ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์การใช้งานโน้ตบุ๊กในปัจจุบันถูกนำไปใช้เพื่อการพกพามากขึ้น ด้วยการออกแบบตัวเครื่องที่บางเบา ซึ่งแลกมาด้วยสเปคที่ด้อยลง และราคาที่สูงขึ้นเนื่องจากต้องออกแบบตัวเครื่องใหม่บนพื้นที่ที่จำกัดกว่าที่ผ่านมา สำหรับคนที่ไม่ได้ต้องการพกพาโน้ตบุ๊กออกไปใช้งานนอกสถานที่บ่อยครั้ง คงไม่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ และอาจมองโน้ตบุ๊กรุ่นอื่นที่แม้จะไม่ปราดเปรียวเท่า แต่ก็ได้สเปคต่อราคาที่คุ้มค่ากว่าอยู่ ทว่าแบรนด์ที่ทำโน้ตบุ๊กประเภทนี้ก็ดูเหมือนจะน้อยลงไปทุกวันๆ แต่ผู้ผลิตพีซี โน้ตบุ๊กรายใหญ่อย่าง HP ดูเหมือนจะยังใส่ใจกับตลาดทุกกลุ่ม พร้อมๆ กับการเปิดตัวชิปรุ่นใหม่รหัส Haswell Refresh เมื่อไม่นานมานี้ HP ก็ปล่อยโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ออกมาหลายรุ่น หนึ่งในนั้นมี HP 14 (r004tx) โน้ตบุ๊กตัวแรง มีการ์ดจอแยกในราคาเบาๆ ด้วยค่าตัวหมื่นปลายๆ HP 14 (r004tx) จัดว่าให้สเปคมาคุ้มราคาเอาเรื่อง ว่ากันคร่าวๆ ดังนี้ครับ * หน้าจอขนาด 14” ความละเอียด 1366x768 พิกเซล * ซีพียูอินเทล Core i5-4210U สองคอร์สี่เธรดความถี่ 1.7GHz * การ์ดจอแยก NVIDIA GeForce 820M รหัส Fermi, VRAM 2GB รองรับทั้ง CUDA, DX11, Optimus และ PhysX * HDD 500GB, RAM 4GB * มี USB 3.0 หนึ่งพอร์ต และ 2.0 อีกสองพอร์ต, HDMI และช่องอ่านการ์ด SD * มีไดร์ฟดีวีดีในตัว * แบตเตอรี่ 4 เซลล์ หนัก 2.05 กิโลกรัม ดูสเปคคร่าวๆ HP 14 (r004tx) จัดว่าให้มาเหลือเฟือสำหรับใช้งานทั่วไป ถ้าอยากทำให้แรงกว่านี้สามารถเพิ่มแรมได้อีกหนึ่งช่อง และเปลี่ยน HDD เป็น SSD เสริมความแรงได้อีกระดับ โดยขนาดของ SSD ต้องหนาไม่เกิน 9.5 มม. มาดูตัวเครื่องกันเถอะ ตัวเครื่องของ HP 14 มาในทรงโน้ตบุ๊กฝาพับปกติ ตัวเครื่องสีแดงเข้มตัดกับกรอบหน้าจอสีดำ ตัวเครื่องจะหนา และหนักกว่าโน้ตบุ๊กทรงบางที่พบเห็นได้บ่อยในปัจจุบันอยู่พอสมควร แต่ข้อดีคือมีพื้นที่ระบายความร้อนในตัวเครื่องมากกว่า โดยรวมแล้วขณะใช้งานเครื่องจะไม่ร้อนมาก หน้าจอ HP 14 แม้ความละเอียดจะไม่สูงเท่าโน้ตบุ๊กไฮเอนด์ในตลาด แต่ก็สว่างเอาเรื่องเมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊กในราคาใกล้เคียงกัน สีสันจัดว่าธรรมดาออกไปทางสีจืดไป (สามารถปรับได้จากซอฟต์แวร์) แกนพับของตัวเครื่องขนาดใหญ่มาก