เจ้าหน้าที่ รอรับ 13 แรงงานไทย กลับจากลิเบีย ลอตแรก ขณะกองทุนช่วยเหลือคนไปทำงาน ตปท. มอบรายละ 15,000 บาท ขณะที่ สธ. สั่งเข้ม 5 มาตรการป้องกันเชื้ออีโบลา ด้าน ไนจีเรียพบติดเชื้ออีโบลารายที่2 -WHO เผย ยอดดับ 887 ราย บรรยากาศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ล่าสุด เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมรอรับแรงงานไทยในลิเบีย จำนวน 13 คน ที่จะเดินทางมาถึงประเทศไทย ด้วยเที่ยวบิน EK384 ในเวลาประมาณ 13.15 น. โดยมี กรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งจุดช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงาน บริเวณชั้น 2 ประตู 10 ขณะที่ นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า แรงงานทั้ง 13 คน ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งจะมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รายละ 15,000 บาท รายชื่อคนไทยที่เดินทางกลับมาจากลิเบีย ทั้ง 13 คน ได้แก่ 1.นายสมบูรณ์ คุธินากุล 2.นายอุทิน ทิศวงศ์ 3.นายอหิงสา ประพันธ์วิทยา 4.นายมานิต คำภิระแป 5.นายสุคนธ์ ณพานิชย์ 6.นายคงศักดิ์ ใจใส 7.นายอดิศักดิ์ ธิอุฐ 8.นายอนงค์ สุวรรณ 9.นายเสกสรร ปัญญาเครือ 10.นายจงเจตน์ ยศสาย 11.นายสุวอน วงศ์มูล 12.นายปุ่น จันทะคำ 13.นายบุญจันทร์ ชุมชัย กต.เร่งอพยพแรงงานออกจากลิเบีย-ถึงไทยวันนี้13คน นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงกรณีการอพยพแรงงานไทยในลิเบีย ว่า ในวันนี้จะมีแรงงานเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชุดแรกจำนวน 13 คน เวลาประมาณ 12.25 น. ด้วยสายการบินเอมิเรตส์ แอร์ไลน์ เที่ยวบิน EK384 และจะทยอยกลับมาเรื่อยๆ เพราะบางส่วนยังมีปัญหาเรื่องตั๋วเครื่องบินจากดูไบ และขณะนี้ สถานการณ์เหตุปะทะยังไม่ดีขึ้น โดยต้องอพยพทั้งหมดแต่จะเริ่มจากจุดเสี่ยงก่อน ทั้งนี้ มีแรงงานในพื้นที่เสี่ยงประมาณ 600-700 คน จากแรงงานไทยทั้งประเทศลิเบีย 1,500 คน นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีการประชุมติดตามตลอดเวลา แต่ไม่สามารถระบุระยะเวลาได้ แต่จะทำให้รวดเร็วและปลอดภัยที่สุด ส่วนปัญหาในขณะนี้ คือ การเคลื่อนย้ายไม่สะดวก เนื่องจากพรมแดนด้านอียิปต์ ปิด โดยจะต้องเคลื่อนย้ายทางสนามบินอัลเบด้า หรือทางเรือ แต่หากต้องอพยพพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก จะมีการประกาศเตรียมพร้อมเพื่อไปเจอที่นัดหมาย อย่างไรก็ตาม นายสุเมธ มองว่า เหตุการณ์ในประเทศลิเบีย เป็นสงครามภายใน ไม่มีมหาอำนาจเข้าไปแทรกแซง จึงไม่เป็นข่าวดังเท่าที่ควร แต่กลับมีจุดเสี่ยงมากกว่าอิสราเอล สธ.สั่งเข้ม5มาตรการป้องกันเชื้ออีโบลา น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ว่า ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ดำเนินการใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การจัดระบบการเฝ้าระวังสอบสวนป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เน้นกลุ่มที่เดินทางมาจาก 3 ประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ส่งทีมเจ้าหน้าที่ดำเนินการเฝ้าระวัง ร่วมกับกรมควบคุมโรคในพื้นที่ ที่มีสนามบินนานาชาติ 5 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ สุวรรณภูมิ และดอนเมือง 2.การเตรียมห้องแยกโรคในโรงพยาบาลศูนย์ 3.ให้จัดระบบการป้องกันควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ตามมาตรฐานสากล 4.ในรายที่สงสัย ให้ประสานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และ 5.สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อลดความตื่นตระหนก น.พ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เป็นโรคที่ติดต่อทางสารคัดหลั่งเหมือนโรคเอดส์ และไวรัสตับอักเสบบี ไม่ติดต่อทางการหายใจ ติดต่อได้ทางการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการแล้วหรือศพผู้เสียชีวิต ดังนั้นสถานการณ์ของไทยขณะนี้จัดว่ามีความเสี่ยงต่ำ ประชาชนไม่ต้องวิตก เนื่องจากไม่มีผู้ป่วยในประเทศไทย และมีผู้เดินทางมาจาก 3 ประเทศนี้น้อยมาก ซึ่งทุกรายได้ผ่านการตรวจจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ด่านควบคุมโรค สามารถติดตามอาการได้ --------------------------------------------------------------------- ไนจีเรียพบติดเชื้ออีโบลารายที่2-WHO เผยยอดดับ887 http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=556406