ฮุนไดเปิดตัว "เอลันตร้า สปอร์ต" รุ่นเฟซลิฟต์ อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ฮุนไดเปลี่ยนมานำเข้ารถจากมาเลเซีย แทนเกาหลี ทำให้ลดภาระภาษีนำเข้า เนื่องจากได้สิทธิพิเศษจากเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า ทำให้สามารถทำราคาได้ดีกว่ารุ่นที่ผ่านมา คือ 7.49 แสนบาท ในรุ่น 1.8 GL 8.19 แสนบาท ใน1.8 GLE และ 8.98 แสนบาทสำหรับตัวท็อป 1.8 GLS Navi ทุกรุ่นใช้เกียร์อัตโนมัติ และเครื่องยนต์ 1,800 ซีซี มาตรฐานไอเสีย ยูโร 4 ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า ฮิเดกิ ยานากิซาวา ประธานบริษัท ฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด บอกว่าเอลันตร้า นอกจากเรื่องของราคาแล้ว ยังมีจุดเด่นอีกสิ่งหนึ่งก็คือ เป็นรถที่มีอุปกรณ์มาตรฐานค่อนข้างสมบูรณ์ เมื่อเทียบกับรถในตลาดเดียวกัน โดยอุปกรณ์ที่ให้มาเช่น ระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ Dual Zone ช่องแอร์หลัง เครื่องฟอกอากาศ ระบบรักษาเสถียรภาพ ESP และ VSM ระบบช่วยออกตัวทางลาดชัน (HAC) ระบบ Smart Entry ระบบสตาร์ทเรื่องด้วยปุ่ม จอแสดงผล 3.5 นิ้ว ความคมชัดระดับ OLED ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ที่ปัดน้ำฝนอัตโนมัติ เครื่องเล่นดีวีพี จอภาพทัชสกรีน ระบบนำทาง กล้องมองหลัง กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ ถุงลมคู่หน้า ล้ออัลลอย 17 นิ้วกับยางขนาด 215/45 R 17 เป็นต้น ซึ่งฮุนไดเชื่อว่าอุปกรณ์มาตรฐานที่ให้มากับราคา จะเป็นสิ่งที่ได้เปรียบในตลาด อย่างไรก็ตามยังตั้งเป้าไม่มากนัก โดยหวังไว้ที่ 100 คัน/เดือน แต่หากเทียบกับเอลันตร้าเดิมที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2555 และเพิ่งเริ่มทำตลาดไปเมื่อไม่นานมานี้ มียอดขายสะสมอยู่แค่ 300 คันเท่านั้น เอลันตร้าใหม่จึงเป็นการเข้าสู่ตลาดแมส (mass) ในตลาดรถยนต์นั่ง ครั้งแรกของฮุนได มอเตอร์ (ไทยแลนด์) เพราะก่อนหน้านี้รถหลายๆรุ่นที่ทำตลาด ทั้ง โซนาต้า, เอลันตร้า หรือว่า เวโลสเตอร์ เป็นการจับตลาดเฉพาะกลุ่ม ยอดขายไม่มาก โดยมีรถแมสเพียงรุ่นเดียวก็คือ รถตู้ เอช 1 "เอลันต้าใหม่ ใช้กลยุทธ์การตลาด Trilogy Concept ซึ่งประกอบไปด้วย 3 จุดขายหลักคือ ความสวยงามในการออกแบบ ความสะดวกสบายและสมรรถนะการขับขี่ และ 3 ราคาที่เร้าใจ" นอกจากนี้สิ่งสำคัญก็คือ จะทำอย่างไรให้ลูกค้าได้รับรู้ และสัมผัสกับตัวรถ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการขายที่สุด เพราะเห็นว่า สำหรับเอลันตร้าใหม่นั้น "รถ" เป็นสิ่งขายตัวเอง แต่ก็เชื่อว่าน่าจะได้รับการตอบรับที่ดี เพราะก่อนหน้าการเปิดตัว ที่ฮุนไดเผยแพร่ข่าวสารล่วงหน้า และมีกรอบราคาคร่าวๆ พบว่ามียอดจองแล้วเกือบ 100 คัน ส่วนลูกค้าของเอลันตร้า คาดหวังไว้ทั้งผู้ที่ชื่นชอบฮุนไดอยู่แล้ว และลูกค้าทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการขับขี่ และความพร้อมของอุปกรณ์มาตรฐาน โดยเชื่อว่าจะสร้างยอดจำหน่ายตามเป้าได้ไม่ยาก เพราะไม่ได้กำหนดสูงเกินไป อีกทั้งตลาดนี้แม้จะเล็กว่ารถในตลาดซับคอมแพคท์ แต่ก็เห็นว่ากลุ่มลูกค้ามีความหลากหลายมากกว่า โดยมีตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา กลุ่มวัยรุ่น คนเริ่มทำงาน ผู้บริหารระดับกลาง ไปจนถึงกลุ่มครอบครัว และกลุ่มผู้หญิง ซึ่งลูกค้าที่กระจาย กับเป้าหมาย 100 คัน/เดือน ฮุนได เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงแค่ให้กลุ่มลูกค้าเหล่านั้นตัดสินใจมาพบตัวจริง หรือลองของจริงเท่านั้น Tags : ฮุนได • เอลันตร้า • เฟซลิฟต์ • รถยนต์ • ราคา • ยอดขาย