ตำนาน 22 ปี พฤษภาทมิฬ มรดก นายกฯคนกลาง ถึง กปปส.

หัวข้อกระทู้ ใน 'การเมือง' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 19 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    [​IMG]

    ท่ามกลางวิกฤตการเมืองที่ยังไม่เห็นทางยุติ เสียงเรียกหา "คนกลาง" ก็กลับมาดังขึ้นอีกครั้งหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสัปดาห์ก่อน

    เป็นเสียงที่ดังจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ทั้ง กปปส.-พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่หวังให้มีกระบวนการจัดตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง สานต่อภารกิจปฏิรูปประเทศ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม

    แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจนอกระบบ ตามคำปรามาสของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง

    แม้จะยังไม่เห็นทางออก-คำตอบที่เป็นรูปธรรม หากแต่หลายฝ่ายพยายามโยงใยย้อนอดีตถึงการได้มาซึ่ง "นายกรัฐมนตรีคนกลาง" ที่เกิดขึ้นเมื่อ 22 ปีก่อนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535

    เป็นเหตุการณ์การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 นามว่า "อานันท์ ปันยารชุน" ผู้ที่ได้รับฉายาว่า "ผู้ดีรัตนโกสินทร์" เหตุผลที่ "พล.อ.สุจินดา" เลือก "อานันท์" มี 3 เหตุผลหลัก

    1.ประสบความสำเร็จในชีวิตข้าราชการ เป็นถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

    2.เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

    3.ต่างประเทศให้การยอมรับ

    อย่างไรก็ตาม การถูกเสนอชื่อให้รับตำแหน่ง เกิดขึ้นหลังจากที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เพิ่งกระทำการยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยอ้างเหตุการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักในรัฐบาล รวมถึงมีความพยายามในการทำลายสถาบันทหาร

    การเลือก "อานันท์" ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาพร้อมกับการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 20 คน เพื่อปฏิบัติภารกิจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว

    สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญในฉบับดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องเป็น ส.ส. รวมถึงการระบุให้ประธาน รสช.เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

    ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ก็ทำให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะรัฐประหาร รสช. ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ต่อจาก "อานันท์" ที่บริหารประเทศได้เพียง 1 ปีเศษ

    และก็กลายเป็นชนวนเหตุที่สำคัญนำไปสู่เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ และนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดของประชาชนในที่สุด

    พล.อ.สุจินดาที่เพิ่งได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับถูกประชาชน-กลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะเขาเป็นประธาน รสช.ที่เคยประกาศไว้ว่าหลังการรัฐประหารจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ

    เป็นที่มาแห่งวาทกรรมจารึกในประวัติศาสตร์ "เสียสัตย์เพื่อชาติ"

    ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้คัดค้าน พล.อ.สุจินดาประกอบด้วย การอดอาหารของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รวมถึงการเคลื่อนไหวจากกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ

    ประกอบกับมีกลุ่มการเมืองที่ให้การสนับสนุน ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเอกภาพ พรรคความหวังใหม่ และพรรคพลังธรรม ซึ่งทั้งหมดมีข้อเรียกร้องเพียงหนึ่งเดียวคือ ขอให้ พล.อ.สุจินดาลาออกจากตำแหน่ง และเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

    เหตุการณ์พฤษภาทมิฬถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ม็อบมือถือ" เพราะผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเขตตัวเมือง เป็นนักธุรกิจหรือบุคคลวัยทำงาน ประกอบกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย และถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารในครั้งนี้

    การชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม สถานการณ์เริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้น หลังรัฐบาลสั่งระดมทหารเข้ามารักษาการในกรุงเทพฯ จนนำไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่

    กระทั่งในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม ขณะที่ประชาชนเคลื่อนขบวนจากสนามหลวงไปยังถนนราชดำเนิน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ตำรวจ-ทหารได้สกัดการเคลื่อนขบวนดังกล่าวจนเกิดการปะทะกันในหลายจุด กระทั่งมีการบุกเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง

    เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน บริเวณพื้นที่กรุงเทพฯในเช้าของวันที่ 18 พฤษภาคม เพื่อเปิดทางให้ทหารเข้ามาทำหน้าที่รักษาความสงบ ซึ่งการปะทะกันในวันนั้นก็นำไปสู่การใช้กระสุนจริงจนมีผู้เสียชีวิต

    และในวันเดียวกัน พลตรีจำลองก็ถูกทหารควบคุมตัวบริเวณถนนราชดำเนิน พร้อมกับการออกประกาศจับแกนนำ 7 คน ประกอบด้วย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล, นายแพทย์เหวง โตจิราการ, นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, นางสาวจิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์

    ส่งผลให้ประชาชนเริ่มทยอยออกมาชุมนุมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและเริ่มเกิดการปะทะกันรุนแรงมากขึ้นในคืนวันนั้น ในบริเวณถนนราชดำเนิน

    กระทั่งวันที่ 19 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าควบคุมพื้นที่ถนนราชดำเนินกลาง และมีการจับกุมประชาชนจำนวนมาก แม้ พล.อ.สุจินดาจะแถลงการณ์ย้ำว่า สถานการณ์เริ่มกลับสู่ความสงบ และไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุม

    แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้ประชาชนบางส่วนถอยกลับมาร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเริ่มมีการก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านรัฐบาลและสถานการณ์ยังคงตึงเครียด กระทั่งในคืนวันที่ 20 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย ซึ่งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยนำเทปบันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าวออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทั้ง 5 ช่อง หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ พล.อ.สุจินดาจึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทนเป็นการชั่วคราว

    ขณะที่ฝ่ายพรรครวมเสียงข้างมากร่วมกันสนับสนุนให้ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร "อาทิตย์ อุไรรัตน์" รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กลับตัดสินใจเสนอชื่อ "อานันท์ ปันยารชุน"ขึ้นทูลเกล้าฯแทน

    แม้จะไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ก็ทำให้ "อานันท์" กลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2

    เป็นอีกหนึ่งตำนาน-นายกฯคนกลาง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ ก่อนที่จะมีการจัดเลือกตั้งใหม่

    นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา
     

แบ่งปันหน้านี้