"แบงก์ชาติ"มั่นใจสภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ยังสูง แม้สัดส่วน"แอลทีดี"พุ่งแตะ98.3% เผยสอยู่ในรูปผลิตภัณฑ์การออม ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานตัวเลขสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและตั๋วแลกเงิน (แอลทีดี) ของธนาคารพาณิชย์ในเดือนมิ.ย.2557 อยู่ที่ 98.3% ซึ่งเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดคำถามว่า สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เริ่มตึงตัว และอาจกระทบต่อแผนการปล่อยสินเชื่อในอนาคต นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แม้สัดส่วน แอลทีดี ของธนาคารพาณิชย์ไทยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 98.3% แต่โดยภาพรวมแล้วไม่ได้น่ากังวล เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังมีสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนอื่นที่สามารถแปลงกลับมาอยู่ในรูปของเงินฝาก เพื่อนำไปใช้ในการปล่อยสินเชื่อได้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนแอลทีดีของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำ ทำให้ผู้ฝากเงินโยกเงินฝากไปอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์การออมประเภทอื่น เช่น กองทุนรวม หรือ ประกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ยังคงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของธนาคารพาณิชย์เช่นเดิม และธนาคารพาณิชย์เองก็มีความสามารถที่จะโยกเงินออมที่อยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลับมาในรูปของเงินฝากได้ถ้าต้องการ ดังนั้นการที่สัดส่วน แอลทีดีเพิ่มสูงขึ้น จึงไม่ได้สะท้อนภาพการตึงตัวของสภาพคล่องแต่อย่างใด “แบงก์พาณิชย์มีความสามารถในการบริหารจัดการ หรือระดมเงินฝากกลับมาที่ตัวแบงก์ได้ถ้าจำเป็น หรือหากเขาต้องการจะใช้เงินเพื่อปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล และเท่าที่แบงก์ชาติได้พิจารณา ก็เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่องของสภาพคล่อง เพราะเขายังมีสินทรัพย์สภาพคล่องอื่นที่สามารถแปลงกับมาเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรของธปท. เป็นต้น” นางรุ่งกล่าว เธอยืนยันว่า สภาพคล่องไม่ใช่ปัญหาของธนาคารพาณิชย์ เพราะปัจจุบัน ธปท. ยังทำหน้าที่ดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบการเงินกว่า 4.5 ล้านล้านบาท ดังนั้นหาก ธปท. เห็นว่าระบบการเงินเริ่มมีสภาพคล่องที่ตึงตัว ทาง ธปท. ก็สามารถปล่อยเงินจากการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินเหล่านี้เข้าสู่ระบบได้ การพิจารณาเรื่องสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ธปท.ไม่ได้ดูแค่ตัวสัดส่วน แอลทีดี แต่ดูรวมถึงการแข่งขันด้านเงินฝากด้วย ถ้าธนาคารพาณิชย์ต้องการระดมเงิน เพื่อใช้ปล่อยสินเชื่อจริง มักสะท้อนออกมาในรูปของการแข่งขันเพื่อแย่งชิงเงินฝาก สำหรับการแข่งขันด้านการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปัจจุบัน ยอมรับว่า เริ่มมีให้เห็นบ้าง แต่ไม่รุนแรงเท่ากับช่วงต้นปี 2556 ซึ่งการแข่งขันถือว่ามีความรุนแรงค่อนข้างมาก โดยจะเห็นการออกผลิตภัณฑ์เงินออมพิเศษใหม่ๆ ต่อเนื่อง ซึ่งภาพดังกล่าวยังค่อนข้างแตกต่างจากปัจจุบัน “เรายังเห็นว่าแบงก์พาณิชย์ มีสภาพคล่องเพียงพอ โดยมีผลิตภัณฑ์การออมประเภทอื่นที่แปลงกลับมาเป็นเงิน เพื่อใช้ปล่อยสินเชื่อได้ ซึ่งการแข่งขันด้านเงินฝากยังไม่ได้ดุเดือดนัก” นางรุ่งกล่าว ส่วนแนวโน้มการแข่งขันด้านเงินฝากในอนาคตนั้น เธอกล่าวว่า การแข่งขันคงไม่กลับไปรุนแรงเท่ากับช่วงต้นปี 2556 เพราะเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน ยังเป็นการทยอยฟื้นตัว ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ ยังมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับด้านครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน แม้จะเริ่มดีขึ้น แต่กิจกรรมการลงทุนยังไม่ได้สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนนัก รวมทั้งก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์ได้ระดมเงิน เพื่อใช้ในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตามความต้องการที่มาจากโครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งความต้องการสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ในปัจจุบันไม่ได้มีมาก ทำให้ความจำเป็นที่ต้องระดมเงินทุนเพื่อใช้ปล่อยสินเชื่อก็ลดลงตามไปด้วย นางรุ่ง กล่าวด้วยว่า อีกส่วนหนึ่ง คือ ก่อนหน้านี้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (เอสเอฟไอ) ที่มีค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันเอเอฟไอเหล่านี้ เริ่มหันกลับมาดำเนินนโยบายตามพันธกิจมากขึ้น ดังนั้นภาพการแข่งขันที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าสภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ ตึงตัวจึงไม่น่าจะมีมากเท่ากับในอดีต สำหรับอัตราส่วน แอลทีดี ของธนาคารพาณิชย์ไทยได้ปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2553 มีสัดส่วนอยู่ที่ 88.3% ปี 2554 อยู่ที่ 89.9% ปี 2555 อยู่ที่ 93.1% ปี 2556 อยู่ที่ 96.6% และในเดือนมิ.ย.2557 อยู่ที่ 98.3% Tags : ธนาคารแห่งประเทศไทย • สภาพคล่อง