เปิดพอร์ตลงทุนหุ้น"วิชัย ทองแตง" 3ปีขึ้นแท่นหุ้นใหญ่5บจ.ตลาดหุ้นไทย พบมาร์เก็ตแคปหลังถือครองทะยาน 114% เฉพาะส่วนที่ถือมูลค่าเพิ่มกว่า 2 หมื่นล้านบาท เผยหุ้นส่วนใหญ่ถูกเก็งกำไรคึกคัก ถูกตลาดสั่งเทรดเงินสดบ่อยครั้ง "วิชัย ทองแตง" จากทนายความในอดีตสู่ราชานักเทคโอเวอร์ชื่อดัง กลับเข้ามามีบทบาทโดดเด่นในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากกระแสการเทคโอเวอร์บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะในปีนี้ หากย้อนดูการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ปี 2554-2557 พบว่า วิชัย กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอย่างเปิดเผย และส่วนใหญ่จะเข้ามาในลักษณะของการรับซื้อหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (พีพี) ในราคาต่ำกว่าราคาในกระดาน ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าการเข้ามาลงทุนจะได้รับการยินยอมจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัททุกราย สาเหตุที่เจ้าของยินยอม น่าจะเกิดจากมูลค่าหุ้นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อใดที่มีชื่อของวิชัย ทองแตง เข้ามาถือหุ้นตัวใด ราคาหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง ขณะเดียวกัน วิชัย เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือในวงการธุรกิจการเงิน ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเกิดขึ้น จึงพากันเข้ามาลงทุน สอดคล้องกับ วิชัย เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หลักการลงทุนของเขา จะไม่ชื่นชอบการลงทุนในลักษณะที่เป็นศัตรูกับบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน หรือ hostile takeover นอกจากนี้การเข้าไปร่วมธุรกิจ เจ้าของจะต้องเปิดใจ และเชื้อเชิญเขาเข้าร่วมลงทุน ขณะเดียวกันก็ต้องมองเห็นวิธีคิด และวิธีการทำธุรกิจของผู้บริหารที่จะเข้าไปร่วมทำธุรกิจด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ หุ้นที่บุคคลดังกล่าวเข้าไปลงทุน ส่วนใหญ่ ราคาหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นแรงก่อนที่จะมีการทำรายการเกิดขึ้น ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ สั่งให้ชี้แจงข้อมูล เนื่องจากหุ้นมีการซื้อขายในลักษณะที่ผิดไปจากสภาพปกติ รวมทั้งหุ้นจะมีแรงเก็งกำไรสูงจนเข้าข่ายที่ถูกสั่งให้ซื้อขายได้เฉพาะในบัญชีเงินสดเท่านั้น ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา วิชัย เข้ามาลงทุนโดยการถือครองในหุ้น 5 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย และอีก 1 บริษัทนอกตลาด โดยแต่ละบริษัทมีธุรกิจที่แตกต่างกัน และบริษัทที่เข้าไปลงทุน เขาจะขึ้นแท่นกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ1 และอันดับ 2ของทุกบริษัท สำหรับหุ้นที่เขาถือครอง 5 บริษัท ปัจจุบันมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงถึง 2.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 1.53 แสนล้านบาทคิดเป็น 114% และถ้าดูเฉพาะในส่วนที่วิชัยถือลงทุน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่าความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านบาท วิชัยกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง ตั้งแต่ปี2554 จากดีลการควบรวมกิจการ ของโรงพยาบาลราย ใหญ่ คือโรงพยาบาลพญาไท กับโรงพยาบาลกรุงเทพ และถือว่าเป็นดีลที่คนในสังคมให้ความสนใจอย่างมาก ภายหลังจากการควบรวมกิจการในเวลานั้น วิชัยได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 รองจากนพ.ปราเสริฐ ทองโอสถ จนถึงทุกวันนี้ ต่อมาในปีเดียวกัน การสยายปีกธุรกิจสู่เคเบิลทีวี วิชัย ก็ทำให้ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย โดยเข้ามาเป็นแกนหลัก และอยู่ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง หรือ ซีทีเอช เขาเคยคาดหวังว่า ผลตอบแทนในธุรกิจนี้ จะเป็นแบบ High Return แต่เมื่อธุรกิจเคเบิล ต้องพบกับอุปสรรคครั้งใหญ่ คือ การรุกคืบของธุรกิจทีวีดิจิทัล ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์โดย ล่าสุด วิชัย ยังคงใช้วิธีการลงทุนในรูปแบบเดิม ด้วยการเข้าไปควบรวมกิจการกับ บริษัทจีเอ็มเอ็ม แซท ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ (grammy) โดยเขาหวังว่าการควบรวมธุรกิจ จะช่วยต่อยอดให้ธุรกิจเคเบิลทีวี อยู่รอดปลอดภัยภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง และเขาได้วางเป้าหมายไว้ว่า จะนำบริษัท ซีทีเอช เข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันปลายปี 2555 บริษัทตงฮั้ว (TH) ได้จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบพีพี ให้กับวิชัย จำนวน 60 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท เท่ากับว่าเขาใช้เงินลงทุนในครั้งนี้ประมาณ 60 ล้านบาท ส่งผลให้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 โดยมีสัดส่วนถือครอง 9.84% และช่วงเวลาไม่ถึง 2 ปี ราคาหุ้นตงฮั้วปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาเพิ่มทุนถึง 222%และ (มาร์เก็ตแคป) เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ถือว่าเป็นหุ้นที่มีความร้อนแรงต่อเนื่อง หากพิจารณาข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์พบว่า หุ้นตงฮั้ว ถูกสั่งให้ชี้แจงกรณี ราคาหุ้นซื้อขายผิดปกติหรือ เทรดดิ้ง อะเลิร์ท ถึง 2 ครั้ง และถูกสั่งให้ซื้อขายเฉพาะบัญชีเงินสด (แคช บาลานซ์) 5 ครั้ง ซึ่งการที่ถูกตลาดหลักทรัพย์ ดำเนินการแบบนี้บ่อยครั้งอาจจะสะท้อนให้เห็นว่าเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงเกินไป ต่อมา ปลายปี 2556 วิชัย ก้าวย่างเข้าสู่ธุรกิจโรงกลั่น โดยบริษัทอาร์พีซีจี (RPC) จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบพีพี 200 ล้านหุ้น ในราคา 1.003 บาท ขึ้นแท่นการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ1หลังจากที่ถือครองหุ้นอยู่แล้ว 79 ล้านหุ้น ส่งผลให้ถือหุ้นรวม 279 ล้านหุ้นคิดเป็น 21.40% มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น 22.4% นับตั้งแต่ วิชัยได้เข้ามาลงทุนราคาหุ้นอาร์พีซีจี ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าก่อนหน้านี้ ราคาหุ้นจะทรงตัวมากกว่า และล่าสุดราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1.19 บาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 