เล็งส่งที่ปรึกษาการเงินรสก. ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 14 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สภาธุรกิจตลาดทุนฯ มั่นใจนักลงทุน"ในประเทศ-ต่างชาติ" สนใจกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

    เตรียมส่ง"บลจ.-เอฟเอ" ช่วยรัฐวิสาหกิจจัดตั้ง ด้าน"ก.ล.ต." เตรียมหารือ "เอโอที"ศุกร์นี้ หวังหนุนลงทุนโดยเร็ว พร้อมเตรียมศึกษาสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันตก

    นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และรองประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า สภาธุรกิจตลาดทุนเตรียมส่งที่ปรึกษาทางการเงิน(เอฟเอ) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.) เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน(อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

    การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นนโยบายหนึ่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นอกเหนือจากการใช้เงินกู้

    "โครงสร้างของกองทุนของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเหมือนกัน เพราะลักษณะกิจการและการรับรู้รายได้แตกต่างกัน ทางเอฟเอและบลจ.จะเข้าไปช่วยให้คำปรึกษา ซึ่งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้คงจะเปิดขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศด้วย เพราะเม็ดเงินลงทุนสูง เฉพาะนักลงทุนในประเทศอาจจะรองรับได้ไม่หมด แต่ควรจะมีกำหนดเพดานการถือหุ้นไว้ หากเป็นกิจการที่เกี่ยวกับความมั่นคง ภาครัฐก็อาจจะเป็นผู้ลงทุนเอง รัฐก็ต้องมาดูว่าอะไรที่จะเปิดให้เอกชนร่วม และอะไรที่ควรจะเป็นของรัฐอยู่" นางภัทธีรา กล่าว

    ต่างชาติสนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

    นางภัทธีรา กล่าวอีกว่านักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนใจลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะสินทรัพย์มีรายได้ที่แน่นอนในระยะยาว เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนยาว และช่วยสนับสนุนการเติบโตของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ

    นอกจากนี้การเข้าไปลงทุนกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในสายตาของนักลงทุนอาจจะน่าสนใจกว่าการที่รัฐวิสาหกิจนั้นๆ แปรรูปแล้วเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะสามารถเลือกลงทุนเฉพาะโครงการที่สนใจได้ การลงทุนในบริษัทโดยตรงอาจจะไม่ตรงกับความต้องการของนักลงทุน

    "การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องการและอยากให้เกิดมานานแล้ว โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ หากมีกำหนดเวลา หรือโรดแมพที่ชัดเจน ทุกคนสามารถคาดการณ์ผลที่ออกมาได้ ก็จะช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น และทำให้ประเทศไทยที่หยุดนิ่งไป กลับมาน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนมากขึ้น"

    กองทุนอินฟราฯตปท.ผลตอบแทน5%

    สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน แล้วแต่ประเภทของกิจการ และควรจะดูมาตรฐานในต่างประเทศ โดยในต่างประเทศหากเป็นกิจการที่มีรายได้ที่แน่นอนในระยะยาว มีความเสี่ยงต่ำ อัตราผลตอบแทนก็ไม่สูง อยู่ในระดับ 5% บางกองทุนอยู่ในระดับ 7-8%

    นางภัทธีรา กล่าวต่อว่า ประเภทกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่อยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว คือกิจการทางด้านการขนส่งแบบครบวงจร ทั้งการพัฒนารถไฟ ไม่จำเป็นต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง เป็นรถไฟรางคู่ก็ได้ ให้สามารถช่วยกระจายความเจริญไปสู่ต่างจังหวัด และเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านได้ รวมถึงการพัฒนาด้านการบิน และท่าเรือ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า รวมถึงการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการทางด้านน้ำ

    "ขณะนี้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และเชื่อว่าหน้าตาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่จะมีส่วนในการเพิ่มความเชื่อมั่น ที่ผ่านมาก็พอจะรับรู้ข่าวไปบ้างแล้ว ทำให้ตลาดไม่ค่อยตื่นตัวในเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่าในภาวะแบบนี้จะต้องเลือกคนที่ดีที่สุด และมีโอกาสเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ"

