ไฟเขียวโครงสร้างพื้นฐานแสนล.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 15 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ประจิน"เคาะงบโครงสร้างพื้นฐานแสนล้าน ระยะเร่งด่วน เดินหน้าก่อสร้างรถไฟรางคู่

    2เส้นทาง "จิระ-ขอนแก่น" และ "ประจวบฯ -ชุมพร" ขณะสศช.หวังเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้น จากการลงทุนภาครัฐ เตรียมนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวต่อคสช. เชื่อมโยงแผนพัฒนาฯฉบับ 12-13

    คณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง เคาะงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปี 2558 วงเงินรวม 6.7 หมื่นล้านบาท ในขณะร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จะเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสัปดาห์หน้า แต่เมื่อรวมกับวงเงินที่เหลือในงบประมาณปี 2557 อีก 3.2 หมื่นล้าน รวมแล้วจะมีงบประมาณรวม 9.9 หมื่นล้านบาท

    งบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน เป็นไปตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เน้นไปที่ระบบรถไฟรางคู่ ถนนและขยายท่าอากาศยาน โดยตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงออกไป

    พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการดังกล่าว ว่ามีมติอนุมัติแผนงานเร่งด่วนภายใต้งบประมาณปี 2558 จำนวน 6.7 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้ในโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางบก ทางราง ทางน้ำ เช่น สร้างท่าเรือในแม่น้ำ รวมถึงการขยายท่าอากาศสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง

    นอกจากนี้ ได้จัดงบสรรประมาณเพื่อศึกษาโครงการรถไฟทางคู่ระบบรางขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร บางส่วนใหม่ เพราะต้องมีการเปลี่ยนที่ตั้งของสถานีและแนวถนนที่จะมาเชื่อมต่อเพื่อให้สอดคล้องเป็นโครงข่ายเดียวกัน รวมถึงศึกษาถึงกระทบต่อการเวนคืนที่ดิน แต่ยังจะใช้เส้นทางเดิมที่เคยศึกษาไว้

    ส่วนงบประมาณที่กระทรวงคมนาคมขอเพิ่มเติมอีก 5,000 ล้านบาท ในปี 2558 ยังต้องรอการแปรญัตติในที่ประชุมงบประมาณว่าจะได้หรือไม่ เพราะงบประมาณในปี 2558 มีจำนวนจำกัด ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาและจัดทำแผนแม่บท (Master plan) ของยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ ระหว่างปี 2558-2565 เพื่อนำมาเสนอในการประชุมอีก 2 ครั้ง โดยคาดว่าการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปลายเดือนนี้

    ส่วนสาเหตุที่ลาออกจากคณะกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) เนื่องจากอยู่ในคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ที่มีหน้าที่กำกับ ปรับปรุงโครงสร้างและกติกาของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้ เมื่อวางพื้นฐานด้านกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ และแผนฟื้นฟูให้กับการบินไทยเรียบร้อย ก็ให้คณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่รับช่วงต่อ จึงตัดสินใจลาออก ส่วนเป็นการลาออกเพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่นั้น พล.อ.อ.ประจิน ปฏิเสธว่า "ไม่ทราบ"

    นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่าในปี 2558 รฟท. ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างรถไฟรางคู่ในเส้นทางเดิมจำนวน 2 เส้นทาง จากทั้งหมด 6 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางจิระ-ขอนแก่น และเส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ส่วนอีก 3 เส้นทาง อยู่ระหว่างการของบประมาณเพิ่มเติม และอีก 1 เส้นทาง คือ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์อยู่ระหว่างการออกแบบ

    นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าแผนโครงสร้างพื้นฐานเร่งด่วน เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า เป็นต้น ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2558 จำนวน 6.7 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณของกระทรวงคมนาคมทั้งสิ้น 1.4 แสนล้านบาท

    นอกจากนี้ยังได้รับงบประมาณที่เหลือในปี 2557 อีก 3.2 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 9.9 หมื่นล้านบาท งบประมาณดังกล่าวจะใช้เชื่อมโยงท่าเรือ ท่าอากาศสุวรรณภูมิ ด่านชายแดน 6 แห่ง และโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล

    สศช.หวังงบภาคหนุนศก.ครึ่งปีหลัง

    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องพึ่งพาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายส่วน โดยเฉพาะการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐปี 2558 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เร่งให้หน่วยงานต่างเบิกจ่ายงบประมาณตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2558 ขณะที่การท่องเที่ยว คสช.ให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและไต้หวัน

    ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คสช.ก็ได้แก้ไขอุปสรรคในการลงทุนเช่น การแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาต ร.ง.4 รวมทั้งการเร่งรัดการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมทั้งการติดตามให้ภาคเอกชนที่ได้รับการสนับสนุนมีการลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้เม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง

    “ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจที่จะต้องมีการเร่งแก้ไขและเสนอเป็นแผนงานให้กับรัฐบาลต่อไปในการดำเนินการได้แก่ การเร่งแก้ไขการส่งออกที่มีการขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนอีกเรื่องที่ต้องมีการเร่งรัดคือเรื่องการจัดตั้งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้แล้วเสร็จ เนื่องจากขณะนี้ใกล้เวลาที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพิเศษซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการค้าชายแดนขยายตัวได้ปีละ 20% ตามเป้าหมายที่วางไว้” นายอาคมกล่าว

    เตรียมเสนอมาตรการศก.ระยะยาว

    นายอาคมกล่าวต่อไปว่าขณะนี้ สศช.ได้รับมอบหมาย จากหัวหน้า คสช. ให้รวบรวมข้อมูลและผลงานเกี่ยวกับมาตรการ และนโยบายเศรษฐกิจ ที่ คสช.ได้ดำเนินการมาตั้งแต่หลังวันที่ 22 พ.ค.2557 ที่ คสช.ได้เข้ามาบริหารประเทศ โดยหลังจากนี้ คสช.จะได้เตรียมที่จะนำเสนอแผนพัฒนาศักยภาพประเทศให้กับรัฐบาลซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12-13 ซึ่งหัวหน้า คสช.อยากเห็นการทำแผนพัฒนาฯที่ต่อเนื่องระยะยาว เพื่อให้การพัฒนาประเทศสามารถผลักดันนโยบายสำคัญด้านต่างๆได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

    นายอาคมกล่าวว่าสำหรับแผนพัฒนาศักยภาพประเทศจะเป็นโรดแมพระยะยาวคล้ายกับที่ สศช.เคยจัดทำวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2027 ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาประเทศและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต ซึ่ง สศช.จะเสนอให้มีการพัฒนาศักยภาพประเทศโดยมุ่งเน้นใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อยกระดับการพัฒนาโลจิสติกส์และลดต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการ

    2. การพัฒนาข้อกฎหมาย กฎระเบียบและแก้ไขปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินการทำธุรกิจ 3.การพัฒนาคุณภาพของคน แรงงาน และผู้ประกอบการ 4.การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม การศึกษา วิจัยและพัฒนา และ 5.การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ทั้งการผลิตและภาคบริการที่ต้องมีการเพิ่มศักยภาพทุกกลุ่ม ทั้งอุตสาหกรรมการเกษตรและการแปรรูป อุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยสนับสนุนการรวมตัวของผู้ประกอบการในรูปแบบคลัสเตอร์

    "โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำการตลาด และการโดยอาศัยการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการในการช่วยเหลือกันให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งห่วงโซ่การผลิตซึ่งจะได้ประโยชน์ร่วมกันมากกว่าการมุ่งแข่งขันระหว่างธุรกิจ"

    เสนอตั้งกรรมการขีดแข่งขัน

    นายอาคม กล่าวว่าสศช.ได้เสนอต่อ คสช.ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ชุดใหม่ให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.2557เพื่อให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่โดยตรงในการผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมในคลัสเตอร์ต่างๆ โดยคณะกรรมการชุดนี้อาจมี หัวหน้า คสช.หรือนายกรัฐมนตรี เป็นประธานก็ได้ โดยอาจมีการผลักดันบางคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพให้สำเร็จเป็นรูปธรรมก่อน เพื่อเป็นต้นแบบให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อไป เช่น คลัสเตอร์ยานยนต์และการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ คลัสเตอร์เกษตกรกล้วยไม้ คลัสเตอร์ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

    "การรวมตัวกันพัฒนาในรูปแบบคลัสเตอร์เป็นรูปแบบที่เราต้องการให้เกิดขึ้น เพราะการรวมตัวกันของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง แต่ไม่ใช่ให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อมีอำนาจต่อรองกับภาครัฐ แต่เป็นการรวมตัวเพื่อพัฒนาร่วมกัน ทำผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ และมีงานวิจัยมารองรับเพื่อให้เกิดการพัฒนา"นายอาคมกล่าว

    ด้านนายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าปัจจุบันการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มีการรวมกลุ่มและช่วยเหลือกันในรูปแบบคลัสเตอร์เริ่มมีมากขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ตามภาคเอกชนต้องการข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลทางการตลาดและการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ

    นอกจากนี้การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ควรจะดูกระแสความต้องการสินค้าและบริการของโลกด้วย เช่น ในขณะนี้กระแสการผลิตสินค้าและบริการเพื่อรองรับสังคมของผู้สูงอายุกำลังมีการเติบโต ก็ควรมีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมนี้ขึ้นในประเทศไทยด้วยโดยเป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการที่มีความหลากหลาย เช่น โรงพยาบาล อาหารเพื่อสุขภาพ ยารักษาโรค การผลิตเสื้อผ้าสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

    Tags : โครงสร้างพื้นฐาน • คมนาคม • พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง • รถไฟรางคู่ • ประเสริฐ อัตตะนันทน์ • สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ • อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้