สำนักงบประมาณ เผย การเมืองไร้ข้อยุติ กระทบงบลงทุนภาครัฐ 2 ปี เตรียมปรับแผนทำงบปี58 ขีดเส้นตายทำงบปี 2558 ต้องได้รัฐบาลในเดือนธ.ค. ปัญหาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ต้องล่าช้าออกไปกว่าครึ่งปี เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่องบลงทุนภาครัฐอย่างน้อย 2 ปีงบประมาณ คือ งบประมาณปี 2558-59 นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าสำนักงบประมาณเตรียมปรับแผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ใหม่อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 6 โดยการปรับแผนหรือปฏิทินการทำงบประมาณนั้น มาจากปัจจัยการเมืองเพียงอย่างเดียว เนื่องจากยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มนับตั้งแต่มีการยุบสภาเมื่อปลายปีที่แล้ว ตามปฏิทินการจัดทำงบประมาณครั้งล่าสุด ทางสำนักงบประมาณคาดว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. นี้ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ซึ่งคาดว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จะประกาศใช้ได้ทันในเดือนเม.ย. 2559 "ขณะนี้ยังไม่แน่นอนว่าจะเลื่อนอีกหรือไม่ สำนักงบฯ รอฟังทาง กกต. จากนั้นปรับแผนการทำงบตาม" อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเมืองยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะยุติลงอย่างไร แต่สำนักงบประมาณได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว กรณีเลวร้ายที่สุดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในปีนี้ "อย่างช้าที่สุด การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ควรเกิดขึ้นภายในเดือนธ.ค. นี้ ถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้ช้ากว่านั้น ก็ต้องใช้เพดานงบประมาณปีก่อน คือ ปี 2557 ไปพลางก่อน และอาจเกิดปัญหาในข้อกฎหมาย เพราะงบประมาณรายจ่ายปี 2558 จะไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในเดือนก.ย. ตามกฎหมายกำหนด ซึ่งช่วงระยะเวลาสิ้นสุดของการใช้งบประมาณในแต่ละปี ขณะนี้เตรียมหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า จะสามารถทำงบประมาณแบบข้ามปีได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่จัดทำงบข้ามปี" นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำนักงบฯ คิดว่าจะสามารถทำงบประมาณแบบข้ามปีได้ โดยอาศัย พ.ร.บ.วิธีการบริหารงบประมาณ ที่กำหนดให้ใช้งบประมาณแบบข้ามปีได้ หากไม่สามารถใช้งบประมาณได้ทันภายในเดือนก.ย. แต่ต้องหารือในข้อกฎหมายกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นการล่วงหน้า เพื่อความมั่นใจ "ถือเป็นครั้งแรกที่การใช้งบประมาณรายจ่ายล่าช้ากว่ากำหนดไปมาก ที่ผ่านมาเคยล่าช้ามากที่สุดก็ประมาณ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งอาจจะหารือด้วยว่า ถ้าทำได้ จะสามารถยืดเวลาออกไปได้อีกกี่เดือน" นายสมศักดิ์ กล่าว นายสมศักดิ์ กล่าวว่าหากไม่สามารถจัดทำงบประมาณตามที่กฎหมายกำหนดไว้ นั่นหมายความว่างบประมาณปี 2558 จะใช้วงเงินปี 2557 และหากสามารถตั้งรัฐบาลได้หลังจากนั้นและรัฐบาลต้องการลงทุน ก็สามารถจัดทำเป็นงบประมาณข้ามปีได้ งบลงทุนภาครัฐในปี 2558 จะมีไม่มากนัก และอาจไม่มีการลงทุนเกิดขึ้น เนื่องจากไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ทันปีงบประมาณที่จะสิ้นเดือนก.ย. 2559 เพราะขณะนี้ล่าช้ามากว่า 6 เดือนแล้ว และหากตั้งรัฐบาลในเดือนธ.ค. ก็แทบไม่มีเวลาใช้งบประมาณ ดังนั้น งบลงทุนในปี 2558 จะเกิดขึ้นเป็นเพียงส่วนน้อย แค่ขั้นตอนประกวดราคาเท่านั้น แต่การลงทุนจริงจะเกิดขึ้นในปี 2559 ซึ่งเป็นงบลงทุนข้ามปีจากงบประมาณปี 2558 นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และต้องจัดทำงบประมาณข้ามปี จะส่งผลต่องบลงทุนปี 2559 เพราะส่วนหนึ่งเป็นงบลงทุนจากปี 2558 ซึ่งจะทำให้งบลงทุนปี 2559 มีไม่มากนัก เพราะขณะนี้การลงทุนมากเกินกว่ารายได้มากนั้นไม่สามารถทำได้มากนัก เพราะมีกรอบข้อตกลงการจัดทำงบสมดุลให้ได้ในปี 2560 ยึดกรอบเดิมคือเลือกตั้ง 20 ก.