'ประยุทธ์'ถกคนร.ลุยแผนฟื้นฟู6รสก.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 13 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ประยุทธ์" ประชุมซูเปอร์บอร์ด ถกแนวทางแผนฟื้นฟู 6 รัฐวิสาหกิจขาดทุนเร่งด่วน

    สคร.เผยยังมีอีกหลายรัฐวิสาหกิจที่จะต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟู "เอสเอ็มแบงก์"เน้น 4 ด้านฟื้นฟู ยันไม่ลดพนักงาน-ปิดสาขา ด้านรฟท.เสนอรัฐรับภาระดอกเบี้ยปีละ3พันล้าน เตรียมนำที่ดิน 3 แปลงพัฒนาหารายได้ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร เสนอแยกบัญชีโครงสร้างพื้นฐานและการเดินรถ

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด จะเรียกประชุมคณะกรรมการในวันที่ 14 ส.ค.นี้ เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และแผนแก้ปัญหาการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาที่เร่งด่วน

    นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่าในการประชุมซูเปอร์บอร์ด วันที่ 14 ส.ค.นี้ ทางสคร.จะได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของ 6 รัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย 1.ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ 2.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 3.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 4. บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) 5.บริษัทกสท.และ6.การรถไฟแห่งประเทศไทย

    "รัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่งได้เสนอแผนฟื้นฟูกิจการมายังสคร.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราก็จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลตามที่ทั้ง 6 แห่ง ได้เสนอแผนมา และนำเสนอต่อที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดเพื่อพิจารณาอีกครั้ง" นายกุลิศ กล่าว

    อย่างไรก็ดี ยังมีรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งที่มีผลประกอบขาดทุน และต้องนำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการมายังสคร.เพื่อนำเสนอต่อซูเปอร์บอร์ดในการประชุมครั้งต่อไป

    บินไทยเร่งจัดการแผนฟื้นฟู

    ในส่วนของการบินไทยก่อนหน้านี้ พล.อ.อ. ศิวเกียรติ์ ชเยมะ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย กล่าวว่าบอร์ดการบินไทย มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูแล้ว ซึ่งในแผนฟื้นฟูการบินไทยได้ระบุถึงปัญหาที่ทำให้การบินไทยขาดทุน รวมถึงแนวทางการไขด้วยการเพิ่มรายได้และตัดลดค่าใช้จ่าย เช่น การให้พนักงานสมัครใจลาออก ขณะนี้อยู่ระหว่างรวมรายชื่อผู้ต้องการลาออก เช่น ผู้ป่วยเรื้อรัง ขณะนี้กระบวนการทั้งหมดยังไม่สิ้นสุดจึงไม่สามารถระบุจำนวนผู้ที่ลาออกได้ว่าจะมากกว่าหรือน้อยกว่า 900 คน

    นอกจากนี้ การบินไทยยังได้ใช้นโยบายประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งช่วยลดรายจ่ายได้ไตรมาสละ 200 ล้านบาท ช่วง 3 ไตรมาส ที่ผ่านมาช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้รวม 600 ล้านบาท พร้อมทั้งตัดลดสวัสดิการผันแปรของผู้บริหารลงบางส่วน

    ขณะที่ร.อ.ท.สุรพล อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการพาณิชย์ กล่าวว่าแผนฟื้นฟูการบินไทยเหลือเพียงการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนส่ง ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา พร้อมยอมรับว่าผลประกอบการของการบินไทยในปีนี้คงขาดทุน แต่จะเร่งดำเนินแผนฟื้นฟูระยะสั้นเพื่อให้ขาดทุนน้อยลงไม่เกิน 10,000 ล้านบาทในปีนี้

    เอสเอ็มแบงก์เน้นฟื้นฟู 4 ด้าน

    นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวว่า ในส่วนของธนาคาร จะเน้นปรับปรุงงานใน 4 ด้าน .การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ด้วยการจัดกลุ่มลูกหนี้ตามสถานะ ได้แก่ ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ลูกหนี้ที่มีการค้างชำระนาน ต้องมีกระบวนการติดตามอย่างใกล้ชิด ล่าสุด พบธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 88,000 ล้านบาท มีเอ็นพีแอลอยู่ 34,000 ล้านบาท คิดเป็น 38% โดยวิธีจัดการกับลูกหนี้เอ็นพีแอล 34,000 ล้านบาท จะเสนอกระทรวงการคลังให้เปิดประมูลขาย 20,000 ล้านบาท หากคลังอนุมัติจะทำให้ลดเอ็นพีแอลจาก 38% เหลือ 13-14%ได้ภายในสิ้นปีนี้

    2. บริหารสินเชื่อที่มีคุณภาพ ในส่วนลูกหนี้ที่เหลือ 14,000 ล้านบาท ใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ หรือ ปรับตารางการชำระหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ เพราะเอสเอ็มอี ถือเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทย ในด้านเศรษฐกิจและสังคม

    3.การเพิ่มสภาพคล่อง โดยได้เสนอกระทรวงการคลัง เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 2,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงการคลัง จากปัจจุบันธนาคารมีทุนจดทะเบียนอยู่ 12,756 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ 3,300 ล้านบาท เท่ากับเงินกองทุนขั้นที่1 ที่ธนาคารมีอยู่ และจะเข้ามาช่วยในส่วนของเงินกองทุนขั้นที่ 2 เนื่องจากปัจจุบันเงินกองทุนขั้นที่1 อยู่ที่ 7% ต่ำกว่าเกณฑ์ของธปท.ที่ระบุไว้ 8.5% และ4. คือการสร้างขวัญและกำลังใจ โดยธนาคารจะไม่มีการปิดสาขาที่มีอยู่ 95 แห่ง และจะไม่ลดพนักงานที่มีอยู่ 1,637 คน

