คสช.ไฟเขียว5.9พันล้าน 'ทีโอที'ลงทุนเคเบิลใต้น้ำ

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 14 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    คสช.ไฟเขียวแผนลงทุนเคเบิลใต้น้ำ3เส้นทาง เชื่อมระบบอินเทอร์เน็ตไทย-โลก วงเงินรวม5.9พันล้านบาท

    สั่งปลัดไอซีทีชี้แจงซูเปอร์บอร์ดก่อนเดินหน้าลงทุนตามแผนระยะเวลา 3 ปี ขณะที่ ทีโอที-กสท แจงเข้าประชุมซูเปอร์บอร์ดรับนโยบายตามที่ส่งแผนเทิรน์อะราวด์ สคร. ทีโอทีไม่ส่งรายงานเพิ่มเติมเหตุรอบอร์ดใหม่ประชุมสัปดาห์หน้า ส่วน กสท เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูงบประมาณ 5 ปี

    ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นประธาน วานนี้ (13 ส.ค.) ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการรายละเอียดของแผนการลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 3 เส้นทางรวมวงเงินลงทุน 5,979.94 ล้านบาท ตามที่ บมจ.ทีโอที เสนอ

    อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติให้นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นำรายละเอียดเรื่องการลงทุนในโครงการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ซึ่งจะประชุมในวันนี้ (14 ส.ค.) เพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้ง

    ร.อ.ยงยุทธ กล่าวว่า แผนการลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศตามที่ทีโอทีเสนอ กำหนดระยะเวลาลงทุน 3 ปี (2557 - 2559) โดยแบ่งเป็นการใช้เงินกู้ลงทุน 3,289.8 ล้านบาท หรือประมาณ 54% ของเงินลงทุนทั้งหมด และเงินรายได้ของทีโอที 2,689.3 ล้านบาท หรือประมาณ 45% ของเงินลงทุนทั้งหมด

    โดยมีรายละเอียดการลงทุน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นทางเอเชีย - ยุโรป 1 (AAE1) โดยเส้นทางการวางสายเคเบิลผ่านจากประเทศฝรั่งเศส อิตาลี อียิปต์ ศรีลังกา อินเดีย และเชื่อมต่อกับเครือข่ายประเทศใน จ.สตูล และจ.สงขลา วงเงินลงทุน 1,408 ล้านบาท

    2. โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นทางเซาธ์อีสต์เอเชีย - มิดเดิล อีสต์ - เวสเทิร์น ยุโรป 5 (SEA-ME-WE 5) เส้นทางการวางสายเคเบิลผ่านจากประเทศฝรั่งเศส บังกลาเทศ มาเลเซีย และประเทศไทย วงเงินลงทุน 1,376 ล้านบาท และ

    3. โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นทางเซาธ์อีสต์ เอเชีย - เจแปน เคเบิล ซิสเต็ม (SJC) โดยเส้นทางการวางสายเคเบิลผ่านจากประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น วงเงินลงทุน 2,278 ล้านบาท นอกจากนั้น มีงบประมาณที่กันไว้สำหรับงานปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายภายในประเทศ เช่น งานก่อสร้างสถานีเคเบิลใต้น้ำ จ.สตูล งานปรับปรุงสถานีเคเบิลใต้น้ำสงขลา งานขยายชุมสายอินเทอร์เน็ต และงบสำรอง รวม 417.94 ล้านบาท

    ทั้งนี้ ทีโอที ได้ชี้แจงถึงความต้องการระบบเคเบิลใต้น้ำของประเทศไทยว่าในอนาคตจะมีความสำคัญในการช่วยยกระดับการให้บริการทางอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ และเตรียมความพร้อมสู่การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

    อย่างไรก็ตามต้องมีวงจรสื่อสารรองรับความต้องการข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอ และปัจจุบันอัตราความเร็วในการรับและส่งผ่านข้อมูลข่าวสารของไทยอยู่ที่ 975 กิกะไบต์ต่อวินาที ขณะที่หากลงทุนเพิ่มเติมวางระบบเคเบิลใต้น้ำ 3 เส้นทาง ความเร็วการรับและส่งข้อมูลจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,800 - 3,700 กิกะไบต์ต่อวินาที ขึ้นอยู่กับเส้นทางที่จะเลือกลงทุน

    นอกจากนั้น การลงทุนระบบเคบิลใต้น้ำเพิ่มเติมจะช่วยให้มีต้นทุนดำเนินธุรกิจและให้บริการระหว่างประเทศต่ำลง และแข่งขันกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมในประเทศอาเซียน เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งจะช่วยให้ทีโอทีสร้างรายได้ระยะยาวให้องค์กรได้ต่อไป

    ทีโอทีย้ำแผนงานเดิม

    ส่วนนายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจตามที่มีกำหนดส่งรายละเอียดแผนงานให้ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจศึกษาแผนงานก่อนส่งให้ คสช. นั้น ทีโอทียังไม่ได้เสนอแผนงาน เพียงแต่ประชุมเพื่อรับทราบแนวทางปฏิบัติ เพราะต้องรอประชุมบอร์ดทีโอทีชุดใหม่ก่อนแทนชุดเดิมที่ทยอยลาออกไปตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา

    ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มประชุมได้สัปดาห์หน้า แต่เบื้องต้นการส่งแผนฟื้นฟูองค์กร (เทิร์นอะราวด์) ที่ส่ง สคร.ไป ยังเป็นโครงการหลักที่ทีโอทีต้องการดำเนินงานต่อ หลังชะลอไว้ตั้งแต่ช่วงยุบสภาปลายปี 2556

