เมื่อพูดถึงเกมสร้างเมือง หลายคนอาจนึกถึงเกมดังๆ อย่าง SimCity แต่นอกจากนี้แล้ว ยังมีเกมสร้างเมืองอีกหลายเกมที่เน้นความสมดุลหรือมีเนื้อเรื่องในด้านอื่นๆ ซึ่งเกมที่จะรีวิวในครั้งนี้ก็คือ Tropico 5 เกมสร้างเมืองที่มีเนื้อหาในเน้นเรื่องการเมืองการปกครอง ตัวเกมโดยรวมทั่วไปไม่ต่างจากเกมอื่นมากนัก ผู้เล่นจะรับบทเป็นท่านผู้นำของเมือง โดยในยุคเริ่มแรกเราจะได้เป็น “ท่านผู้ว่า” ซึ่งถูกราชวงศ์ผู้มีอำนาจส่งมาปกครองเกาะเล็กๆ เพื่อหาประโยชน์ให้กับราชวงศ์ในยุคล่าอณานิคม หน้าที่โดยทั่วไปก็คือ สร้างแหล่งเพาะปลูก, ฟาร์มปศุสัตว์, พัฒนาเทคโนโลยี, ค้าขายกับภายนอก และมอบความสุขให้กับคนบนเกาะ อย่างไรก็ตาม ทางราชวงศ์นั้นก็ไม่ได้ปกครองให้ราษฎร์มีความสุขมากเท่าไหร่ ประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ ประชาชนส่วนมากเป็น พวกนิยมกษัตริย์ (Royalist) และ พวกนักปฏิวัติ (Revolutionist) ที่มองว่าราชวงศ์เอารัดเอาเปรียบและต้องการแบ่งแยกดินแดนออกเป็นอิสระ เมืองเริ่มต้น กษัตริย์ต้องการเงินไปสร้างพระราชวังใต้น้ำ เป้าหมายของเราคือ เราต้องทำให้ประชาชนบนเกาะของเราเห็นด้วยกับพวกนักปฏิวัติ เพื่อที่เราจะทำการประกาศอิสรภาพ และก้าวขึ้นเป็น “ประธานาธิบดี” (El Presidente) ให้ได้ก่อนที่วาระปกครองของตำแหน่งผู้ว่าจะหมดลง (เริ่มแรกจะมีวาระ 4 ปี) ผู้เล่นจะมี “ท่านลอร์ด” คอยเจรจากับฝั่งกษัตริย์และ “ผู้ช่วย” ที่คอยหาภารกิจให้เราทำเพื่อเพิ่มคะแนนนิยม ตลอดการเล่น การเจรจากับกษัตริย์มักจะเป็นการจ่ายเงินหรือให้ของ เพื่อแลกกับการต่ออายุผู้ว่าหรือเงินเล็กๆ น้อยๆ ส่วนภาระกิจของผู้ช่วย เช่น การขายของให้โจรสลัด จะเป็นการเพิ่มคะแนนนิยม แต่ก็เป็นการลดความสัมพันธ์กับกษัตริย์ และบางครั้งฝ่ายนักปฏิวัติก็จะต้องการให้เราหมิ่นราชวงศ์ (เช่น จีบราชินี) นักปฏิวัติต้องการให้เราหมิ่นราชวงศ์ เมื่อเรามีคะแนนนิยมฝั่งนักปฏิวัติมากเกินครึ่งหนึ่ง ก็จะสามารถปฏิวัติประกาศอิสรภาพจากรางวงศ์ตั้งตัวเองเป็นประเทศอิสระ โดยเมื่อประกาศอิสรภาพ เราจะต้องเขียน “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นมา เพื่อปกครองเกาะของเรา หลักจากนั้นก็จัดการเลือกตั้ง และปกครองประเทศผ่านยุคต่างๆ ให้รุ่งเรืองต่อไป การร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จะกำหนดแนวทางของประเทศ ในการเขียนรัฐธรรมนูญเราจะมีตัวเลือกในหมวดต่างๆ ว่าเราจะปกครองประเทศในแบบไหน โดยในการเขียนครั้งแรกนั้นจะมีให้เลือก 3 หมวด ได้แก่ สิทธิในการเลือกตั้ง ตัวเลือกคือ เลือกได้เฉพาะผู้ชาย, เฉพาะคนรวย หรือเลือกได้ทุกคน สิทธิในการนับถือศาสนา ตัวเลือกได้แก่ ประกาศศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ, ให้อิสระในการนับถือศาสนา, ไร้ศาสนา กองกำลัง ตัวเลือกได้แก่ อาสาสมัคร, ทหารเกณฑ์ และจัดตั้งกองทัพ ตัวเลือกในหัวข้อ สิทธิการเลือกตั้ง ตัวเลือกแต่ละอย่างจะมีผลแตกต่างกันไป