    ต่างชาติสนลงทุนโครงการรัฐ

    ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่าจากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติในช่วงที่ผ่านมาพบว่านักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้น และให้ความสนใจผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ มากกว่าสถานการณ์ทางการเมือง โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์จะออกไปโรดโชว์ต่างประเทศ 4 ครั้ง ที่ฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐ และออสเตรเลีย

    นอกจากนี้ในวันที่ 27 ส.ค.จะมีการจัดงานไทยแลนด์โฟกัส เพื่อเชิญกองทุนต่างชาติมารับทราบข้อมูลของไทย ทั้งในด้านนโยบาย และพบกับบริษัทจดทะเบียน ล่าสุดมีกองทุนตอบรับมาแล้วกว่า 100 แห่ง

    เปิดเกณฑ์โครงการกองทุนพื้นฐาน

    สำหรับเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. มีลักษณะเป็นกองทุนปิด โดยมีเงินทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท

    2. สามารถลงทุนโดยตรงในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน หรือลงทุนโดยถือหุ้นเกินกว่า 75% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในบริษัท ที่มีการลงทุนในหรือมีรายได้หลักจากกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่งทางราง ทางพิเศษ ไฟฟ้า น้ำประปา สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม รวมถึงพลังงานทางเลือกได้ และมีมูลค่าการลงทุนในแต่ละกิจการไม่น้อยกว่า 1 พันล้านบาท

    3. สามารถลงทุนในโครงการที่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ (กรีนฟิลด์) ได้ แต่หากมีสัดส่วนการลงทุนที่สูงจะต้องเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น 4.บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันสามารถถือหน่วยลงทุนได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้น เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม

    5. มีสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนโดยบุคคลต่างด้าว (Foreign Limit) สอดคล้องกับข้อกำหนดตามกฎหมายที่ควบคุมกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมจะลงทุน และ 6. จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิ และห้ามจ่ายเงินปันผลกรณีที่กองทุนรวมยังมียอดขาดทุนสะสม

    ก.ล.ต.หารือ"เอโอที"พรุ่งนี้

    นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 15 ส.ค.นี้ ก.ล.ต.จะหารือร่วมกับทางผู้บริหารของ บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอโอที เพื่อลงรายละเอียดถึงแนวทางในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ต้องการผลักดันการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินมากจนเกินไป

    การหารือดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา ทาง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ได้เชิญ ก.ล.ต. เข้าหารือเพื่อขอคำแนะนำในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง ก.ล.ต. ก็ได้ให้คำแนะนำถึงวิธีการในการจัดตั้งไปมากมาย โดยมองว่ากองทุนดังกล่าวไม่จำเป็นว่าต้องมีเพียงกองทุนเดียว แต่เราสามารถแบ่งกองทุนออกเป็นหลายๆ กองได้ โดยแยกตามประเภทการลงทุนเพื่อความคล่องตัว เช่น กองทุนโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศ ทางถนน ท่าเรือ และ ระบบราง เป็นต้น

    "เราเสนอแนวทางต่างๆ ไปหลายรูปแบบมาก อย่างการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เราก็เสนอไปว่าควรแยกออกเป็นประเภท ไม่ว่าจะเป็น สนามบิน ท่าเรือ ทางด่วน ขณะเดียวกันก็ได้นำเสนอทางเลือกการระดมทุนด้วยวิธีการอื่นที่นอกเหนือจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานไปด้วย เช่น การทำซีเคียวริไทเซชั่น หรือ การตั้งกองอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น โดยให้ขึ้นอยู่กับวิธีการและความเหมาะสม" นายวรพลกล่าว

    ชี้ทุกฝ่ายร่วมมือมั่นใจผลักดันได้เร็ว

    นายวรพล กล่าวว่าหลังการหารือ ทาง พล.อ.อ.ประจิน ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกับ ก.ล.ต. เพื่อลงรายละเอียด และรายงานให้รับทราบเป็นระยะ