52.17% จากราคาที่รับซื้อหุ้นเพิ่มทุน ขณะเดียวกัน ก็ถูกตลาดหลักทรัพย์ สั่งให้ชี้แจงกรณี เทรดดิ้ง อะเลิร์ท 2ครั้ง และถูกสั่งซื้อขายได้บัญชีเงินสด 2 ครั้ง ล่าสุดเมื่อเห็นมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแผนการลงทุนในบริษัทตงฮั้ว และบริษัทอาร์พีซีจี ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และเกิดปัญหากันระหว่างกลุ่มเจ้าของเดิมกับ วิชัย ดังนั้น เขาเลือกที่จะแถลงข่าวด่วนพร้อมประกาศขายหุ้นของ 2 บริษัททันที เขาให้เหตุผลว่า สาเหตุของการขายทยอยขายหุ้นอาร์พีซีจีออกมา และมีแผนจะขายออกมาทั้งหมดที่ถืออยู่ และจะไม่เทขายในครั้งเดียว ซึ่งยอมรับว่า เหตุผลหลักๆ ก็คือ ตัวเองมีความคิดเห็นไม่ตรงกันกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดิมของบริษัทอาร์พีซีจี คือ นายสัจจา เจนธรรมนุกูลและครอบครัว ขณะเดียวกันก็จะพร้อมที่จะขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทตงฮั้วเช่นกัน เนื่องจากตอนที่เข้ามาลงทุน ได้คุยกับเจ้าของและผู้บริหารบริษัท เกี่ยวกับทิศทางของบริษัทในอนาคต มีเป้าหมายจะมุ่งทำธุรกิจพลังงานทดแทน ได้เตรียมคอนเนคชั่นไว้หลายที่แล้ว แต่ต่อมาทางกลุ่มผู้ถือหุ้นได้เปลี่ยนโมเดลธุรกิจจะมุ่งไปธุรกิจสื่อ ยอมรับว่าโมเดลใหม่ดี แต่ก็ไม่ตรงตามแนวทางที่ตั้งใจไว้ จึงเตรียมจะขายหุ้นที่ถือออกมา “บริษัทตงฮั้วผมถือหุ้นน้อย แต่ก็มีพันธมิตรเข้ามาถือด้วยรวมๆ กันแล้วประมาณ 10% ได้แจ้งพันธมิตรไปแล้วว่าอาจจะขายออก ส่วนพันธมิตรจะขายหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะทุกคนมีอิสระในการพิจารณา จากวันที่เข้าไปถือหุ้นปีกว่าๆ ก็ยอมรับว่ามีกำไรแล้ว” การประกาศขายหุ้นครั้งนี้ ถือเป็นการทำกำไรอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกของวิชัย ทองแตง อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปี 2557 วิชัยได้เข้ามาถือหุ้นอีก 2 บริษัทดำเนินธุรกิจวางระบบไอที โดยบริษัทฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) ได้โอนหุ้นผ่านกระดานซื้อขายรายใหญ่ 70 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 6.76 บาท คิดเป็นสัดส่วนการถือครอง 7.29% ก่อนที่จะมีการโยนหุ้นดังกล่าว ราคาหุ้นฟอร์ทปรับตัวขึ้นแรงจนถูกสั่งให้ชี้แจงกรณีเทรดดิ้ง อะเลิร์ท รวมทั้งถูกสั่งให้ซื้อขายได้เฉพาะในบัญชีเงินสดเช่นกัน ต่อมา ในกลางปีนี้ วิชัย ได้เข้ามาลงทุนบริษัททีดับบลิวแซด (TWZ) โดยการรับซื้อหุ้นพีพี 510 ล้านหุ้น ถือครอง 9.81%ในราคา 0.35 บาท หลังเข้ามาถือหุ้นราคาหุ้นปรับขึ้นไปและปัจจุบันอยู่ที่ 1.19 บาท ดังนั้นเขามีกำไรจากราคาต้นทุนถึง 157.62% ขณะที่มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น 184.51% การกลับเข้ามาลงทุนในครั้งนี้ ดูเหมือนว่า จะเป็นการกลับเข้ามาลงทุนในลักษณะการเก็งกำไรมากกว่า การลงทุนอย่างจริงจัง หรือไม่เหมือนกับการลงทุนธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งเป็นธุรกิจที่เขาให้น้ำหนักมากที่สุด และเจ้าตัวก็เคยออกมายอมรับว่า เขาเป็นนักลงทุนที่แสวงหาผลกำไรจากตลาดหุ้นไทย Tags : วิชัย ทองแตง • ลงทุนหุ้น • มาร์เก็ตแคป • เทคโอเวอร์ • โรงพยาบาล • จีเอ็มเอ็ม