    รฟท.ชงแผนฟื้นฟูเสนอรัฐรับภาระหนี้

    แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่าสำหรับแผนฟื้นฟูของรฟท. จะเสนอให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานและการซื้อรถจักรล้อเลื่อน นอกจากนี้ต้องการให้ภาครัฐรับภาระหนี้สินต่างๆ ของ รฟท. ได้แก่ ภาระการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเดิม การลงทุนอาณัติสัญญาณและค่าซ่อมทางประจำปี เงินบำนาญ และภาระการอุดหนุนค่าโดยสาร

    ส่วนแผนจะสร้างรายได้เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีประมาณปีละ 7 พันล้านบาท มาจากค่าโดยสาร 4 พันล้านบาทต่อปี ค่าขนส่งสินค้าปริมาณ 10 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 2.5 ล้านบาทต่อปี และทรัพย์สินอีกปีละ 1.5 ล้านบาท เมื่อสร้างรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ จะทำให้ปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มเป็น 50 ล้านตันต่อปี รวมถึงจะพัฒนาที่ดินที่มีศักยภาพ 3-4 แปลง ได้แก่ ที่ดินย่านมักกะสัน ที่ดินย่านพหลโยธิน ที่ดินย่านช่องนนทรี และที่ดินย่านหัวลำโพง การพัฒนาจะแล้วเสร็จพร้อมๆ กับรถไฟรางคู่ทำให้ รฟท. มีรายได้จากทรัพย์สินเพิ่มเป็น 4-4.5 พันล้านบาทต่อปี

    “รฟท. ต้องการให้ดอกเบี้ยจากหนี้สินที่มีอยู่ประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปีให้เป็นศูนย์ หากปล่อยไว้จะยิ่งทำให้หนี้สินพอกพูน รวมทั้งต้องการหารือค่าซ่อมทางให้ชัดเจนว่า รฟท. เอกชน และภาครัฐจะรับผิดชอบในสัดส่วนเท่าใด เพราะเป็นค่าใช้จ่ายถึงปีละ 3-4 พันล้านบาท เมื่อรัฐรับภาระหนี้สินแล้วจะทำให้ รฟท. มีค่าใช้จ่ายเพียงพอต่อการดำเนินการและไม่เป็นภาระต่อรัฐบาล ส่วนอีก 5-6 ปีข้างหน้า เมื่อโครงการรถไฟรางคู่แล้วเสร็จและมีรถจักรล้อเลื่อนใหม่จะช่วยสร้างรายได้ให้ รฟท.ได้” แหล่งข่าวกล่าว

    นอกจากนี้ ในแผนยังระบุถึงแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กร โดยเฉพาะวิธีการรับบุคลากรให้มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อปริมาณงาน ซึ่งต้องแยกบัญชีระหว่างโครงสร้างพื้นฐานและการเดินรถให้ชัดเจน รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อรองรับการเดินรถของเอกชนในอนาคต

    "ประจิน"ถกระดมทุนกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

    ขณะเดียวกันวานนี้ (12 ส.ค.)พล.อ.อ.ประจิน จั่นตองผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สภาธุรกิจตลาดทุน กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาถึงกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

    นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าพล.อ.อ.ประจิน ได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ถึงแนวทางการระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับโครงการลงทุนในอนาคต โดยได้ให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ ร่วมกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้ ที่จะใช้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานระดมทุนในโครงการต่างๆ โดยวันที่ 14 ส.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจในสังกัด รวมถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

    นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุน กล่าวว่า การหารือครั้งนี้ เป็นการทำความเข้าใจ เรื่องการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้ในการระดมทุน ซึ่งที่ประชุมได้ชี้แจง ถึงรูปแบบกองทุน รูปแบบการระดมทุนและการจัดตั้ง รวมทั้งหลักเกณฑ์และกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้มีการสรุปรูปแบบที่แน่ชัด เพียงแต่ให้ไปศึกษาว่าแนวทางใดที่เหมาะสมกับหน่วยงานไหนและรูปแบบการจัดตั้งจะเป็นเช่นไร

    แหล่งข่าวจากที่ประชุม กล่าวว่าในที่ประชุมได้ให้ ก.ล.ต. รีบเร่งไปดำเนินการ หากจะต้องมีการปรับปรุง หรือแก้ไขหลักเกณฑ์ของกองทุน เพื่อให้สอดคล้องกับการะดมทุน ซึ่งก.ล.ต.จะต้องไปดำเนินการแก้ไขกฎเกณฑ์ให้เสร็จและเสนอกลับมาภายในเดือนนี้

    "ประจิน" เคาะรูปแบบโครงการพื้นฐานพรุ่งนี้

    ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่าวันที่ 14 ส.ค. นี้ จะมีการประชุมทีมเศรษฐกิจซึ่งมีพล.อ.อ.ประจิน เป็นประธาน เพื่อพิจารณาถึงโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด โดยจะมีการพิจารณาว่า จะมีโครงการใดบ้างที่จะต้องดำเนินการหรือไม่ หากจะดำเนินการต้องมีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร จะเป็นการสรุปโครงการเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง เพื่อที่พิจารณาว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ จะลดต้นทุนในส่วนโครงการใดได้บ้าง

    หลังจากนั้นก็จะมีการประชุมเรื่องของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะหาข้อสรุปว่าการระดมทุน ในรูปแบบของดอลลาร์ หรือเงินบาท

    Tags : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • คสช. • กุลิศ สมบัติศิริ • สคร. • รัฐวิสาหกิจ • แผนฟื้นฟู • ซูเปอร์บอร์ด

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้