ค. อย่างไรก็ตาม การทำแผนงบประมาณในขณะนี้ ยังยึดกรอบเดิม คือ มีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. หากการเลือกตั้งเป็นไปตามที่กำหนดไว้ สำนักงบประมาณคาดว่าจะสามารถจัดทำงบประมาณปี 2558 ได้แล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย. 2558 เท่ากับว่า รัฐบาลใหม่มีระยะเวลาการใช้งบประมาณประมาณ 5-6 เดือนเท่านั้น "ปฏิทินทำงบได้ปรับมาแล้วเป็นครั้งที่ 5 ถือว่าเป็นการปรับมากที่สุดตั้งแต่ได้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่าย" หน่วยงานรัฐขอวงเงินรวม 4 ล้านล้าน ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ขณะนี้ หน่วยงานราชการจำนวน 325 หน่วยงาน ได้เสนอของบประมาณเข้ามาแล้ว คิดเป็นวงเงินประมาณ 4 ล้านล้านบาท แต่ในการกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายจะต้องสอดคล้องกับรายได้ และ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ในเบื้องต้น สำนักงบประมาณประเมินว่า วงเงินงบประมาณปีดังกล่าว จะอยู่ในจำนวนไม่เกิน 2.6 ล้านล้านบาท "วงเงินงบรายจ่ายปี 2558 นั้น จะสูงกว่างบปี 2557 นิดหน่อย ไม่น่าเกิน 2.6 ล้านล้านบาท หรือ อยู่ที่ประมาณ 2.55 ล้านล้านบาท โดยเราประเมินว่า รายได้ในปีงบประมาณจะน้อย ซึ่งการประมาณการรายได้จะเกี่ยวเนื่องกับรายได้ที่จะจัดเก็บในปีนี้ ในเบื้องต้น มีการประเมินว่า รายได้ปี 2557 จะต่ำเป้าหมายประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่ก็จะไม่กระทบต่อการเบิกจ่าย เพราะการเบิกจ่ายจริงน่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย หรือ อยู่ที่ประมาณ 92% ของงบรายจ่ายรวม" นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในวงเงินงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว เราประเมินเบื้องต้นว่าจะมีงบลงทุนในสัดส่วนประมาณ 14-15% ภายใต้สมมติฐานว่า รัฐบาลจะมีระยะเวลาใช้งบประมาณจำนวน 5-6 เดือน แต่ถ้าระยะเวลาเหลือน้อยกว่านั้น สัดส่วนงบลงทุนก็จะน้อยตามไปด้วย ทั้งนี้ สัดส่วนงบลงทุนตามปกติของงบประมาณรายจ่ายระยะที่ผ่านมา จะอยู่ในสัดส่วนประมาณ 16-17% ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 นี้ อยู่ในสัดส่วนประมาณ 17% หรือมีวงเงินจำนวน 4.8 แสนล้านบาท เผยยังไม่มีโครงการ2ล้านล้าน "ในการจัดทำรายจ่ายงบลงทุนในงบประมาณปี 2558 ขณะนี้ ยังไม่ได้มีการนำวงเงินงบลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 2 ล้านล้านบาทมาใส่ไว้ แต่จะเป็นงบลงทุนตามปกติของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งเราจะออกประกาศแนวปฏิบัติเกี่ยวกับงบลงทุนไปยังทุกหน่วยงานว่า แผนการลงทุนนั้น จะต้องพร้อมที่จะลงทุนทันทีและมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย" นายสมศักดิ์ กล่าว ทั้งนี้ รูปแบบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปี 2558 นั้น ยังเป็นแบบขาดดุลงบประมาณ โดยวงเงินการขาดดุลจะอยู่ที่จำนวน 2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่า ยังอยู่ในเป้าหมายการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในปี 2560 ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะมีรายได้เข้ามาเพิ่มระหว่างปี ก็สามารถตั้งงบประมาณกลางปีได้ "ขณะนี้ เรายังยึดรูปแบบการจัดทำงบประมาณ ที่จะต้องเข้าสู่จุดสมดุลในปี 2560 ไว้เหมือนเดิม ยกเว้นรัฐบาลใหม่จะเปลี่ยนแปลง" เบิกจ่ายงบลงทุนใกล้เคียงปีก่อน สำหรับความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายปี 2557 นั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ ยอดการเบิกจ่ายยังถือว่า เป็นไปตามเป้าหมาย โดยในส่วนงบลงทุนนั้น สามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท หรือ 36.59% ของงบลงทุนรวม ถือว่า ใกล้เคียงกับปีก่อนที่เบิกจ่ายได้ 36.02% "ถ้าดูจากสภาพการณ์เบิกจ่ายในขณะนี้ ยอดการเบิกจ่ายก็น่าจะไปได้เรื่อยๆ และ มียอดเบิกจ่ายรวมที่ใกล้เคียงเป้าหมาย โดยในส่วนงบลงทุนที่เกินกว่า 1 พันล้านบาทนั้น แม้จะต้องรอรัฐบาลใหม่ ก็มีสัดส่วนเพียง 7 พันล้านบาท ส่วนงบลงทุนที่เกินกว่า 100 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 1 พันล้านบาท แม้จะไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ แต่หลายหน่วยงานก็กังวลในข้อกฎหมาย ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ได้ส่งหนังสือเวียนว่า สามารถปฏิบัติได้ เพราะอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ฉะนั้น ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร โดยงบลงทุนนี้มีจำนวนหลายหมื่นล้านบาท" นายสมศักดิ์ กล่าว Tags : สำนักงบประมาณ • เศรษฐกิจ • การเมือง