สัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังแผ่ว หลังตัวเลขเดือนมิ.ย.หลังมี คสช. เต็มเดือนยังอ่อนแรง โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ ทั้ง “บริโภค-ลงทุน-ใช้จ่ายภาครัฐ” ยังหดตัวจากเดือนก่อนหน้า สำนักวิจัยฯ ส่วนใหญ่ยอมรับตัวเลขต่ำคาด หวังช่วงที่เหลือปีนี้ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ด้าน “ประสาร” แนะอย่างใจร้อน ชี้เศรษฐกิจต้องใช้เวลาในการปรับตัว ยอมรับหนี้ครัวเรือนสูง กดการบริโภคฟื้นช้า หลายคนตั้งความหวังเอาไว้ว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นหลังจากที่เรามีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ “คสช.” เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ภาวะ “สุญญากาศ” ทางเศรษฐกิจหายไป โดยเฉพาะ “นโยบายการคลัง” เริ่มกลับมาทำหน้าที่ตามปกติได้อีกครั้ง นอกจากนี้ คสช. ยังได้ประกาศ “โรดแมพ” ที่สร้างความเชื่อมั่น และน่าจะส่งผลเชิงบวก ต่อการลงทุน ทำให้หลายคนคาดหวังกันว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่ม “ผงกหัวขึ้น” ตั้งแต่เดือนมิ.ย. ที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศอย่างเต็มเดือน เมื่อสัปดาห์ก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “ธปท.” ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.2557 ออกมาตามที่คาดไว้ คือ เศรษฐกิจเริ่ม “ปรับตัวดีขึ้น” จากเดือนก่อนหน้า เพียงแต่ถ้าลงลึกดู “ไส้ใน” แล้ว จะเห็นว่า เศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นล้วนมาจาก “ภาคต่างประเทศ” เป็นหลัก ภาคส่งออกกลับมาเติบโตอีกครั้ง ในขณะที่ “อุปสงค์ในประเทศ” ยังคงอ่อนแรง ไม่ว่าจะเป็นด้าน การลงทุน การบริโภค หรือแม้แต่ ด้านการคลัง ดัชนีลงทุนเอกชนติดลบ 0.2% ด้าน “การลงทุน” ยังนับว่าค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนติดลบ 0.2% ผู้ประกอบการส่วนใหญ่รอความชัดเจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวนโยบายต่างๆ ขณะที่กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 60% ทำให้ความจำเป็นที่ต้องลงทุนเพิ่มไม่ได้มากนัก ส่วนด้าน “การบริโภค” ที่เชื่อกันว่า น่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ก่อน หลังสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย และเริ่มมีการจ่ายเงินตามโครงการรับจำนำข้าวออกมา แต่กลับพบว่า ดัชนีการอุปโภคบริโภคยัง “หดตัว” จากเดือนก่อนหน้าถึง 1% ขณะที่ด้าน “การคลัง” นั้นในเดือนมิ.ย. กลับมีการเบิกจ่ายจริงหดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.7% และการใช้จ่ายงบเพื่อการลงทุนยังมีความล่าช้า สามารถทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ถ้าดูรวมไปถึงภาค “การผลิต” และ “การนำเข้า” ในเดือนมิ.ย. ทาง ธปท. ถึงกับออกปากว่า “ผิดไปจากที่คาด” เอาไว้มากโดยการผลิตหดตัวลงถึง 2.6% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าก็ยังติดลบ 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการหดตัวของการนำเข้าสินค้าทุน สะท้อนถึงความอ่อนแอของการลงทุนและการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคต เศรษฐกิจเดือนมิ.ย.ฟื้นตัวได้จำกัด เรื่องนี้แม้แต่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 องค์กร หรือ “กกร.” ก็แสดงความผิดหวังกับภาพเศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย. โดย “บุญทักษ์ หวังเจริญ” ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย บอกว่า เศรษฐกิจเดือนมิ.ย.ยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง เพียงแต่การส่งออกที่กลับมาเป็นบวก 3.9% ช่วยผลักดันให้ภาพรวมเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.ให้ดูดีขึ้น ด้าน “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธปท. ยอมรับว่า “อุปสงค์ในประเทศ” ยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะในภาคการบริโภค จากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง แต่เชื่อว่าช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจไทยน่าจะทยอยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง “พอพูดถึงตัวเลข เราอาจเห็นความใจร้อนที่อยากได้ตัวเลขกระโดดสูงๆ แต่ความเป็นจริงคงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจเองก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัว” เขายังระบุถึงตัวเลข “การผลิต” และ “การนำเข้า” ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องในเดือนมิ.ย.ด้วยว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความไม่มั่นใจ ไม่กล้าที่จะผลิตสินค้าเพิ่ม จึงนำสินค้าคงคลังออกมาขายก่อน ทำให้การนำเข้าและการผลิตช่วงที่ผ่านมาจึงหดตัวลงไปบ้าง แต่เชื่อว่าระยะต่อไป เริ่มเห็นการผลิตกลับคืนมา ยอดบริโภคสินค้าคงทนติดลบ ขณะที่ “สมประวิณ มันประเสริฐ” รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การหดตัวของดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเป็นผลจากยอดการบริโภคสินค้าคงทนที่ยังติดลบ โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ที่หดตัวลงต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทนเริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การเบิกจ่ายของภาครัฐยังล่าช้า ทำให้ “อุปสงค์ในประเทศ” ไม่ได้เร่งแรงอย่างที่คิด หวังว่า หลังจากแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างเต็มตัว จะทำให้การเบิกจ่ายของภาครัฐดูดีขึ้น แต่ช่วงที่เหลือของปีนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจน่าจะทยอยฟื้นได้ต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีเติบโตได้เกินกว่า 2% โดยหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามา จะมีมาตรการระยะสั้นเพื่อดูแลการฟื้นตัวเศรษฐกิจบ้าง แต่ต้องไม่ไปทำให้ภาคครัวเรือนมีภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น และควรเน้นไปที่การลงทุนระยะสั้นก่อน Tags : เศรษฐกิจไทย • ฟื้นตัว • สัญญาณ • ลงทุน • บริโภค