หวั่นดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นเร็ว

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 11 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    นักเศรษฐศาสตร์ฟันธงเงินบาทไทยครึ่งปีหลังอ่อนค่า จากนโยบายการเงินสหรัฐที่ส่อปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ระยะสั้นช่วง 1-2 เดือนนี้ มีโอกาสที่เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยบวกภายในประเทศ รวมทั้งผลตอบแทนที่แนวโน้มยังอยู่ในระดับที่ดี ภาพรวมจึงมีโอกาสที่เงินบาทอาจแข็งค่ากลับไปแตะระดับ 31.8 บาทต่อดอลลาร์ได้อีกรอบ

    อย่างไรก็ตามช่วงเดือนต.ค.ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เงินทุนต่างชาติอาจไหลกลับออกไปได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้นชัดเจน นักลงทุนเริ่มกลับมาคาดการณ์ถึงโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ต่างชาติเริ่มถอนการลงทุนออกไป

    “เดือนต.ค.ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ต้องติดตามดู เพราะมาตรการคิวอี (มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ) จะหมดลงในเดือนนี้ จึงต้องดูว่านักลงทุนจะมองการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอย่างไร ซึ่งตรงนี้จะมีผลต่อการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ และทำให้เงินบาทอาจอ่อนค่าลง”นายอมรเทพกล่าว

    เขากล่าวด้วยว่า ช่วงครึ่งปีหลังจึงต้องติดตามดูนโยบายการเงินของทางเฟดให้ดีว่าจะส่งสัญญาณไปทางใด แต่เชื่อว่าแม้เฟดจะส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็คงไม่ทำให้การไหลกลับของเงินทุนเคลื่อนย้ายมีความรุนแรงมากเท่ากับตอนที่ส่งสัญญาณลดมาตรการคิวอี เนื่องจากเฟดเองก็ได้เรียนรู้จากการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดในครั้งนั้นแล้ว จึงเชื่อว่าเงินบาทช่วงครึ่งปีหลัง หากจะอ่อนค่าลงก็คงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเชื่อว่าปลายปีเงินบาทน่าจะอยู่ที่ระดับ 33.5-34 บาทต่อดอลลาร์

    นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า หากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐยังออกมาดีต่อเนื่อง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาด โดยอาจเห็นเฟดเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คงมีผลทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความผันผวนมากขึ้นด้วย

    ส่วนการแข็งค่าของเงินบาทที่เกิดจากภาวะเงินทุนไหลเข้าในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ เชื่อว่าน่าจะเป็นการแข็งค่าเพียงช่วงสั้น เพราะในมุมมองของ ศูนย์วิจัยกสิกร ยังมองว่า ช่วงปลายปีมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงได้ โดยทางธนาคารกสิกรไทย ได้ประเมินค่าเงินบาทช่วงปลายปีไว้ที่ระดับ 33-33.5 บาทต่อดอลลาร์

    นายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ กล่าวว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าไทยในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินทรัพย์ต่างๆ ได้ปรับลดลงไปมาก โดยเฉพาะเมื่อ เฟด ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จึงทำให้เม็ดเงินบางส่วนไหลออกจากประเทศอุตสาหกรรมหลัก กลับเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น

    อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการไหลเข้าคงเป็นเพียงแค่ช่วงสั้น เพราะในที่สุดเมื่อเฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สุดท้ายเงินเหล่านี้ก็คงไหลกลับออกไป ดังนั้นระยะยาวเรายังเชื่อว่าเงินบาทมีทิศทางของการอ่อนค่าอยู่ โดยมองว่า ช่วงปลายปีมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเงินบาทกลับไปอยู่ที่ระดับ 32.5-33 บาทต่อดอลลาร์

    “ระยะสั้นมีโอกาสที่เงินต่างชาติยังไหลเข้ามา โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเอื้อหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมประชุมของ สนช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งหน้าตาใหม่ของครม.(คณะรัฐมนตรี) ก็คงมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่เชื่อว่าคงเป็นระยะสั้น โดยระยะยาวน้ำหนักยังอยู่ที่เรื่องดอกเบี้ยนโยบายของทางเฟดที่อาจปรับเพิ่มขึ้น” นายกำพลกล่าว

    นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนต่างชาติกล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หลังจากที่ เฟด ส่งสัญญาณว่า อาจจะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เม็ดเงินจำนวนมากไหลออกจากประเทศอุตสาหกรรมหลัก เข้ามาเก็งกำไรส่วนต่างดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ค่าเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น

    “ช่วงนี้เงินทุนไหลเข้าเอเชียจำนวนมาก อย่างของไทยเดือนก.ค.เดือนเดียวเข้ามามากกว่า 1.5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เข้าบอนด์ของแบงก์ชาติ เรียกว่าเป็นการทำแครี่เทรด (การยืมเงินที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนได้สูงกว่า) มากินส่วนต่างดอกเบี้ย จะเห็นว่าเข้ามาในบอนด์รุ่นอายุ 3-6 เดือนจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็จะถือจนครบกำหนด เพื่อหาผลตอบแทนจากส่วนต่างดอกเบี้ย และค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น” นายพิพัฒน์กล่าว

    อย่างไรก็ตามการไหลเข้าของเงินทุนเหล่านี้ มองว่าเป็นเพียงช่วงสั้นเท่านั้น ระยะยาว 6-12 เดือนข้างหน้าเชื่อว่า โอกาสที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่ามีมากกว่าทิศทางการแข็งค่า โดยประเด็นที่ต้องจับตา คือ การดำเนินนโยบายการเงินของเฟด

    Tags : อมรเทพ จาวะลา • ค่าเงินบาท • ธนาคารซีไอเอ็มบี • สหรัฐ • ดอกเบี้ย

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้