสินค้าลดลงด้วย ส่วนตลาดอื่นๆ ได้แก่ จีน เน้นการบริโภคภายในประเทศและจำกัดอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงเกินไปเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น มีการปรับขึ้นภาษีการค้าทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นส่งผลต่ออัตราการขยายตัวการบริโภคเช่นกัน นายพรศิลป์ กล่าวถึง ด้านสินค้าส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรมีทิศทางน่าเป็นห่วง จากปัญหาด้านซับพลายได้แก่สินค้ากุ้ง ปัญหาด้านราคา ได้แก่ยางพารา ยกเว้นสินค้าข้าวที่ราคาข้าวไทยกลับมาอยู่ในอัตราเหมาะสมจนมีการส่งออกได้มากขึ้น นอกจากนี้การส่งออกไก่สดปีนี้มีแนวโน้มสดใสจากที่ตลาดญี่ปุ่นและยุโรปยกเลิกคำสั่งห้ามนำเข้าไก่สด "ปีนี้แนวโน้มการส่งออกน่าเป็นห่วงจากปัจจัยหลักๆคือเศรษฐกิจตลาดสำคัญที่คิดว่าจะดีแต่เอาเข้าจริงไม่ดีอย่างที่คิด ทำให้ผมคิดว่าส่งออกปี 2557 น่าจะขยายตัวอย่างดีที่สุดคือ 2% ซึ่งจะกระทบต่อจีดีพีปีนี้แน่นอน" นายพรศิลป์ กล่าว ส.อ.ท.หวังอียูนำเข้าเพิ่มก่อนตัดจีเอสพี ด้าน นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.คาดว่าการส่งออกในปีนี้จะเติบโตประมาณ 2.5% สูงกว่าที่สศช.คาดการณ์ไว้ที่ 2% เนื่องจากปลายปี การส่งออกไปยุโรปจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีที่ผ่านมา เพราะในปีหน้าไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีหรือจีเอสพี ทำให้ผู้นำเข้าต้องเร่งซื้อสินค้าภายในปีนี้ ส่วนจีดีพีในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตถึง 2% เนื่องจาก ส.อ.ท.มองในแง่บวกว่า หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลจะทำให้มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่เหลือของประจำปี 2557 รวมทั้งมีการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 เพื่อมาช่วยกระตุ้นจีดีพี เนื่องจากในปัจจุบันการอนุมัติงบภายใต้การบริหารงานของปลัดกระทรวงติดขัดปัญหาหลายอย่าง ทำให้เศรษฐกิจยังไม่ขับเคลื่อนเท่าที่ควร กลุ่มอาหารคาดส่งออกโต4-5% ด้าน นายบุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในปี 2557 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 4-5% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ยอดส่งออกลดลง 6% โดยในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวในระดับ 1-2% และในช่วงครึ่งปีหลังจะมียอดส่งออกสูงกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะมีมูลค่าส่งออกรวม 9.8 แสนล้านบาท มีสัดส่วน 30% ของยอดผลิตอาหารทั้งประเทศ สำหรับในปี 2558 คาดว่ายอดการส่งออกอาหารน่าจะมีมูลค่าทะลุ 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากญี่ปุ่นจะนำเข้าสินค้าไก่จากไทยเพิ่มขึ้น ภายหลังที่ได้เปิดตลาดไก่สดให้กับประเทศไทย และญี่ปุ่นยังได้ออกมาตรการกีดกันสินค้าไก่จากจีนเพราะไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งยังคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การของอุตสาหกรรมผลิตกุ้งว่าจะฟื้นตัวจากโรคอีเอ็มเอสแค่ไหน และภาวะทางการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพหรือไม่ ส่วนการบริโภคภายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 2.7% มีมูลค่าประมาณ 1.8-2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนของการผลิตอาหารทั้งประเทศ 70% ซึ่งทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เสนอรัฐบาลใหม่เร่งโซนนิ่งภาคเกษตร นายบุญเพ็ง กล่าวว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ได้เสนอให้ภาครัฐผลักดันนโยบายโซนนิ่งพื้นที่เกษตรให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้วัตถุดิบจากพืชไร่มีคุณภาพ และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลดการสูญเสียหลักการเก็บเกี่ยว โดยการใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และภาคอุตสาหกรรมก็ได้สินค้าที่มีคุณภาพ “สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก ยังได้เตรียมทำหนังสือเสนอให้รัฐบาลออกไปเจรจาขยายตลาดสุกร และปศุสัตว์ในประเทศรัสเซีย เพื่อฉวยโอกาสที่รัสเซียนยกเลิกการนำเข้าสินค้าจากประเทศตะวันตก ในการผลักดันสินค้าปศุสัตว์ของไทยเข้าไปแทนที่ ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยสามารถทำให้ผู้บริโภครัสเซียติดใจได้ ก็จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในรัสเซียได้ในระยะยาว” นายบุญเพ็ง กล่าว Tags : คสช. • สศช. • เศรษฐกิจไทย • ศักยภาพ • ส่งออก • อาคม เติมพิทยาไพสิฐ • จีดีพี • หอการค้าไทย • สุพันธ์ มงคลสุธี • นายบุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม