แบงก์ออฟ อเมริกา เมอร์ริลลินช์ สำรวจผู้จัดการกองทุนกว่า 200 รายทั่วโลก พบ เพิ่มการถือครองเงินสดสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี กลัววิกฤติด้านการเมือ ในกลางเดือนพ.ค.ปีนี้ แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ได้จัดสำรวจมุมมองและความเห็นของผู้จัดการกองทุนทั่วโลกกว่า 200 ราย เกี่ยวกับกลยุทธ์และการปรับพอร์ตของพวกเขาในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ปรากฏผลว่าผู้จัดการกองทุนกลุ่มตัวอย่างซึ่งถือเป็นนักลงทุนระดับโลก เพิ่มการถือครองเงินสดไว้ในพอร์ตมากขึ้นและมากที่สุดในรอบ 2 ปี พร้อมกับปรับลดการลงทุนในหลักทรัพย์ลง ในภาวะตลาดการเงินโลกผันผวน จนทำให้ผู้จัดการกองทุนลังเลและไม่แน่ใจว่าจะนำเงินไปลงทุนที่ใด เปอร์เซ็นต์ลงทุนหุ้นลด การสำรวจในเดือนพ.ค.ปีนี้ ของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ระบุว่าผู้จัดการกองทุนกลุ่มตัวอย่าง 218 ราย โดยเฉลี่ยถือเงินสดไว้ในพอร์ตที่ระดับ 5% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2555 หรือในรอบเกือบ 2 ปี และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 4.6% ในเดือนเม.ย.ปีนี้ ขณะที่การจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการลงทุนของผู้จัดการกองทุนเหล่านี้ยังลดการลงทุนในสินทรัพย์ลง โดยปรับลดลงจาก 45% ในเดือนเม.ย.เหลือ 37% ในเดือนพ.ค.นี้ ทั้งนี้ผู้จัดการกองทุนมากกว่า 1 ใน 3 บอกว่าวิกฤตทางภูมิศาสตร์การเมืองถือเป็นภัยคุกคามเสถียรภาพตลาดการเงินโลกมากที่สุด ขณะที่ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างชี้ว่าพวกเขาหวาดกลัวกับสถานการณ์การผิดนัดชำระคืนหนี้ของชาวจีน ไมเคิล ฮาร์ทเนตต์ ประธานฝ่ายวางแผนการลงทุนของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ โกลบอล รีเสิร์ช กล่าวว่าบรรดานักลงทุนต่างแสดงความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจโลก แต่พวกเขายังคงมีคำถามใหญ่ที่ค้างคาใจอยู่ 2 เรื่อง คือโลกอยู่ในจุดล่อแหลมต่อการเกิดเหตุการณ์เป็นความแตกแยกกันหรือไม่ และเหตุใดในวัฎจักรที่เกิดขึ้นขณะนี้นั้น การฟื้นตัวจึงไม่แข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม การสำรวจผู้จัดการกองทุน 218 รายมีสินทรัพย์บริหารรวมกัน 5.87 แสนล้านดอลลาร์ พบว่าผู้จัดการกองทุนเหล่านี้ระมัดระวังและรอบคอบกับการลงทุนในหุ้น เพราะมีอยู่ 15% ของกลุ่มตัวอย่างที่เพิ่มการลงทุนในหุ้นความเสี่ยงต่ำซึ่งอยู่ในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค และมีอยู่ 8%ปรับลดการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีและแบงก์ จอห์น เอฟ.เวล หัวหน้านักวางแผนการลงทุนระดับโลก ของนิกโก้ แอสเซต แมเนจเมนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดการสินทรัพย์ขนาดใหญ่สุดในระดับภูมิภาค กล่าวว่าบริษัทของเขาได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นลงจากระดับเหนือเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี โดยให้น้ำหนักลงทุนหุ้นเป็นปานกลาง และเขายอมรับว่าความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมืองเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เขากังวลมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้จากข้อมูลของไอซีไอสถาบันวิเคราะห์แนวโน้มตลาดการเงินโลก ระบุว่าความผันผวนในตลาดหุ้น ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นและสร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุน ซึ่งนำไปสู่ภาวะการไหลออกของเงินทุน ที่เข้าไปลงทุนในหุ้นสหรัฐช่วง 2 สัปดาห์ก่อน และหลังจากเคยมีเงินไหลเข้าสุทธิช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา กลัวศก.จีนชะลอตัวแรง ก่อนหน้านี้ ผลสำรวจของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ในเดือนก.พ.