'กรุงศรี'สั่งเบรกสินเชื่อบุคคลหลังหนี้ครัวเรือนพุ่งพรวด ชี้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ยังเพิ่มขึ้น กรุงศรีผงะหนี้ครัวเรือนพุ่งพรวด เบรกสินเชื่อบุคคล ทั้งคุมเข้มเงื่อนไขสินเชื่อและลดเป้าหมายครึ่งหลังลงเหลือ 3.1 หมื่นล้านบาท ชี้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงจาก 40-50% เป็น 50-60%กดดันสินเชื่อบุคคลโตต่ำไปอีกนาน หันรุกบัตรเครดิตแทน เตรียมร่วมมือแบงก์แม่ให้สิทธิพิเศษลูกค้าไปใช้จ่ายในญี่ปุ่น นายฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า แนวโน้มของหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นของไทย ทำให้ธุรกิจสินเชื่อบุคคลเริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้ต่อเดือน 10,000-30,000 บาทและกลุ่มลูกค้าผู้ที่มีรายได้ต่อเดือน 50,000-100,000 บาท ซึ่งในลูกค้ากลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่เริ่มมีสัดส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นจากการซื้อรถยนต์ในโครงการรถคันแรก ทำให้ล่าสุดกรุงศรีคอนซูมเมอร์ในฐานะที่เป็นผู้นำตลาดสินเชื่อบุคคลจึงได้เพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อบุคคลอีกครั้งในเดือนสิงหาคมและมีนโยบายที่จะชะลอการให้สินเชื่อในกลุ่มนี้ลง ทั้งนี้ก่อนหน้านี้บริษัทได้เพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อบุคคล ด้วยการลดวงเงินสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้เพิ่มขึ้น หรือควบคุมวงเงินไว้ที่ระดับเดิม ทำให้ครึ่งแรกของปีจำนวนลูกค้าสินเชื่อบุคคลรายใหม่ที่เข้ามาอยู่ที่ 70,000 บัญชีจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมี 90,000 บัญชี ขณะที่การขยายสินเชื่อใหม่ในช่วงที่ผ่านมายังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยอยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท และในช่วงครึ่งหลังของปียังได้ปรับลดเป้าหมายสินเชื่อบุคคลปล่อยใหม่มาอยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 3.5 หมื่นล้านบาท “สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของลูกค้าสินเชื่อบุคคลควรอยู่ที่ระดับ 40-50% แต่ในขณะนี้สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 50-60% เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น แต่รายได้ของลูกค้ายังคงที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งภาระหนี้ต่อรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวบริษัทจึงเพิ่มความเข้มงวดในเงื่อนไขการให้สินเชื่ออีกครั้ง และดูข้อมูลลูกค้าในเครดิตบูโรนานขึ้น และหากเรายังคงเป้าหมายสินเชื่อเอาไว้อาจทำให้เจ้าหน้าที่เราต้องเร่งปล่อยสินเชื่อซึ่งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปอีกในภาวะที่หนี้ครัวเรือนก็อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว” นายฐากรกล่าวว่า หลังจากนี้บริษัทจะหันไปให้ความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิตแทน แม้ว่าบัตรเครดิตจะถือเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเช่นเดียวกับสินเชื่อบุคคล แต่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของกำลังซื้อและการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ขณะที่ร้านค้าต่าง ๆ ที่เป็นพันธมิตรของ บริษัทต่างออกแคมเปญการตลาดเพื่อดึงดูดกำลังซื้อมากขึ้น ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าว่าในสิ้นปีนี้จะมียอดสินเชื่อรายย่อยคงค้างโดยรวมอยู่ที่ 128,000 ล้านบาท โดยมาจากสินเชื่อบัตรเครดิต 62,000 ล้านบาทและสินเชื่อบุคคล 66,000 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่มี ยอดสินเชื่อรวม 117,000 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการวางแผนธุรกิจรายยย่อยใน 3 ปีข้างหน้าเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของกลุ่มมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (MUFG) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยจะใช้เน้นการเติบโตจากธุรกิจบัตรเครดิตมากกว่าสินเชื่อบุคคล ขณะเดียวกันในปีหน้าบริษัทจะอาศัยศักยภาพของกลุ่มเอ็มยูเอฟจีโดยอยู่ระหว่างการทดลองตลาดในการร่วมโปรแกรมพิเศษร่วมกับ Mitsubishi UFJ NICOS ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเอ็มยูเอฟจีที่ให้บริการบัตรเครดิตอันดับต้น ๆ ในญี่ปุ่น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ไปใช้จ่ายในประเทศญี่ปุ่นด้วยสิทธิพิเศษต่าง ๆ โดยคาดว่าจะเห็นปลายปีนี้ นายฐากรกล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปียอมรับว่าการขยายฐานบัตรต่ำกว่าเป้าหมายที่ 8% หรือทำได้เพียง 3.2 แสนบัตร ส่วนการเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรต่ำกว่าเป้าหมาย 5% ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเป็น 2.8 แสนล้านบาท เติบโต 12% จากสิ้นปีก่อน และมียอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตอยู่ที่ 6.2 หมื่นล้านบาท แต่ในช่วงที่เหลือของปีจะเน้นกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตแทนการขยายฐานบัตร “ดูๆ แล้วทิศทางตลาดสินเชื่อบุคคลคงไม่น่าจะฟื้นตัวในปีหน้าและคงไม่เห็นการเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักเหมือนช่วงสามปีเป็นที่ผ่านมาเพราะค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังคงกดดันสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของผู้บริโภค จากนี้ไปถึงปีหน้าเราจะรุกบัตรเครดิตมากขึ้น ส่วนปีนี้บริษัทตั้งงบประมาณการตลาดไว้ที่ 3 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน แต่บริษัทจะโยกงบประมาณทางการตลาดจากสินเชื่อส่วนบุคคลมาใช้กับบัตรเครดิตแทน โดยจะใช้ไปกับการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเป็นหลักโดยเฉพาะ ร้านอาหารญี่ปุ่น ห้างสรรพสินค้าและการผ่อนสินค้า 0% ผ่านบัตรเครดิตในช่วงครึ่งปีหลัง" Tags : กรุงศรีฯ • อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส • ฐากร ปิยะพันธ์ • สินเชื่อบุคคล • หนี้ครัวเรือน