สศค.ชี้2ปัจจัยระเบิดเวลาเศรษฐกิจ

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 19 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สศค.ระบุ ปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินกับการถดถอยของการลงทุน ถือเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจไทย ชี้การเมืองยืดเยื้อศก.ดิ่งเหว

    นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในขณะนี้ ทำให้สศค.มีความกังวลใน 2 ประเด็นสำคัญที่อาจจะถือได้ว่า เป็นระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ คือ ปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินและการถดถอยของการลงทุนในประเทศ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าดิ่งเหวได้

    อย่างไรก็ดี แม้ว่า ขณะนี้ หนี้เสียในระบบสถาบันการเงินของไทย จะยังไม่ขยับสูงขึ้น แต่มีแนวโน้มว่า ระดับสินเชื่อที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ ( Special Mention:SM) จะขยับสูงขึ้น ดังนั้น ในการประชุมร่วมกับแบงก์รัฐในวันที่ 19 พ.ค.นี้ นอกจากจะมีการเสนอแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีแล้ว กระทรวงการคลังยังต้องการให้แบงก์รัฐแต่ละแห่งกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขหนี้เสียด้วย

    ทั้งนี้ ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ระดับหนี้เสียของธนาคารรัฐอยู่ที่ 5.34% ของยอดสินเชื่อคงค้าง 3.7 ล้านล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์เอกชน ซึ่งล่าสุดในไตรมาสแรกของปีนี้ มีหนี้เสียอยู่ที่ 2.3% จากยอดสินเชื่อ 10 ล้านล้านบาท แต่หากนับรวมหนี้เสียของธนาคารรัฐและธนาคารเอกชนจะพบว่า มีจำนวนที่สูงถึง 4 แสนล้านบาท

    "กระทรวงการคลังจะไม่มีมาตรการใหม่ในการเข้าไปสนับสนุนให้แบงก์รัฐเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงนี้ แต่จะให้นโยบายในเรื่องของการควบคุมหนี้ที่ค้างจ่ายไม่เกิน 3 เดือน ไม่ให้เป็นหนี้เสียด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และขอให้แบงก์รัฐที่มีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีและประชาชนอยู่แล้ว ดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ อย่างเต็มที่"

    นายสมชัยกล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เอสเอ็มอีที่มีสายป่านสั้น จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางการเมือง ขณะที่ ภาคสถาบันการเงิน ก็ชะลอการปล่อยสินเชื่อ แต่สินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ และส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อการใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลง

    อย่างไรก็ตาม ถ้าวิกฤตการเมือง ยังไม่สามารถหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ ระเบิดลูกที่สองที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจจะตามมา คือ การถดถอยของการลงทุนในประเทศ ซึ่งขณะนี้ นักลงทุนก็ชะลอการลงทุน รอดูสถานการณ์การเมืองว่า จะมีแนวโน้มคลี่คลายหรือไม่ และ แม้ว่าจะมีนักลงทุนมาขอบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีการลงทุนทันที

    นายสมชัยกล่าวว่า การปรับลดเครดิตเรทติ้งของประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้ง ได้ปรับมุมมองของไทยจาก Positive เป็น Negative แล้ว ขณะที่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ อยู่ระหว่างติดตามทิศทางการเมืองของไทย ซึ่งหากยังไม่มีอะไรดีขึ้น ภายในสิ้นปีนี้ อาจมีการปรับแนวโน้ม (outlook) ของไทย จาก บวก (positive) เป็น ลบ (negative) ก็ได้ และถ้าสถานการณ์เมืองในประเทศยังส่อเค้าเลวร้ายลง ในต้นปีหน้า อาจเห็นประเทศไทยถูกลดเครดิตลงได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการระดมทุนของภาคเอกชนและรัฐบาล

    เขากล่าวว่า ในอดีตเมื่อการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัว จะมีเงินลงทุนของภาครัฐเข้าไปช่วยเสริม แต่ขณะนี้ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เหมือนในอดีต เพราะยังไม่มีรัฐบาลที่จะเป็นผู้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ที่ตามปฏิทินแล้วจะต้องเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

    “ในปีนี้เราอาจจะพอพยุงเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวต่อไปได้ แม้ว่าอัตราการขยายตัวอาจจะต่ำกว่า 2 % ก็ตาม แต่ถ้าสถานการณ์เมืองยังไม่คลี่คลาย ในปีหน้า เราอาจเห็นเศรษฐกิจของประเทศติดลบได้”

    นายสมชัย หวังว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลายและมีทางออกในเร็ววัน เพราะจะทำให้เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม หากการเมืองยังไม่มีทางออก วงจรของวิกฤตเศรษฐกิจที่เราไม่อยากเห็น คือ หนี้เสียสูงขึ้น และ ธนาคารลดการปล่อยสินเชื่อ นำไปสู่การปิดกิจการของธุรกิจ ตามมาด้วยปัญหาการว่างงานในประเทศ ซึ่งปัจจุบันอัตราการว่างงานในประเทศ ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 0.9% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ

    Tags : สมชัย สัจจพงษ์ • เศรษฐกิจ • การเมือง

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้