สศช.จ่อคงตัวเลขจีดีพีกรอบ 1.5-2.5% คาดเศรษฐกิจไตรมาส 2 ยังติดลบ แม้มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังการเมืองคลี่คลาย เศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจไม่ขยายตัวมากนักตามการคาดการณ์ของหลายสำนักวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน แม้ว่าความเชื่อมั่นจะฟื้นตัวจากสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย เนื่องจากปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนเหลือเพียงงบลงทุนภาครัฐ วันนี้ (18 ส.ค.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 2/2557 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 โดยคาดว่าจะคงกรอบจีดีพีไว้เท่าเดิมคือ 1.5-2.5% แหล่งข่าวจากสศช. กล่าวว่ามีแนวโน้มสศช.จะคงตัวเลขประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2557 ไว้ที่ 1.5 - 2.5% ตามที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ รวมทั้งได้มีการรายงานตัวเลขเบื้องต้นให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.รับทราบประมาณการเศรษฐกิจแล้ว ก่อนหน้านี้ สศช.ได้คาดการณ์จีดีพีไว้ที่ 3-4% แต่ได้ปรับลดลงมาอยู่ในกรอบ 1.5 - 2.5% หลังจีดีพีไตรมาส 1/2557 ติดลบ 0.6% เช่นเดียวกับหลายหน่วยงานที่ปรับลดประมาณการลง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดจาก 2.7% เหลือ 1.5% แหล่งข่าวกล่าวว่าแม้ว่าเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นจากสถานการณ์การเมืองที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคของประชาชน รวมทั้งตัวเลขของนักท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 วงเงิน 2,575,000 ล้านบาท ได้ทันตามปฏิทินงบประมาณ ก็จะช่วยให้การเบิกจ่ายสามารถทำได้ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งมีงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนปี 2557-2558 วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เห็นชอบแล้วซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 และจัดทำงบประมาณปี 2558 ทำให้ธปท.เตรียมปรับประมาณการใหม่ จากระดับ 1.5% แหล่งข่าวกล่าวว่าแต่จากเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/2557 มีอัตราการขยายตัวติดลบที่ 0.6% และไตรมาสที่ 2 ก็ยังคงติดลบซึ่งเป็นการติดลบติดต่อกันถึงสองไตรมาส ดังนั้นแม้เศรษฐกิจจะมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนแต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าที่การขยายตัวจะกลับมาอยู่ในระดับ 3 - 4% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวในระดับปกติของประเทศไทย “จีดีพีติดลบติดต่อกันถึง 2 ไตรมาส ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการติดขัดของการเบิกจ่ายงบประมาณ หรือการลงทุนภาครัฐ ซึ่งเมื่อมีการเร่งการเบิกจ่ายก็จะเริ่มเห็นผลที่ชัดเจนในไตรมาสที่ 3 ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มาจากความเชื่อมั่นทั้งการลดลงของนักท่องเที่ยว การชะลอการบริโภค และการชะลอลงทุนของเอกชนก็ต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัว ซึ่งความชัดเจนจะเป็นในช่วงไตรมาสที่ 4 และปี 2558 ดังนั้นแม้จะคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังได้ระดับหนึ่งแต่ก็อาจจะไม่มากพอที่จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเกิน 2%” แหล่งข่าวกล่าว แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้ในกรอบ 1.5 - 2.5% คือการส่งออก หากการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังสามารถทำได้ดีกว่าเป้าหมาย ก็จะส่งผลดีต่อตัวเลขจีดีพีที่อาจสามารถขยายตัวได้ถึง 2% อย่างไรก็ตามการส่งออกจะได้รับแรงกดดันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวตามคาดการณ์ รวมทั้งสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและยุโรปในบางพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ก่อนหน้านี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช.ได้เปิดเผยว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ยังได้รับปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยหากจะให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมายนอกจากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2558 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะต้องเร่งเครื่องขึ้นโดยจะต้องมีมูลค่าการส่งออกไม่น้อยกว่าเดือน มิ.ย.2557 ที่การส่งออกขยายตัวได้ 3.9% จากปีก่อน สรท.คาดส่งออกปีนี้โตแค่1-1.6% นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่าแม้ว่าการส่งออกจะเป็นสัดส่วนในการคำนวณจีดีพีถึงประมาณ 60% แต่มองว่าหากเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้อยู่ในระดับ 2% จะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารเศรษฐกิจในด้านอื่นๆที่มีความสำคัญต่อประเทศด้วย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ชัดเจนเนื่องจากเกิดการจ้างงานและการลงทุนต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 มองว่าหากจะขับเคลื่อนให้ขยายตัวได้ในกรอบ 3% จะต้องมีการส่งออกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก โดย สรท.มองว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1 - 1.6% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในปีนี้ เมื่อแปลกลับมาเป็นค่าเงินบาทถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ดีต่อผู้ส่งออกในประเทศไทยกว่าปีที่ผ่านมาๆ เนื่องจากค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 32 - 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีบางช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าไปอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มองว่าเป็นระยะสั้นและจะกระทบกับผู้ส่งออกในระยะสั้นเท่านั้น หวังส่งออก-ท่องเที่ยวดันจีดีพีโต2% นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่าแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ถึง 4% และช่วยทำให้เศรษฐกิจในปี 2557 ขยายตัวถึง 2% มีความเป็นไปได้เนื่องจากนโยบายของ คสช.ที่มีความชัดเจนในเรื่องของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 ได้มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ค้างท่อของหน่วยราชการต่างๆได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท รวมทั้งการจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้กับชาวนาก็เป็นส่วนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้ อย่างไรก็ตามประเด็นในการบริหารเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะต้องจับตาดูปัจจัยด้านต่างๆอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกที่อาจจะขยายตัวได้เพียง 1.5 -2% เท่านั้น เนื่องจากในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เฉลี่ยมูลค่าการส่งออกไม่มีเดือนไหนที่ทำได้เกิน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นการขยายตัวของการส่งออกได้ 3% ตามเป้าหมายจึงไม่น่าจะสามารถทำได้ “ในช่วงไตรมาส 3 การส่งออกน่าจะเป็นช่วงที่สูงสุด แต่ตลาดบางส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหาในยุโรปและตะวันออกกลาง ขณะที่ในไตรมาสที่ 4 ยอดการสั่งซื้อน่าจะลดลง ตามสถิติการส่งออกจะอยู่ที่ประมาณ 19,000 - 19,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ดังนั้นแนวโน้มเฉลี่ยทั้งปีการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5 - 2% เช่นเดียวกับตัวเลขจีดีพีก็น่าจะอยู่ในกรอบนี้เช่นกัน ยกเว้นว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากเหตุฉุกเฉินและทำให้การส่งออกของไทยไม่ขยายตัว จีดีพีของเราก็อาจขยายตัวไม่ถึง 1% ได้” นายธนวรรธน์ กล่าว Tags : สศช. • จีดีพี • เศรษฐกิจไทย • ธนาคารแห่งประเทศไทย