"ปลัดคลัง"รับปรับเงินเดือนข้าราชการแบบพิเศษอีก 2% ส่อไม่ทันต.ค.นี้ เลื่อนเป็นเม.ย.ปีหน้า เผยดึงงบเหลือจ่าย พร้อมหาแหล่งรายได้อื่นโปะเพิ่ม ด้าน สศค. เผยเงินเดือนข้าราชการที่ขยับขึ้น 2% มีผลต่อเม็ดเงินใหม่ 1.16 หมื่นล้านบาท ดันเศรษฐกิจขยายตัว 0.6% กรมบัญชีกลางยันขึ้นเป็น 8 %ใช้เงินเพิ่ม 4.7 หมื่นล้าน ผู้ผลิตสินค้ายันไม่ปรับราคาสินค้าตาม ห่วงค่าแรงขอขึ้นตามเงินเดือนข้าราชการ การพิจารณาเงินเดือนข้าราชการเพิ่มพิเศษจากเดิมแต่ละปีเพิ่มขึ้น 6 % คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นว่าควรปรับขึ้น 1-2 % แต่ส่วนเพิ่มดังกล่าวไม่สามารถดำเนินได้ทันในวันที่ 30 ก.ย.ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนเริ่มปีงบประมาณใหม่ จึงต้องเลื่อนไปปรับขึ้นเงินเดือนในเดือนเม.ย.ปี 58 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั่วประเทศ ที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านราย ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยได้ให้กรมบัญชีกลาง ไปกำหนดแนวทาง ซึ่งจะให้มีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทุกคน แต่ข้าราชการที่มีรายได้น้อยจะได้รับการขึ้นในอัตราที่สูงกว่าข้าราชการระดับสูง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยอมรับว่าการปรับขึ้นเงินเดือนดังกล่าว อาจไม่สามารถดำเนินการได้ทันเดือนต.ค.ปีนี้ แต่น่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนเม.ย.ปี 2558 ส่วนเบี้ยเลี้ยงของทหาร ณ ปัจจุบัน ก็ต้องมีการทบทวนใหม่เพราะในปัจจุบันดูแล้ว ไม่มีความเหมาะสม "น่าจะปรับเดือนเม.ย.2558 โดยรวมแล้ว 6 เดือนก็น่าจะใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และคงไม่มีผลย้อนหลังด้วย ส่วนเงินจะมาจากงบประมาณ และต้องหารายได้จากแหล่งอื่นๆ เพิ่ม"นายรังสรรค์ กล่าว สศค.ชี้ขึ้นเงินเดือนดันจีดีพี 0.6 % ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า โดยปกติข้าราชการจะมีการปรับขึ้นเงินเดือน 6% ต่อปีอยู่แล้ว ซึ่งตามนโยบายคสช.ต้องการให้ขึ้นเป็น 7-8% นั้น สศค.ได้ศึกษาถึงผลกระทบของมาตรการดังกล่าวแล้ว โดยปัจจุบันมีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานราชการ อยู่ที่ 581,400 ล้านบาท ต่อปี หรือ เฉลี่ย 78,450 ล้านบาทต่อเดือน ในกรณีที่มีการขึ้นพิเศษอีก 1%ทั้งระบบ (เป็น 7%) จะมีเม็ดเงินใหม่ส่วนเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านทางรายจ่ายของภาครัฐ จำนวน 5,800 ล้านบาท ต่อปี หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท ต่อไตรมาส มีผลต่อจีดีพี 0.3% และมีผลทำให้เงินเฟ้อเพิ่มจาก 2.5% เป็น 2.59% ในกรณีที่มีการขึ้นพิเศษอีก 2% (เป็น 8 %) จะมีเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จำนวน 11,600 ล้านบาท ต่อปี หรือประมาณ ไตรมาสละ 3,000 ล้านบาท มีผลต่อจีดีพีแค่ 0.6% มีผลทำให้เงินเฟ้อเพิ่มเป็น 2.68% ซึ่งอยู่ในกรอบเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดไม่ควรเกิน 3% "ในระเบียบของสำนักงบประมาณระบุไว้ว่า หากส่วนราชการใดมีเงินเหลือจ่ายและไม่ได้นำไปใช้ ก็ขอให้ส่งคืนคลัง ซึ่งเงินส่วนนี้ก็สามารถจัดสรรกลับไป " ชี้ขึ้น 8 %ผูกพันเพิ่ม 4 หมื่นล้าน นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมกำลังรวบรวมข้อมูลผู้มีสิทธิ์ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนแบ่งเป็น กลุ่มข้าราชการทั่วไป กลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย และผู้ได้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ซึ่งหากปรับเพิ่มทุกกลุ่มในอัตรา 8% จะเป็นภาระงบประมาณสูงถึง 40,000 ล้านบาท และจะผูกพันเป็นภาระในอนาคตเมื่อข้าราชการเกษียณอายุ ภาครัฐจะต้องจ่ายบำนาญในอัตราสูงตามเงินเดือนที่ปรับขึ้น จึงต้องนำเสนอ คสช. เพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม หากจะปรับเพิ่มเงินเดือนเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย ก็จะต้องจำกัดความร่วมกัน ว่าเป็นกลุ่มใดที่ควรจะได้รับสิทธิ์ดังกล่าว ซึ่งในส่วนของข้าราชการบำนาญนั้น เพิ่งปรับขึ้นบำนาญสำหรับผู้ที่ได้รับบำนาญต่ำกว่า 9,000 บาทให้ได้รับ 9,000 บาทไปเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งนี้ หาก คสช.ตัดสินใจปรับขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภทในอัตรา 8% จะมีผู้ได้รับสิทธิ์แบ่งเป็น ข้าราชการ 1.7 ล้านคน, ลูกจ้างประจำ 1.6 แสนคน, พนักงานข้าราชการ 2.1 แสนคน และผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ 6.1 แสนคน โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อเดือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 หมื่นล้านบาท แต่หากปรับขึ้น 7% จะใช้เงินประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน สำหรับการปรับค่าตอบแทนกลุ่มผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ 6 แสนคน หากปรับขึ้นในอัตรา 7% จะใช้งบเพิ่มขึ้นเดือนละ 707 ล้านบาท ชงขึ้นค่าครองชีพ 2,000 บาทต่อเดือน ส่วนแนวทางปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพข้าราชการชั้นผู้น้อย ได้แก่ ข้าราชการและลูกจ้างประจำที่วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ซึ่งจะมีเงินเดือนค่าจ้างไม่ถึง 12,285 บาทต่อเดือน จะเสนอให้ปรับเพิ่มค่าครองชีพเดือนละ 2,000 บาท แต่ต้องไม่เกิน 13,285 บาทต่อเดือน และผู้ที่เงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท จะเสนอปรับเพิ่มค่าครองชีพให้ได้รับเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 2,378 ล้านบาทต่อปี นายมนัสกล่าวด้วยว่า หาก คสช. ตัดสินใจเลือกแนวทางใดแล้ว จะต้องดำเนินการดังนี้ คือ 1. การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวให้แก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำชั้นผู้น้อย ต้องกำหนดเป็นระเบียบกระทรวงการคลัง 2.การปรับเงินช่วยค่าครองชีพ ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และ 3.ปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ต้องออกหนังสือสั่งการกระทรวงการคลัง ขึ้นเงินเดือนขรก.ไม่กระทบสินค้า นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า กรณีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 8% ให้แก่ข้าราชการกว่า 2 ล้านราย ในปีหน้า คาดว่าจะไม่ทำให้ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภค-บริโภคส่วนใหญ่ขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากการขึ้นราคาสินค้าจะมาจากปัจจัยเรื่องต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นเป็นหลัก "การขึ้นเงินเดือนข้าราชการไม่ใช่ตัวกำหนดว่าราคาสินค้าจะขึ้นราคา เพราะตอนนี้ตลาดเป็นของผู้ซื้อไม่ใช่ของผู้ขาย ส่วนฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เพราะตลาดแข่งขันกันเสรี ไม่ได้ผูกขาด" ไลอ้อน-ยูนิลีเวอร์ย้ำไม่ขึ้นราคา นายบุญฤทธิ์ ย้ำว่า สำหรับไลอ้อน ยังไม่มีแผนขึ้นราคาสินค้า และคาดว่าจะตรึงราคาเดิมไปจนถึงสิ้นปี ภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ เช่น ราคาน้ำมันไม่พุ่งขึ้นฉับพลัน ด้านนายสาโรจน์ อินทพันธุ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ตรึงราคาสินค้า 6 เดือน ไปจนถึง พ.ย. 2557 หลังจากนั้นจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดราคาสินค้าต่อไป พึ่งเครื่องจักรหวั่นค่าแรงขึ้นตาม นายธวัชชัย รัตนะพิสิฐ กรรมการ บริษัท พี.เอฟ.พี. เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูปแช่แข็งจากเนื้อปลา ภายใต้แบรนด์“พีเอฟพี” กล่าวว่า โดยทั่วไป ปัจจัยการขึ้นเงินเดือนขรก.อย่างเดียว ไม่มีผลต่อการปรับขึ้นราคาสินค้าของบริษัท แต่ภาคเอกชนอาจมีแนวโน้มพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงตาม ทั้งนี้ มองว่าการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการจะทำให้เงินสะพัดในระบบมากขึ้น สำหรับในช่วงที่ผ่านมา ภาคเอกชนพยายามปรับตัวมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เครื่องจักรเพื่อมาทดแทนกำลังคนมากขึ้น หลังจากแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงลูกจ้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ห่วงเถ้าแก่คุมต้นทุนไม่เป็น นายสุภัค หมื่นนิกร ประธานบริหาร บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด กล่าวว่า ภาครัฐควรจับตาการขึ้นราคาสินค้าของธุรกิจที่บริหารจัดการโดย "เถ้าแก่" เมื่อต้นทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ วัตถุดิบ ค่าแรง จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการเหล่านั้นก็จะหาทางขยับราคาเพื่อทดแทนรายได้ที่จะสูญไปทันที ส่วนผู้ประกอบการมืออาชีพที่มีการบริหารจัดการเป็นระบบ น่าจะอุดการรั่วไหลของต้นทุนต่างๆที่เพิ่มขึ้นได้ดีกว่า "มาม่า" ยันไม่ขึ้นราคา นายพิพัฒน์ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” เปิดเผยว่า ส่วนตัวเชื่อว่าในกลุ่มสินค้าจำเป็นไม่มีผลต่อการปรับขึ้นราคาจากผู้ผลิต เพราะทุกวันนี้แต่ละค่ายออกมาจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้ามากกว่าขึ้นราคา เนื่องจากปริมาณสินค้าที่ออกสู่ตลาดมีมากกว่าความต้องการ รวมถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี อาจจะเห็นการปรับราคาสินค้าจากผู้ประกอบการบางราย ที่ฉวยโอกาสขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหารและฟู้ดคอร์ท เป็นต้น Tags : รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ • ปรับเงินเดือน • ข้าราชการ • กระทรวงการคลัง • ราคาสินค้า