ซีไอเอ็มบีลุยตลาดสินเชื่อรายเล็ก

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 7 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ซีไอเอ็มบีเล็งขยายสินเชื่อบุคคล เจาะลูกค้ารายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หวังดึงหนี้นอกระบบเข้ามา

    น.ส.อรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารจะกลับมาทำตลาดสินเชื่อบุคคลในกลุ่มลูกค้าที่มีเงินเดือนขั้นต่ำ 9,000 บาทอีกครั้ง หลังจากที่ได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวมาระยะหนึ่ง เนื่องจากปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น

    หลังจากที่ธนาคารประสบความสำเร็จ ในการพัฒนาระบบพิจารณาสินเชื่อ (Credit Scoring) ในเฟสแรก ทำให้มีประสิทธิภาพในการกลั่นกรองลูกค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงกลับเข้ามาทำตลาดในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อยลงอีกครั้ง

    ธนาคารมีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อบุคคล เสนอให้กับกลุ่มลูกค้าซึ่งมีเงินเดือนขึ้นต่ำ 9,000 ในไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อเป็นโครงการทดลอง (Pilot Project) หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ประสบความสำเร็จ ธนาคารจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบต่อไปในไตรมาสแรกของปีหน้า

    โดยเชื่อว่าภายหลังการพัฒนาระบบเครดิต สกอริ่ง ตามความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละกลุ่ม (Segmentation) แล้ว จะสามารถควบคุมหนี้เสียจากกลุ่มลูกค้าดังกล่าวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ในอัตราดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผลมากขึ้น โดยจะเน้นลูกค้าที่มีรายได้ประจำหรือมนุษย์เงินเดือน และเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก

    ทั้งนี้ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อบุคคลใหม่คือเพอร์ซันแนลแคชตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา โดยคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 15% ต่อปี ตลอดอายุสัญญากู้ ผ่อนนานสูงสุด 36 เดือน สำหรับพนักงานที่มีรายได้ประจำ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และได้รับวงเงินอนุมัติขั้นต่ำ 50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นสินเชื่อบุคคลที่ให้ดอกเบี้ยพิเศษที่สุดในตลาดขณะนี้

    สำหรับพนักงานที่มีรายได้ประจำ 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และได้รับวงเงินอนุมัติขั้นต่ำ 50,000 บาทขึ้นไป จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 18% ต่อปี ตลอดอายุสัญญากู้ ผ่อนนานสูงถึง 60 เดือน

    น.ส.อรอนงค์ กล่าวว่า ก่อนที่ธนาคารจะปรับระบบเครดิต สกอริ่ง ผลิตภัณฑ์สินเชื่อบุคคลเดิมที่ให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 18% ต่อปีนั้น ลูกค้าต้องมีรายได้ขั้นต่ำสูงถึง 60,000 บาทต่อเดือน จึงสะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาระบบเครดิต สกอริ่ง ช่วยให้ลูกค้าที่มีรายได้น้อยลงเข้าถึงสินเชื่อในอัตราพิเศษได้ง่ายขึ้น ตามระบบกลั่นกรองลูกค้ารายกลุ่มของธนาคาร

    นอกจากนี้ ธนาคารคาดว่า ภายใต้อัตราดอกเบี้ยพิเศษนี้ จะสามารถขยายสินเชื่อบุคคลในปีนี้ได้อีก 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลสิ้นปีนี้จะเพิ่มถึง 13,000 ล้านบาท จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 9,500 ล้านบาท ขณะที่จำนวนลูกค้าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30,000-50,000 ราย จาก 140,000 รายในปัจจุบัน

    สำหรับสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ภายหลังการปรับระบบเครดิต สกอริ่ง เชื่อว่า จะสามารถควบคุมเอ็นพีแอลใหม่ได้ดียิ่งขึ้น โดยคาดสัดส่วนเอ็นพีแอลใหม่จะมีเพียง 1% เท่านั้น เทียบกับเอ็นพีแอลของสินเชื่อบุคคลในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 3.8-3.9% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ซึ่งอยู่ในระดับคงที่มา 3 เดือนแล้ว ตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

    ส่วนอัตราการอนุมัติสินเชื่อใหม่ของธนาคาร ยังคงอยู่ในระดับต่ำ 30% ของยอดการสมัครรวม สอดคล้องกับระบบบริหารความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยธนาคารกำหนดอัตราภาระหนี้สินของลูกค้าไม่เกิน 95% ขณะที่ธนาคารยังมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงที่ 82% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทำให้การแข่งขันสินเชื่อบุคคลยังไม่สูงมากนัก

    "ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นทำให้แนวโน้มใบสมัครสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าการแข่งขันในตลาดสินเชื่อบุคคลจะกลับมาชัดเจนกลางปีหน้าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ การแข่งขันคงไม่รุนแรงมากนัก เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นยังเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ต้องรอบคอบมากขึ้น ทำให้คาดว่าจะเห็นการแข่งขันด้านโปรโมชั่นและกิมมิกต่างๆ มากกว่าการแข่งขันดอกเบี้ย"

    ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตพอร์ตสินเชื่อรายย่อยโดยรวมที่ 70,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 52,000 ล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นพอร์ตหลักโดยมีสัดส่วน 82% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย

    Tags : อรอนงค์ อุดมก้านตรง • สินเชื่อ • ธนาคารซีไอเอ็มบี

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้