ปีนี้ โดยสอบถามความเห็นกลุ่มผู้จัดการกองทุนทั่วโลก พบว่าผู้จัดการกองทุนได้จัดสรรเงินลงทุนเข้าไปในตลาดหุ้นสหรัฐมากขึ้น ด้วยการให้น้ำหนักลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐเหนือเกณฑ์เฉลี่ย และลดการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก นอกจากนี้มีผู้จัดการกองทุนในสัดส่วนหรือเปอร์เซ็นต์มากขึ้น ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวลงแรง และสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงอย่างหนัก ถือเป็นความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจโลกมากที่สุด ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้มีมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่การจัดสรรเงินลงทุนของบรรดาผู้จัดการกองทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก อยู่ในสัดส่วนที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้มีจำนวนผู้จัดการกองทุนเพิ่มขึ้น ระบุว่ายูโรโซนเป็นตลาดที่พวกเขาต้องการจะให้น้ำหนักลงทุนเหนือเกณฑ์เฉลี่ยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า และในตลาดสหรัฐแม้เป็นตลาดสร้างความกังวลให้ผู้จัดการกองทุน แต่ผู้จัดการกองทุนกลุ่มตัวอย่างยังจัดสรรเงินลงทุนเข้าตลาดสหรัฐถึง 11% ตรงข้ามกับการสำรวจในเดือนมี.ค.ที่จัดสรรเงินลงทุนในตลาดสหรัฐเพียง 5% จับตา5ความเสี่ยงตลาดโลก ทั้งนี้ซีเอ็นบีซีได้รวบรวมความเห็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความเสี่ยง ที่อาจก่อเกิดปัญหาให้ตลาดโลกได้ในปี 2557นี้ ซึ่งความเสี่ยงแรกคือความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยในตลาดโลกอาจสูงขึ้นเร็ว ขณะที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะสหรัฐปรับตัวดีขึ้น ควรจะช่วยต้านทานรับมือกับภาวะแวดล้อมดอกเบี้ยปรับขึ้นมาก แต่ประเด็นน่ากังวลนี้อยู่ที่ว่า อัตราดอกเบี้ยอาจปรับขึ้นเร็วและมากจนเกินไป จอห์น สตอลท์ฟุส หัวหน้าวางแผนการลงทุนของออพเพนไฮเมอร์ แอสเซต แมเนจเมนท์ กังวลว่าการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัย อาจได้รับอันตรายจากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นเร็วเกินไป และอันตรายจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านสูงขึ้นแบบทันทีทันใด ความเสี่ยงที่สองคือกำไรบริษัทลดลง ซึ่งแจ็ค แอบลิน ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของบีเอ็มโอ ไพรเวท แบงก์ ให้มุมมองอีกด้านหนึ่งว่ามีความเป็นไปได้ที่ความเสี่ยงอาจทำให้กำไรขยายตัวได้เพียง 3.5% จากระดับสูงสุดเคยทำได้ที่ 10% โทเบียส เลฟโควิช หัวหน้าฝ่ายวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ของซิตี้ กรุ๊ป กล่าวว่ากำไรขยายตัวอ่อนแอนั้นแน่นอนว่าเป็นความเสี่ยง พร้อมประเมินไว้จะมีเพียง 2 ธุรกิจจากทั้งหมด 10 ภาคธุรกิจ ที่มีกำไรจากส่วนต่างเพิ่มขึ้นและมากกว่ากำไรเคยทำได้สูงสุดในปี 2550 ความเสี่ยงที่สาม คือเงินเฟ้อปรับขึ้น เมื่อเฟดประกาศจะเริ่มลดใช้นโยบายผ่อนคลายการเงิน (คิวอี) ทำให้คาดการณ์เกี่ยวกับเงินเฟ้อนั้นลดลงไปพร้อมๆ กับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แต่มีนักวิเคราะห์หลายรายต่างกังวลว่าเศรษฐกิจอาจแข็งแกร่งขึ้น และแข็งแกร่งมากพอที่จะไปกระตุ้นให้เงินเฟ้อปรับขึ้น ถึงแม้ว่าเฟดพยายามจะคงดอกเบี้ยให้อยู่ระดับต่ำ ความเสี่ยงที่สี่ อยู่ที่ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ เลฟโควิชจากซิตี้ กรุ๊ป ชี้ว่าการเจรจาเพดานหนี้สหรัฐ อาจเป็นพลวัตการเมืองซึ่งผู้คนทั่วไปเริ่มกังวลอีกครั้ง เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปีนี้ และปัญหานี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่มีความหลากหลาย แต่คิดว่ารัฐบาลสหรัฐยังเป็นประเด็นต้องจับตามองในปีนี้ สุดท้ายเป็นความเสี่ยง ที่เป็นปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศต่างๆทั่วโลก ในมุมมองของ เลฟโควิชจากซิตี้ กรุ๊ป เชื่อว่าความเสี่ยงนี้อาจสร้างความปั่นป่วนให้กับค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกได้ ขณะที่ สตอลท์ฟุส มองว่าภาวะสินเชื่อตึงตัวในตลาดจีน อาจสร้างความอึมครึมให้ตลาดโลกได้ ส่วน แอบลินกลับมองว่าส่วนที่เขาให้ความสนใจและจับตาดูเป็นพิเศษคือยุโรป เพราะเขาเห็นว่ายุโรปจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่าง เพื่อให้แน่ใจว่ามีส่วนร่วมช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ Tags : กองทุน • การเมือง