ซูเปอร์บอร์ดตีกลับแผนฟื้นฟู 4รัฐวิสาหกิจ"ทีโอที-กสท.-เอสเอ็มอีแบงก์-อิสลามแบงก์" สอบสถานะกิจการใน3เดือน พร้อมกับอีก 3 รัฐวิสาหกิจ "การบินไทย-ขสมก.-รฟท." ก่อนกำหนดแนวทางแก้ปัญหา ด้าน"บัณฑูร"ระบุต้องกำหนดกติกาให้ชัด กำกับดูแล ขณะบอร์ดขสมก.ไฟเขียวประมูลรถเอ็นจีวี 3 พันคัน ในเดือนต.ค.นี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานวานนี้ (14 ส.ค.) ว่าปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในข่ายต้องส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้กับ คนร.พิจารณาจำนวน 7 แห่ง โดยในที่ประชุมฯในครั้งนี้ได้มี 4 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) นำเสนอแผนการฟื้นฟูกิจการให้ คนร.พิจารณา อย่างไรก็ตามคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ ที่มีพล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก ระบุว่าการพิจารณาแผนแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ มีความจำเป็นต้องชัดเจนถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ของข้อมูลทรัพย์สินและข้อพิพาททางกฎหมายของแต่ละรัฐวิสาหกิจก่อน ดังนั้นที่ประชุมฯยังไม่มีการพิจารณาแผนฟื้นฟูดังกล่าวแต่มีมติให้รัฐวิสาหกิจที่เข้าข่ายต้องดำเนินการฟื้นฟูกิจการ ทั้ง 7 แห่ง ซึ่งรวมทั้งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อทำการตรวจสอบสถานะของกิจการ (Due Diligence) ที่แท้จริงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วยทรัพย์สิน หนี้สิน รวมทั้งข้อกำหนดทางกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและหนี้สินจากระบบสัมปทานที่รัฐวิสาหกิจนั้นๆถือครองอยู่ นายกุลิศ กล่าวว่ากำหนดให้มีการศึกษาให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน และส่งให้ คนร.พิจารณาควบคู่กับแผนฟื้นฟูองค์กรเพื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของแผนของแต่ละหน่วยงานต่อไป โดยมอบหมายให้ทาง สคร.ประสานกับคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจในการปรับปรุงแผนฟื้นฟูต่อไป สำหรับ ขสมก.ที่มีแผนการจัดซื้อรถโดยสารใหม่จำนวนมากเพื่อทดแทนรถเดิม แต่ยังประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง คนร.มีมติให้ ขสมก.จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาภายใน 15 วัน “แต่ละรัฐวิสาหกิจมีสถานะทางการเงิน หนี้สิน ทรัพย์สิน และปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากจะให้รัฐช่วยเหลือแก้ไขก็ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เหมือนกับจะให้หมอรักษาโรคก็ต้องมีการวิเคราะห์โรคก่อนเพื่อจะให้ยาที่ถูกต้อง หรือหากไม่สามารถให้ยาได้ก็ต้องผ่าตัด เหมือนกับการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาที่แตกต่างกันการแก้ไขปัญหาก็ต้องแตกต่างกัน” นายกุลิศ กล่าว สั่งทำหลักเกณฑ์เงินบริจาครสก. นายกุลิศ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมฯยังมีมติมอบหมาย สคร.ไปจัดทำหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินบริจาคของรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน และนำเสนอ คนร.พิจารณา หลังจากที่ผ่านมาพบว่า รัฐวิสาหกิจได้มีการมอบเงินบริจาคให้แก่องค์กรต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนกิจกรรม CSR หรือกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละปีเป็นจำนวนมากจึงควรมีการพิจารณาหลักเกณฑ์เรื่องนี้ให้ชัดเจน สำหรับในส่วนของการพิจารณาปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารและคณะกรรมการในบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ คนร.ได้เห็นชอบการตัดสิทธิประโยชน์ตามที่มีรัฐวิสาหกิจบางแห่งเสนอ คือให้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการของรัฐวิสาหกิจ และสิทธิประโยชน์พิเศษ เช่น ค่ารับรองต่างๆ และให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายและวงเงินที่ชัดเจนสำหรับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เป็นรายเดือน ซึ่งรวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ค่าเบี้ยประชุม หรือ รถประจำตำแหน่ง เป็นต้น หั่นงบลงทุน7.7พันล้าน ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่าที่ประชุมฯได้มีมติเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมงบลงทุนระหว่างปี 2557 ของรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง โดยปรับลดวงเงินเบิกจ่ายลงทุนในปี 2557 จาก 54,100 ล้านบาท เหลือ 46,333 ล้านบาท หรือ ปรับลด 7,767 ล้านบาท พร้อมทั้งได้เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมงบลงทุนระหว่างปีให้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้ดำเนินการพิจารณางบลงทุนอีกครั้ง นอกจากนี้ที่ประชุมฯยังได้รับทราบการดำเนินการของคณะอนุกรรมการ 2 ด้าน ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ ที่มีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานอนุกรรมการ ซึ่งคณะอนุกรรมการได้รายงานความคืบหน้าในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจว่า ภายในเดือน ก.ย.2557 ว่าจะสามารถจัดทำรายงานเกี่ยวกับการกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ที่จะมีต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต 2.คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับดูแลและระบบบรรษัทภิบลของรัฐวิสาหกิจ ที่มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เป็นประธานอนุกรรมการ ได้รายงานว่าคณะอนุกรรมการฯจะมีการนำเสนอมาตรการเร่งด่วน เช่น การปฏิรูปการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs)การสร้างความโปร่งใสของการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ แนวทางการแต่งตั้งกรรมการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการวางระบบจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสของรัฐวิสาหกิจ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย. 2557 "บันฑูร"ชี้ต้องกำหนดกติกาให้ชัด นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในฐานะคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดว่าการดูแลรัฐวิสาหกิจเป็นประเด็นสำคัญกับระบบเศรษฐกิจ และการให้บริการกับประชาชน ที่ผ่านมาเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบรัฐวิสาหกิจมีจำนวนมาก จึงต้องติดตามว่า มีการต่อท่อไปไหนหรือไม่ บนสมมติฐานว่ารัฐวิสาหกิจนั้น ยังมีอยู่นโยบายการกำกับกิจการต้องไม่ทำให้เกิดการรั่วไหลและบริการประชาชนได้ดี สำหรับการรัฐวิสาหกิจบางแห่ง ที่มีผลขาดทุนนั้นขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของการสร้างกำไรในรูปตัวเงิน และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ดังนั้นต้องเข้าไปดูว่า ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุของการรั่วไหล หรือเป็นเพราะรายได้ที่เข้ามาต่ำเกินไป ในส่วนของธนาคารเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่เชิงนโยบายเศรษฐกิจ ในส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถลงไปทำได้ เพราะมีความเสี่ยง เช่นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่ทำหน้าที่ในการรับความเสี่ยงลูกค้ากลุ่มเกษตรกร แต่ทำอย่างไรที่จะคุ้มค่าความเสี่ยงและไม่เกิดการรั่วไหล "ซูเปอร์บอร์ดคงต้องถกให้ชัดว่าวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งเพื่ออะไร และกำกับกติกาให้การจัดการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เช่นกรณีของธนาคารออมสินที่เคยมีวัตถุประสงค์ชัดในขณะนี้ก็เริ่มจะเป๋ไป" ขสมก.ประมูลรถเมล์เอ็นจีวีต.ค.นี้ นางปราณี ศุกระศร กรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) กล่าวว่าการประชุมคณะกรรมการ ขสมก. ที่มีพลตำรวจเอก เอกอังสนานนท์ เป็นประธาน เห็นชอบให้เปิดประมูลโครงการจัดซื้อรถเมล์ใหม่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) เป็นเชื้อเพลิง จำนวน 3,183 คัน ด้วยวิธีอิเล็คทรอนิค หรือ อีอ็อคชั่น ในเดือน ก.ย. นี้ โดยตั้งราคากลางสำหรับรถเมล์ปรับอากาศที่ 4.5 ล้านบาทต่อคัน และรถเมล์ร้อนอยู่ที่ 3.8 ล้านบาท/คัน เมื่อได้เอกชนที่ชนะการประมูลแล้วจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายได้ในเดือนต.ค. จากนั้นจะทยอยส่งมอบรถเมล์งวดแรกในเดือน ม.ค. 2558 แบ่งเป็นรถเมล์ปรับอากาศจำนวน 489 คัน และที่เหลือจะทยอยส่งมอบตั้งแต่เดือน เม.ย. จนครบทั้งหมดภายในปี 2558 ส่วนแหล่งเงินที่ใช้ในโครงการจะมาจากเงินกู้ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ จัดเตรียมไว้ในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 13,263 ล้านบาท Tags : กุลิศ สมบัติศิริ • รัฐวิสาหกิจ • การบินไทย • ขสมก. • รฟท. • สคร. • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ • บัณฑูร ล่ำซำ • คสช.