เช่น หากเราเป็นรัฐคริสต์ ก็จะทำให้มีโจรน้อยลง แต่ถ้าเราไม่เน้นเรื่องศาสนาก็จะทำให้เราทำการวิจัยเร็วขึ้น รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ทุกๆ ระยะเวลา 5 ปี โดยเมื่อเข้าสู่ยุคถัดไป เราจะสามารถทำการวิจัยเพื่อเพิ่มหัวข้อต่างๆ ได้ ได้แก่ ยุคสงครามโลก มีหัวข้อ สิทธิทางการเมือง (เผด็จการ, รัฐตำรวจ, ประชาธิปไตย), นโยบายแรงงาน (สนับสนุนแรงงาน, เท่าเทียม, สนับสนุนผู้จ้าง อนุญาตแรงงานเด็ก), ความเป็นพลเมือง (เข้า-ออกเมืองอย่างอิรสะ, ออกวีซ่าให้เฉพาะคนที่มีความรู้, ปิดพรมแดนแน่นหนา) ยุคสงครามเย็น มีหัวข้อ สิทธิส่วนบุคคล, โครงสร้างทางเศรษฐกิจ, อิสระสื่อ (ควบคุมเต็มที่, ให้งบประมาณให้พูดถึงสิ่งที่ต้องการ, ให้อิสระ) ยุคสมัยใหม่ มีหัวข้อสิทธิทางดิจิตอล (เซ็นเซอร์เต็มที่, ต่อสู้ลิขสิทธิ์, อินเทอร์เน็ตเสรี), โลกาภิวัตน์ (ปิดประเทศ, ปกป้องอุตสาหกรรมหลัก, เปิดประเทศเสรี), ระบบนิเวศ (เน้นเศรษฐกิจ, ประหยัดพลังงาน, ไม่ปล่อยมลภาวะ) การเลือกตั้ง หลักจากเขียนรัฐธรรมนูญแล้ว เราก็จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 12 เดือน โดยจะมีคะแนนโพลของเรากับคู่แข่งขึ้นให้ดู ซึ่งเราจะต้องทำให้คะแนนของเรานำให้ได้เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง ตอนนี้ คะแนนโพลเราตามอยู่ 45% ต่อ 55% ตัวอย่างวิธีการเพิ่มคะแนนเสียง เช่น “คืนความสุข” ให้กับประชาชนด้วยวิธีต่างๆ เช่น สร้างร้านเหล้าหรือโรงมหรสพ หากประชาชนมีความสุข เราก็ได้คะแนนเพิ่ม “ลดภาษี” ลดภาษีเรียกคะแนนนิยมกับชนชั้นกลางและชนชั้นสูง “ฆ่าเลย” สามารถกดฆ่าคู่แข่งได้ด้วยนะครับ หรือจะแค่ดิสเครดิตก็ได้ (แต่ยังไม่เคยลองนะว่าจะออกมาเป็นยังไง) “ซื้อเสียง” เราสามารถจ่ายเงินเพื่อโกงผลเลือกตั้งได้ด้วย เมนูการจัดการกับประชาชน การโกงเลือกตั้ง กฎหมาย นอกจากตัวรัฐธรรมนูญแล้ว เรายังสามารถออกกฎหมายอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีก กฎหมายที่มี เช่น - เพิ่มสัดส่วนอาหาร ให้ประชาชนได้อาหารเพิ่มมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น - งดอาหารฟรี ทำให้ประชาชนต้องจ่ายเงินซื้ออาหาร - สิทธิครอบครองอาวุธ ทำให้กองทำแข็งแกร่งขึ้น แต่อาจจะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นเมื่อมีการลุกฮือ - กู้เงิน เราสามารถออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินมาใช้ได้ - นิรโทษกรรม เพื่อลดภัยจากกบฏ - ปล่อยข่าวลือ เพื่อลดอำนาจของผู้นำกลุ่มต่างๆ - ชดเชยรายได้เกษตรกร เพื่อเพิ่มผลผลิต กฎหมายทั่วไป กฎหมายในยุคสงครามโลก คอรัปชั่น ในขณะที่เราปกครองเกาะ นอกจากเราจะมีเงิน “$” เป็นเงินของรัฐบาลเพื่อใช้จ่ายสร้างสิ่งต่างๆ เรายังมีเงินในบัญชีสวิส “$$” ที่ได้มาจากการคอรัปชั่นอีกด้วย เงินคอรัปชั่นนี้ไม่สามารถใช้จ่ายได้บนเกาะ แต่เราสามารถเอาไปซื้อ “ของพิเศษ” กับต่างประเทศได้ โดยวิธีที่จะได้เงินจะมากับภารกิจต่างๆ ที่มีให้เลือกผลตอบแทน จะมีให้เลือกว่าเราจะรับผลตอบแทนเป็นเงิน “$” เพื่อเข้างบประมาณประเทศ หรือรับเป็นเงินสวิส “$$” เพื่อเข้าบัญชีส่วนตัว นอกจากนี้การออกกฎหมายหรือใบอนุญาตบางอย่างเราก็จะได้เงินใต้โต๊ะเข้าบัญชีสวิสด้วยเหมือนกัน เช่น กฎหมายการอนุญาตก่อสร้าง จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างแพงขึ้น 20% แต่เงินที่เพิ่มขึ้นมานี้ ครึ่งหนึ่งจะเข้ากระเป๋าเรา เมื่อออกกฎหมายอนุญาตสร้างอาคารแล้วเราก็จะได้เงินส่วนแบ่งเข้ากระเป๋า เราสามารถส่งคนในตระกูลไปดูแลกิจการต่างๆ เพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเองได้ การลุกฮือ เมื่อประชาชนฉลาดขึ้นและเราปกครองอย่างไม่เป็นธรรม หรือเมื่อมีการเรียกร้องอะไรบางอย่างแล้วเราไม่ยอมทำตาม ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านโดยประชาชน กองกำลังกบฏเหล่านี้จะวิ่งไปทั่วเมืองเพื่อเผาทำลายสิ่งก่อสร้างต่างๆ เราสามารถหยุดได้โดยส่งทหารเข้าไปควบคุม เอาเค้กไปกินซะ ทหารไล่กองกบฏ (สีเขียว) ส่วนกบฏกำลังเผาบ้านเผาเมืองอยู่ (สีแดง) การรัฐประหาร ทหารเป็นอีกส่วนสำคัญในเกมนี้ ตั้งแต่เริ่มเราจะมีหน่วยทหารส่วนตัวจำนวนหนึ่ง แต่หลังจากนั้นความต้องการทหารจะเพิ่มขึ้น ทั้งการใช้ประโยชน์ เช่นส่งไปสำรวจเกาะ หรือใช้จัดการกับกองกบฏ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีทหารมากขึ้นก็จะเสี่ยงต่อการก่อรัฐประหารได้เช่นกัน สิ่งที่เราต้องทำคือตรวจสอบความจงรักภักดีของทหารอยู่เรื่อยๆ หากเราทำอะไรไม่ดีกับทหาร เช่น ตัดงบประมาณ ทำให้ทหารไม่มีความสุข ความจงรักภักดีจะเริ่มลดลง จนถึงจุดหนึ่งทหารขับรถถังออกมายิงวังของเรา คะแนน Military Loyalty เริ่มตกต่ำ รถถังออกมาวิ่งบนถนน ทั้งกบฏและทหารช่วยกันพังวัง ไม่มีใครคอยปกป้องแล้ว เมื่อทหารและประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านและพังวังของเราจนล่มสลาย ก็ถือว่าเราพ่ายแพ้และจบเกมไปครับ สรุป เกมนี้อาจมองว่าเป็นเกมสร้างเมืองธรรมดาเกมหนึ่ง แต่มีสิ่งที่แตกต่างคือบทบาทของผู้นำ (ผู้เล่น) ที่มีอำนาจมากจนสามารถเขียนรัฐธรรมนูญเองและทำอะไรก็ได้ แต่ในทางกลับกันก็มีประชาชนที่สามารถลุกขึ้นปฏิวัติ ซึ่งทำให้สนุกกว่าเกมอย่าง SimCity ที่เล่นแล้วเจอแต่ปัญหารถติดตลอดเวลา ในส่วนของประสิทธิภาพของเกม ด้านกราฟฟิคภาพอาจจะสวยสู้เกมอื่นไม่ได้ แต่ก็มีรายละเอียดที่มากพอที่จะไม่น้อยหน้าเกมอื่นๆ ในสมัยนี้ แต่มีข้อติตรงเรื่องของอินเทอร์เฟสที่อาจจะไม่ค่อยคุ้นอยู่บ้าง เช่น การหมุนมุมมองที่ใช้เมาส์สลับเกมอื่น (ถึงแม้จะปรับได้ แต่พอกลับไปแล้วก็ยิ่งกลับตาลปัตรไปใหญ่) หรือปุ่มปิดหน้าต่างที่แอบหลบอยู่มุมซ้ายล่างก็ดูแปลกตาไปนิดหน่อย ในเรื่องของการเล่นเกม ถ้าเคยเล่นเกมแนวนี้มาอยู่แล้วก็สามารถเรียนรู้ได้ไม่ยาก และเมื่อเข้าใจแนวทางของเกมแล้ว ก็สามารถเล่นเพลินๆ ไปได้เรื่อยๆ ครับ Games, Review