    โดย 3 โครงการใหญ่ที่ทีโอทีเสนอไปยัง สคร. มีมูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท ขณะนี้รอเพียงการอนุมัติงบประมาณที่ร้องขอไป แบ่งเป็นโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านพอร์ตจำนวน 30,000 ล้านบาท โครงการสร้างโครงข่ายอัจฉริยะ (เอ็นจีเอ็น) 2,800 ล้านบาท และโครงการสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 5,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่อนุมัติจะส่งผลให้ผลประกอบการประสบภาวะขาดทุน

    "เราคงรายงานต่อ คสช. ว่าที่ผ่านมา แนวทางการดำเนินในช่วงที่ไม่มีรัฐบาล ทีโอทีได้ปรับเปลี่ยนงบประจำปีของทีโอทีปี 2557 ที่เดิมใช้กับการขยายคอร์เน็ตเวิร์คสำหรับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) เพียงอย่างเดียว แต่จะปรับเปลี่ยนไปลงในสายธุรกิจให้เข้ากับแผนฟื้นฟูองค์กร และยังเหลือโครงการอะไรที่คั่งค้างอยู่ทำให้ทีโอทีต้องประสบปัญหาการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา"

    แหล่งข่าวจากทีโอที ระบุว่าหลังจากทีโอทีมีบอร์ดชุดใหม่แล้วคาดว่าจะนัดประชุมบอร์ดภายในสัปดาห์หน้า เพื่อกำหนดแนวการทำงานตามนโยบายของ คสช.

    ส่วนภารกิจที่สำคัญที่รอการแก้ไขจากบอร์ดทีโอทีชุดใหม่ คือ การวางยุทธศาสตร์ทีโอทีว่าจะมีทิศทางการทำงานอย่างไร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กร เพราะขณะนี้ทีโอที ไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมด้านใด เช่น การให้เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม แม้จะมีทรัพย์สินโครงข่ายอยู่ทั่วทั้งประเทศ แต่ก็ให้เช่าโครงข่ายไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องสัญญาที่หลายฝ่ายมองว่าไม่เป็นธรรมต่อทีโอที

    รวมถึงความคืบหน้าการทำตลาดมือถือ 3จีมีโครงข่ายไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ มีสถานีเพียง 5,230 แห่ง จึงแข่งขันกับเอกชนไม่ได้ ขณะที่ ผู้ประกอบการค่ายมือถืออื่นมีสถานีฐานมากกว่า 12,000 แห่ง การประเมินการทำงานของกรรมการผู้จัดการใหญ่ ว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

    กสท เสนอแผน5ปี

    ขณะที่ กสท โทรคมนาคม ภายหลังการประชุมบอร์ดชุดใหม่นัดแรก ที่มีพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการกองทัพบกเป็นประธานบอร์ด มีปัญหาที่รอบอร์ดชุดใหม่มาสะสาง ได้แก่ 1. ความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจของ กสท เนื่องจากมีหลายฝ่ายมองว่าประกอบธุรกิจที่ซ้ำซ้อนกับทีโอที 2. ความไม่คล่องตัวในการบริการจัดการ เนื่องจากมีกฎระเบียบ กฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยในการประกอบธุรกิจของ กสท หากต้องแข่งขันกับภาคเอกชน

    3. ปัญหาความไม่ชัดเจนเรื่องคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพราะมีคลื่นที่ไม่มีการใช้งาน เมื่อ กสท ขอใช้งานต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แต่ยังไม่มีความชัดเจน และ 4.ปัญหาระหว่างกสท กับคู่สัญญาสัมปทาน ที่มีปัญหายาวนาน ทั้งเรื่องการโอนทรัพย์สิน การดำเนินคดีระหว่างกัน

    นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม ระบุว่า แผนฟื้นฟูองค์กรตามที่จัดทำแผนการดำเนินงานรวมทั้งงบประมาณที่จะใช้ ซึ่งจะเป็นแผนระยะยาว 5 ปี คือ ปี 2556-2560 แต่ยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ เพราะต้องรอการประชุมกับ สคร.เสร็จสิ้นก่อน

    อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา กสท เคยประชุมร่วมกับ คสช.ไปแล้ว และมีคำร้องขอไปยัง คสช.เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา 4 ระยะคือ ปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขทันที ปัญหาระยะสั้นภายในปี 2557 ปัญหาระยะกลางปี 2558 และปัญหาระยะยาวคือหลังจากปี 2559

    กสท อธิบายว่า บริษัทไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินงบประมาณ เพราะ กสท สามารถอยู่ได้ด้วยการบริหารงานของตัวเอง ตามแผนการดำเนินงานปกติ และไม่มีงบประมาณที่รอให้อนุมัติ แต่ปัญหาที่ต้องการให้แก้ไขคือ ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการประสานหน่วยงานภาครัฐใหม่ เพราะธุรกิจโทรคมนาคม ไอซีที จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติงานโดยทันที

    ทั้งนี้ รายงานผลประกอบการ 6 เดือนปี 2557 กสท มีรายได้ 25,260 ล้านบาท รายจ่าย 24,658 ล้านบาท กำไร 602 ล้านบาท โดยผลประกอบการนี้ เป็นรายได้จากการประกอบกิจการของ กสท เท่านั้น ไม่รวมรายได้สัญญาสัมปทาน ส่วนเป้าหมายรายได้ปีนี้อยู่ที่ 55,000 ล้านบาท คาดว่ามีกำไร 1,240 ล้านบาท

    Tags : ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ • คสช. • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • ทีโอที • สายเคเบิลใต้น้ำ • ซูเปอร์บอร์ด • กสท

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้