    ส่วนระยะเวลาของการจัดตั้งนั้น นายวรพล กล่าวว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นานในการผลักดัน เพราะที่ผ่านมาก.ล.ต.ได้อนุมัติกองทุนประเภทนี้มาแล้วหลายกองทุนด้วยกัน จึงมีประสบการณ์ในการพิจารณา ขณะเดียวกันก.ล.ต.ก็ได้จัดตั้งฝ่ายงานที่ดูแลเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ เรียกว่า ฝ่ายงานด้านการระดมทุนโครงสร้างพื้นฐาน จึงเชื่อว่ากำลังคนเรามีเพียงพอ

    นายวรพล กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวเขาสนับสนุนให้ภาครัฐระดมทุนด้วยวิธีการดังกล่าว เพราะจะช่วยให้เกิดการลงทุนได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐมากนัก เนื่องจากปัจจุบันงบประมาณเพื่อการลงทุนของภาครัฐเหลือเพียง 17% ของงบประมาณในแต่ละปี ขณะเดียวกันภาครัฐก็มีภาระที่ต้องเร่งจัดทำงบประมาณสมดุลให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะหากล่าช้ากว่าที่กำหนด อาจส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ(เครดิตเรทติ้ง) ได้

    "การใช้กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยลดภาระงบประมาณแผ่นดินลงได้มาก เราจึงเสนอให้มีการใช้กองทุนดังกล่าว โดยระดมทุนจากระบบเศรษฐกิจและตลาดทุน ซึ่งขณะนี้มีเงินทุนเหลือเฟือ มีสภาพคล่องอยู่มากมาย และผู้ลงทุนเองก็ได้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษีเงินปันผลเป็นเวลา 10 ปีด้วย" นายวรพลกล่าว

    หากเราจะใช้งบประมาณเพื่อการลงทุนก็สามารถทำได้ แต่โดยส่วนตัวมองว่า เงินงบประมาณที่เหลือควรนำไปใช้เพื่อพัฒนาด้านการศึกษาและสังคมเป็นหลัก เพราะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเช่นกัน ส่วนเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือระบบสาธารณูปโภคเหล่านี้ สามารถใช้กลไกของเศรษฐกิจในการดำเนินการได้

    เผย"ประจิน"เน้นท่าเรือฝั่งตะวันตก

    ทั้งนี้นอกจาก เอโอที ที่จะเข้ามาหารือกับ ก.ล.ต. ถึงแผนการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ทาง คสช. ยังได้ให้นโยบายกับการท่าเรือในเรื่องดังกล่าวด้วย เพราะทาง คสช. ต้องการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือ เพื่อระดมทุนไปใช้พัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งตะวันตกด้วย โดยหวังว่าเมื่อเรามีท่าเรือน้ำลึกทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก จะสามารถเป็นสะพานเชื่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ฝั่งมหาสมุทรได้

    "พล.อ.อ.ประจิน ได้ให้ความสำคัญว่า หากเรามีท่าเรือฝั่งตะวันตก เพื่อทำการเชื่อมโยง 2 มหาสมุทรเข้าด้วยกัน โดย ท่าเรือฝั่งตะวันตก คือ อันดามัน และท่าเรือฝั่งตะวันออก คือ อ่าวไทย จะทำให้เราเป็นแหล่งขนส่งน้ำมันข้ามมหาสมุทรได้ โดยใช้ระบบราง หรือระบบถนนเพื่อเชื่อมต่อกัน ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพของประเทศได้อย่างมาก" นายวรพลกล่าว

    นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า คสช.ได้สั่งให้ ก.ล.ต. แก้ไขรายละเอียดกฎเกณฑ์ของการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วยว่า ไม่เป็นความจริง เพราะกฎเกณฑ์ที่ก.ล.ต.กำหนดขึ้นมานั้น ถือเป็นสากลและมีความเหมาะสมอยู่แล้ว และที่ผ่านมา คสช.ไม่เคยมีคำสั่งให้มีการแก้ไขแต่อย่างใด

    Tags : ที่ปรึกษาการเงิน • รสก. • โครงสร้างพื้นฐาน • ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ • สภาธุรกิจ • บลจ. • เกศรา มัญชุศรี • ก.ล.ต. • พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง • รัฐวิสาหกิจ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้