เปิดตัวมาเกือบ 10 เดือนสำหรับสมาร์ทโฟนเรือธงของโมโตโรล่าตัวนี้ ซึ่งเสียงตอบรับค่อนข้างดีพอสมควร แต่ในไทยยังหาคนรีวิวได้ค่อนข้างน้อย ผมจึงตัดสินใจเขียน โดย Moto X เป็นสมาร์ทโฟนตัวแรกของโมโตโรล่า ภายใต้ร่มเงาของกูเกิลที่ส่วนตัวผมมองว่าประสิทธิภาพต่อราคา ไม่ได้ขี้เหร่เท่าไหร่เลย สำหรับสเปค ขออนุญาตข้ามเพื่อไม่ให้ยืดจนเกินไป คำเตือน รูปค่อนข้างเยอะ ระวังดาต้าของท่านด้วย แกะกล่องและตัวเครื่อง ตัวกล่องเป็นวัสดุรีไซเคิล ข้างในนอกจากตัวโทรศัพท์จะมีคู่มือ Adapter (มีช่อง USB สองช่อง) สาย microUSB และเข็มถอดถาดซิม ด้านขวาเป็นปุ่มล็อกหน้าจอ และปุ่มปรับเสียง ด้านซ้ายเป็นช่องใส่นาโนซิม แจ็คหูฟังอยู่ด้านบน ตัวเครื่องมีหน้าจอขนาดถึง 4.7 นิ้ว แต่ด้วยความที่ฝาหลังโค้งมน ทำให้เวลาถือในมือจะรองรับกับฝ่ามือได้ค่อนข้างพอดีทีเดียว สามารถพิมพ์มือเดียวได้สบาย ความละเอียดหน้าจอเป็น 720p HD ถือว่าค่อนข้างคมชัดสำหรับหน้าจอขนาดนี้ ในระดับที่สายตาจะรับได้ และด้วยความที่เป็น AMOLED ทำให้สีค่อนข้างสดและค่อนข้างเป็นธรรมชาติเช่นกัน และสามารถสู้แสงจ้าๆ ได้พอสมควร ยังพอมองเห็นและใช้งานได้กลางแดด แต่เวลาใช้ในที่มืด ถึงแม้จะลดแสงน้อยที่สุดแล้ว ยังรู้สึกว่าสว่างไปอยู่ดี ซอฟต์แวร์ Moto X มาพร้อมแอนดรอยด์ 4.2.2 ซึ่งผมก็อัพเดตเป็น 4.4.2 ทันที โดยทางโมโตโรล่าแทบจะไม่ได้ปรับแต่งตัวแอนดรอยด์เท่าไหร่ นอกจากฟีเจอร์และแอพของโมโตโรล่าที่มีเพิ่มเข้ามา ซึ่งฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามา ผมถือว่าเป็นฟีเจอร์เด่นๆ ของ Moto X เลยทีเดียว Active Display ฟีเจอร์นี้ถือว่าเป็นฟีเจอร์เด่นและฟีเจอร์หลักของ Moto X ก็ว่าได้ ซึ่งผมชอบมาก และรู้สึกว่ามันมีประโยชน์มาก มันคือฟีเจอร์ที่คล้ายๆ กับ Glance Screen ของ Nokia Lumia เพียงแต่ไม่ได้แสดงผลตลอดเวลา และแสดงการแจ้งเตือนด้วย ที่สำคัญคือ active display จะแสดงขึ้นมาทุกครั้ง เมื่อเราหยิบโทรศัพท์ออกมาจากกระเป๋า หรือหงายหน้าโทรศัพท์ขึ้นมา เพราะใช้เซ็นเซอร์ accelerometer ทำงานร่วมกับ ambient light sensor และ proximity sensor เมื่อหงายหน้าจอขึ้นมา ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะเข้าไปดูเนื้อหาที่แสดงในการแจ้งเตือนนั้นๆ (ถ้ามี) หรือปลดล็อกหน้าจอ หรือจะลบการแจ้งเตือนทิ้งไปเลยก็ได้โดยการลากไปด้านข้าง Touchless Control ฟีเจอร์นี้ก็คือ Google Now น่ะแหละครับ เพียงแต่ว่าไม่จำเป็นต้องกดปุ่มโฮม เพราะตัวเครื่องจะรอรับคำสั่งเราตลอดเวลาถึงแม้หน้าจอจะล็อกอยู่ก็ตาม เพียงแค่พูดว่า "Ok, Google Now" เครื่องจะตอบรับและรอรับคำสั่งของเราต่อไป ตอนแรกผมคิดว่าคงไม่ได้ใช้งานเท่าไหร่ แต่กลับพบว่าเมื่อใส่ EarPods ของแอปเปิล ก็สามารถสั่งได้แบบเดียวกันโดยไม่ต้องกดปุ่มใดๆ เลย ทำให้ผมเรียก Google Now ให้ช่วยโทรออก เวลามือถือของเยอะๆ อยู่ได้ กล้อง ด้วยราคาระดับนี้ คุณภาพของภาพที่ออกมาถือว่าใช้ได้เลยทีเดียว ในสภาพที่แสงเพียงพอ แต่เมื่อถ่ายในสภาพแสงน้อย ไม่ต้องบอกก็คงพอจะเดาได้ว่า noise ค่อนข้างเยอะเป็นปกติ แต่ผมรู้สึกว่าภาพไม่ได้แตกอย่างที่คิด พอไปวัดไปวาได้อยู่ การใช้งานและสรุป Moto X สามารถใช้งานได้เกือบจะทั้งวัน ไม่แพ้ Moto G เลยทีเดียว(จากคำบอกเล่าของท่าน nrad6949 ว่า Moto G สามารถอยู่ได้ทั้งวันจริงๆ) ผมเปิด 3G ตลอดเวลา เปิดแอพโซเชียลต่างๆ เข้าเว็บ อ่านข่าว ฯลฯ และฟังเพลงอยู่เนืองๆ สามารถใช้งานได้ประมาณ 9-10 ชั่วโมง โดยเหลือแบตเตอรี่ประมาณ 10% และเมื่อแบตเตอรี่ต่ำกว่า 10% เครื่องจะเปิด battery saving mode อัตโนมัติ ลำโพงหลังเสียงค่อนข้างดังพอตัว ในขณะที่ลำโพงหน้าเสียงดังฟังชัดมาก ผมคุยโทรศัพท์ในที่ๆ เสียงค่อนข้างดังอย่างในฮอลพร้อมเสียง MC จากลำโพงที่ห่างออกไปไม่มาก แต่กลับได้ยินเสียงคู่สนทนาชัดเจนในขณะที่อีกฝั่งก็ได้ยินเสียงผมค่อนข้างชัดเช่นกัน สำหรับหน่วยความจำตัวเครื่องที่ให้มา ของผมเป็นรุ่น 16 GB เหลือใช้จริงประมาณ 12 GB และไม่สามารถใส่ microSD เพิ่มได้ แต่ส่วนตัวผมถือว่าเหลือเฟืออยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มความจุ Moto X ถือได้ว่าสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ที่ต้องการจะใช้งานทั่วๆ ไป และไม่จำเป็นต้องมีฟีเจอร์หวือหวา โดยที่ประสิทธิภาพความเร็วและลื่นไม่แพ้สมาร์ทโฟนราคาหมื่นปลายๆ เลย และด้วยราคา (เครื่อง unlock ในสหรัฐ) ประมาณ 12,000 บาท ผมว่าค่อนข้างคุ้ม น่าเสียดายที่โมโตโรล่าเพิ่งจะมาทำตลาดในฝั่งเอเชีย นอกจากมาเลเซียและอินเดียแล้ว มีสิงคโปร์ที่กำลังจะตามมา ซึ่งอาจจะดีสำหรับผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนระดับกลางในบ้านเรา ที่ไม่ต้องมีคู่แข่งที่หินอย่าง Moto X (ไม่นับ Moto G อีกตัว) แต่น่าเสียดายสำหรับผู้บริโภค ที่ไม่มีโอกาสสัมผัสสมาร์ทโฟนคุณภาพ ด้วยราคาหมื่นต้นๆ เช่นนี้ ข้อดี แบตเตอรี่ทน อยู่ได้ทั้งวัน ประสิทธิภาพการใช้งานดี กล้องดีพอสมควร ลำโพงเสียงดัง ฟังชัด ข้อด้อย ราคาค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับ Moto G ที่ความคุ้มค่าต่อราคาดูไม่แตกต่างกัน แต่ราคาถูกกว่า Mobile, Moto X, Motorola, Review