ผ่าแผนฟื้นฟู "เอสเอ็มอีแบงก์" ยึด "โมเดลแบงก์ชาติ" กำกับดูแล! เป็นข่าวฮือฮาในวงการ “แบงก์ไทย” พอสมควร เมื่อ สองผู้บริหารระดับสูงจาก “วังบางขุนพรหม” ต้องพลิกบทบาทจาก “ผู้กำกับ” มาเป็น “ผู้ปฏิบัติงาน” ในสถาบันการเงินเสียเอง ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ “คสช.” ที่ต้องการให้ “ทั้งคู่” เข้ามาช่วยบริหารงานในสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หนึ่งในนั้นคือ“สาลินี วังตาล”ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายงานกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็น “ประธานกรรมการ” ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ “ธพว.” ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “เอสเอ็มอีแบงก์” ซึ่งถือว่า ภารกิจ “หิน” และ “โหด” เพราะบทบาท “ฟื้นฟู” เอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งเวลานี้เรียกได้ว่าอยู่ในขั้น “โคม่า” เป็น 1 ใน 6 รัฐวิสาหกิจที่ คสช. สั่งเร่งฟื้นฟู โดยปัจจุบัน เอสเอ็มอีแบงก์ มีหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) สูงกว่า 38% ทันทีที่ คสช. ให้ความเห็นชอบและที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ เอสเอ็มอีแบงก์ มีมติแต่งตั้งเธอขึ้นทำหน้าที่ “ประธานกรรมการ” อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา เพียง 1 สัปดาห์หลังจากนั้น สาลินี ได้เรียกประชุมคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูกิจการในทันที โดยแบ่งออกเป็น 4 แนวทาง แนวทางแรก “การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ” สาลินี ได้แบ่งลูกหนี้ตามสถานะ คือ กลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอล และ กลุ่มที่สินเชื่อมีคุณภาพอ่อน ซึ่งในกลุ่มลูกหนี้เอ็นพีแอลนั้น ปัจจุบันมีหนี้รวมกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 38% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ผ่านการปรับหนี้มาแล้วหลายครั้งแต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้ จะใช้วิธีตัดขายออกไป หากกระทรวงการคลังอนุมัติ ซึ่งจะทำให้มูลหนี้ลดเหลือ 1.4 หมื่นล้านบาท แนวทางที่สอง “การบริหารสินเชื่อคุณภาพดี” โดยแนวทางนี้เน้นการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิมผ่านช่องทางสาขา 95 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงต้องมีการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อเพิ่มรายได้ของธนาคาร โดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าตามพันธกิจหลัก คือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวนมากที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนที่พอเหมาะพอควรจากธนาคารพาณิชย์ สาลินี บอกว่า ช่วง 6 เดือนแรกปี 2557 เอสเอ็มอีแบงก์ ได้อนุมัติสินเชื่อใหม่เพียง 5,684 ล้านบาท เนื่องจากความล่าช้าในการพิจารณาสินเชื่อ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการพิจารณาสินเชื่อใหม่ให้มีประสิทธิภาพ และมีกลไกการคานอำนาจที่ได้มาตรฐาน และเป็นไปได้ในการปฏิบัติด้วย เพราะหากเข้มงวดมากไปจะกลายเป็นว่าไม่ได้ช่วยเหลือ เอสเอ็มอี ตามพันธกิจของธนาคาร แนวทางที่สาม “การบริหารสภาพคล่อง” โดยเอสเอ็มอีแบงก์มีแผนปรับโครงสร้างการเงินให้มีสัดส่วนเงินกู้ระยะยาวเพิ่ม โดยขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งการออกหุ้นกู้ดังกล่าวเพื่อบริหารแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการปล่อยสินเชื่อ และยังนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ด้วย ทำให้กระทรวงการคลังไม่ต้องรบกวนเงินภาษีของประชาชน เพื่อจัดสรรงบประมาณมาใช้ในการเพิ่มทุน แนวทางที่สี่ คือ การสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานและจัดโครงสร้างกำลังคนให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบันเอสเอ็มอีบงก์มีพนักงาน 1,637 คน ทางเอสเอ็มอีแบงก์พยายามจัดให้มีพนักงานด้านหารายได้มากขึ้น ซึ่งถ้ากระทรวงคลังอนุมัติให้ตัดหนี้ขายออกไปได้ ก็จะโอนย้ายพนักงานในส่วนดังกล่าวมาเป็นพนักงานสินเชื่อแทน จะเห็นว่าทั้ง 4 แนวทางที่ สาลินี นำมาใช้ฟื้นฟู เอสเอ็มอีแบงก์ หากวางแนวทางเหล่านี้ ทาบกับ “โมเดล” ที่แบงก์ชาติใช้ในการกำกับดูแลแบงก์พาณิชย์แล้ว จะเห็นว่าเป็นโมเดลที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกันมาก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา แบงก์ชาติ ยึดแนวทางปฏิบัติ 3 ข้อหลัก ในการดูแลธนาคารพาณิชย์ โดยข้อแรก คือ ต้องดูแลไม่ให้สถาบันการเงินเป็นต้นเหตุแห่งวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งข้อนี้สะท้อนผ่านการเร่งตัดหนี้เสียที่เกิดเยียวยาออกขายให้มืออาชีพบริหาร เพื่อทำให้ เอสเอ็มอีแบงก์ หลุดพ้นจากภาวะวิกฤติ ข้อสอง คือ ผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสะท้อนผ่านการมุ่งขยายสินเชื่อใหม่ โดยยึดตามพันธกิจของธนาคาร เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างพอเหมาะ สุดท้าย คือ กรณีที่ธนาคารพาณิชย์เกิดปัญหาต้องไม่นำเงินภาษีของประชาชนมาใช้ ซึ่งข้อนี้สะท้อนชัดเจนผ่านความพยายามในการออกหุ้นกู้ของเอสเอ็มอีแบงก์ เพื่อที่กระทรวงการคลังจะได้ไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้ในการเพิ่มทุนให้กับธนาคาร ว่าไปแล้ว การวาง “ยุทธศาสตร์” เพื่อแก้ปัญหา “เอสเอ็มอีแบงก์” ในชั่วโมงนี้ คงไม่มีใครเหมาะสมเกินไปกว่า “สาลินี” เพราะสมัยที่เธอยังนั่งบริหารใน “แบงก์ชาติ” สาลินีถือเป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเป็นผู้บุกเบิกให้ธนาคารพาณิชย์หันมาให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่ได้รับภารกิจในการตรวจสอบการทำงานของแบงก์รัฐ ทีมของสาลินี ก็เป็นทีมที่ตรวจพบต้นตอปัญหาที่ทำให้ เอสเอ็มอีแบงก์ เดินเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ..ดังนั้นงานนี้จึงต้องยกความดีให้ คสช. ที่ใช้คนได้อย่างถูกที่และถูกเวลา เพียงแต่หนทางในการฟื้นฟู เอสเอ็มอีแบงก์ ยังอีกยาวไกล ที่ทำได้ในตอนนี้ คือ รอเวลาเพื่อพิสูจน์ฝีมือของ “สาลินี” ว่าในฐานะ “ผู้ปฏิบัติ” แล้ว จะทำได้ดีอย่างสมัยที่เป็น “ผู้กำกับ” ดูแลธนาคารพาณิชย์หรือไม่! Tags : เอสเอ็มอีแบงก์ • ฟื้นฟู • ธปท. • สาลินี วังตาล