เมื่อเอนพับแล้วล็อกหน้าจอได้แข็งแรงดีไม่เอนง่ายๆ แต่ก็แน่นมากจนไม่สามารถเปิดเครื่องด้วยมือเดียวได้เช่นกัน ข้างๆ กันจะเห็นยางกันหน้าจอกระแทก ซึ่งมีรอบกรอบหน้าจอทั้งบนล่างซ้ายขวา ด้านบนเป็นกล้องหน้าสำหรับใช้งานวิดีโอคอลระดับ HD ถ่ายภาพนิ่ง และวิดีโอได้สูงสุด 720p ทดลองใช้ดูแล้วได้ภาพออกโทนมืดในแสงปกตินิดหน่อย แต่ใช้งานได้ไม่มีปัญหา การจัดวางปุ่มของคีย์บอร์ดจะมาแนวทางเดียวกับโน้ตบุ๊กหน้าจอใหญ่กว่า 13” คือโยกปุ่ม Home, Del ฯลฯ มาไว้ด้านขวาทั้งหมด และปรับปุ่ม F1-F12 เป็นปุ่มทางลัด (Action Key) ซึ่งสามารถปรับกลับเป็นปุ่ม Fn ปกติได้ในไบออสครับ ด้วยความที่ไม่ต้องทำตัวเครื่องให้บาง คีย์บอร์ดของ HP 14 จึงมีความสูงของแต่ละคีย์กำลังพอเหมาะพิมพ์ต่อเนื่องได้โดยไม่เมื่อย ที่พื้นผิวเป็นแบบด้านจึงไม่เปื้อนให้เห็นง่ายๆ ความลำบากจึงตกไปอยู่ที่การจัดวางปุ่มที่เพิ่มแถบขวาสุดเข้ามา บ่อยครั้งที่พยายามกด backspace แต่ไปโดนปุ่ม home เสียแทนครับ คงต้องปรับตัวพอสมควรสำหรับคนที่ใช้คีย์บอร์ดแบบเดิมมาก่อน ปุ่มเปิดเครื่องถูกวางไว้เหนือคีย์บอร์ดด้านซ้าย ซึ่งเป็นตำแหน่งมาตรฐานของโน้ตบุ๊ก HP อยู่แล้ว ทัชแพดของ HP 14 เป็นแบบด้าน รองรับการใช้งาน gesture ร่วมกับ Windows 8.1 ได้ทุกท่วงท่าครับ ขนาดของทัชแพดค่อนข้างใหญ่ ค่ามาตรฐานตั้งมาค่อนข้างช้าไปหน่อย ใครที่ซื้อมาแนะนำให้ปรับทัชแพดให้ไวขึ้นอีกนิดหน่อยตามถนัดครับ ปิดฝาตัวเครื่องจะเจอกับฝาหลังมันวาว สีแดงเข้มแบบเดียวกับด้านในรอบคีย์บอร์ด ขอบมนทำให้ถือได้ง่ายไม่แทงมือ แต่ต้องระวังรอยขีดข่วนกันหน่อยครับ หันมาด้านซ้ายจะเจอกับพอร์ตหลากหลายทั้ง VGA, HDMI, RJ-45, USB 3.0 และพอร์ตเสียบหูฟัง 3.5 มม. สำหรับคนที่พกไปนำเสนอนาน เรียกได้ว่ามีให้ครบไม่ต้องเตรียมหัวแปลงไปด้วยแล้วครับ (หรือจะหยิบหัวแปลงเป็น DVI กันพลาดก็ยังไหว) ฝั่งขวาจะเหลือแค่พอร์ต USB 2.0 อีกสองพอร์ต และสิ่งที่ไม่ค่อยเห็นในโน้ตบุ๊กสมัยนี้อย่างไดร์ฟดีวีดี แบบกดแล้วเด้งถาดสำหรับใส่แผ่นดิสก์ออกมา ซึ่งผมว่าดีกว่าแบบดูดแผ่นที่เวลาใช้ไปนานๆ แล้วมักจะอ่านไม่ค่อยได้ เผลอๆ แผ่นค้างอีก พลิกไปใต้เครื่องเป็นพลาสติกด้านสีดำแบบเดียวกับกรอบหน้าจอ ตรงกลางเป็นช่องระบายอากาศที่สอง และช่องสำหรับถอดเปลี่ยนแรมและ HDD ครับ โดยรุ่นนี้รองรับแรมสูงสุดสองช่อง ความจุสูงสุด 8GB (4GBx4GB) ส่วน HDD รองรับที่ความหนา 7 มม. และ 9.5 มม. ครับ ส่วนด้านล่างที่เห็นสี่ร่อง นั่นคือลำโพงครับ เสียงดังมากๆ ดังกว่าบางรุ่นที่เอาลำโพงมาไว้ใต้หน้าจอด้านบนเสียอีก ส่วนเรื่องมิติของเสียงจะออกไปทางแบนราบ เน้นช่วงกลาง ส่วนสูง และต่ำหายเรียบครับ แบตเตอรี่ 4 เซลล์ที่ให้มาสามารถถอดได้ด้วยการปลดล็อกด้านซ้ายก่อน แล้วจึงมาเลื่อนด้านขวาเพื่อถอดออกมาครับ ถ้าล็อกอยู่จะแน่นหนามาก คิดว่าถ้าทำหล่น แบตเตอรี่ก็คงไม่หลุดออกมา (แต่ไม่ได้ลองนะ8ครับ ...) ปิดท้ายด้วยส่วนของฮาร์ดแวร์ด้วยช่องปริศนาที่มารู้ทีหลังว่าคือช่องอ่านการ์ด SD อยู่ด้านหน้าของตัวเครื่อง เยื้องมาด้านล่างครับ สรุปในส่วนของฮาร์ดแวร์ HP 14 เรียกว่าทำมาในระดับมาตรฐาน งานประกอบไม่โดดเด่นนัก ยังมีจุดที่ขยับได้ และรู้สึกไม่แน่นหนาอยู่บ้าง น้ำหนักตัวเครื่องจัดว่าหนักเอาเรื่องกับตัวเลข 2 กก. เศษ โชคดีที่เครื่องไม่แหลม พอยกไปไหนมาไหนได้โดยไม่เจ็บมือครับ ซอฟต์แวร์ ด้วยราคาของ HP 14 ที่ค่อนข้างถูกมาก ระบบปฏิบัติการที่มากกับตัวเครื่องจึงเป็น DOS สิ่งแรกที่ต้องทำหลังจากซื้อเครื่องมาคือการหาระบบปฏิบัติการให้เจ้าเครื่องนี้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ตามคู่มือของ HP ระบุว่าเจ้ารุ่นนี้รองรับทั้งสิ้นสามระบบปฏิบัติการคือ Windows 8.1, Windows 7 และ Linux ครับ ในแรกเริ่มของการทดสอบ ได้ลองติดตั้ง Ubuntu เพื่อใช้งานกับ HP 14 ผลปรากฎว่าสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีปัญหามารบกวนทั้งการ์ดจอ, Wi-Fi และบลูทูธ ตรงนี้น่าประทับใจมากๆ ทดสอบกับ Ubuntu เสร็จแล้วก็ลองลง Windows 8.1 ดูบ้าง หลังจากลงไดร์เวอร์ครบแล้ว (ซึ่งต้องศึกษาสเปคมาให้ดี เพราะบางโมเดลใช้ฮาร์ดแวร์คนละตัวกันครับ) การใช้งานร่วมกับ Windows 8.1 อาจจะไม่สมบูรณ์นัก เนื่องจากไม่มีจอสัมผัส แต่ gesture ต่างๆ ที่ใช้งานผ่านทัชแพดนั้นทำได้ครบถ้วนดี ปัญหาที่เจอคือมักเกิดอาการหลับไม่ตื่นอยู่บ้าง ต้องกดปุ่มเปิดเครื่องซ้ำอีกครั้งเพื่อให้เครื่องตื่นขึ้นมา การเปิดเครื่องใช้เวลาประมาณ 50-60 วินาทีครับ สำหรับผู้ใช้ Windows จะมีตัวเลือกในการใช้งานเยอะกว่า Ubuntu พอสมควรเนื่องจาก HP จะมีโปรแกรมในชุดสำหรับปรับแต่งเครื่อง ให้ความช่วยเหลือ และควบคุมการบริโภคพลังงานอย่าง HP AC Power Control Utility, HP Utility Center และ HP Support Assistant มาให้ด้วยครับ ประสิทธิภาพ และอายุการใช้งานแบตเตอรี่ แม้ว่าจะราคาถูก แต่สเปคของ HP 14 ก็จัดมาให้แบบเกินคุ้ม ซีพียู Core i5-4210U แม้ว่าจะเป็นรุ่นประหยัดพลังงาน (TDP เพียง 15W) ใช้งานทั่วไปทั้งท่องเบราว์เซอร์พร้อมกันประมาณ 15-20 แท็บบน Chrome ได้สบายๆ (ถ้ามากกว่านี้อาจต้องเพิ่มแรมอีก) ข้อจำกัดในการใช้งานส่วนมากไปอยู่ที่ความเร็วการอ่านเขียนของ HDD ซึ่งช้าไปแล้วในปัจจุบัน ถ้าอยากให้ทำงานรวดเร็วคล่องแคล่วกว่านี้คงต้องเปลี่ยนไปเป็น SSD หรือ SSHD แทนครับ ฝั่งของกราฟิก แม้ว่าจะเป็นการ์ดจอแยกตัวล่างอย่าง GeForce 820M แต่ก็เป็นการ์ดจอบนสถาปัตยกรรมใหม่สุดของ NVIDIA ในรหัส Fermi แถมยังมาพร้อมกับ VRAM มากถึง 2GB ถ้าหากเล่นเกมสไตล์ MOBA อย่าง Dota 2, HON หรือ LOL สามารถเล่นได้ลื่นๆ หรือแม้แต่เอาไปใช้ในงานตัดต่อวิดีโอ และแต่งภาพก็ทำได้รวดเร็วเช่นกัน (ถ้าอยากเร็วกว่านี้คงต้องเพิ่มแรมอีก) เวลาเล่นเกมหนัก พัดลมจะทำงานหนักมาก เสียงดังพอสมควร แต่เครื่องไม่ร้อนมากครับ อายุการใช้งานแบตเตอรี่ของ HP 14 แม้ว่าให้แบตเตอรี่มากลางๆ ที่ 4 เซลล์ แต่ด้วยสถาปัตยกรรม Haswell และยังเป็นรุ่นประหยัดไฟทำให้ใช้งานทั่วไปบนแบตเตอรี่เปิดไฟหน้าจอครึ่งหนึ่ง และต่ออินเทอร์เน็ต ก็ยังใช้งานได้ราว 4:30-5:00 ชั่วโมงเลยทีเดียว ในส่วนของบริการหลังการขาย แม้ว่า HP 14 จะค่าตัวไม่สูงแต่ก็สามารถใช้บริการ HP Smart Friend ที่ให้ผู้ใช้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อแก้ปัญหาได้ 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งบริการรับส่งเครื่องถึงบ้านทั่วประเทศ และการช่วยเหลือจุกจิกอื่นๆ อย่างการกู้ข้อมูล ซ่อมด่วน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ให้บริการเป็นภาษาไทยครับ สรุป สำหรับคนที่ต้องการโน้ตบุ๊กราคาย่อมเยาไม่เกินสองหมื่น (ราคาของ HP 14 อยู่ประมาณ 18,000-19,000 บาท) แต่อยากได้สเปคแรง โดยการใช้งานไม่เน้นพกพาบ่อยนัก เครื่องนี้เรียกได้ว่าตอบโจทย์การใช้งานอย่างดี ทั้งหน้าจอขนาดใหญ่ ซีพียูแรงเกินราคา และมีการ์ดจอแยก ข้อดี คุ้มค่าเมื่อเทียบราคาต่อสเปค เครื่องไม่ร้อนมาก แม้ยามใช้งานหนัก หน้าจอสว่าง มุมมองกว้าง มีการ์ดจอแยก ข้อเสีย พัดลมเสียงดัง การจัดวางปุ่มคีย์บอร์ดที่ต้องใช้เวลาปรับตัว หน้าจอสีซีด ตัวเครื่องใหญ่ หนักเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นในตลาด HP, Notebook, Advertorial, Review