กรอ.ตั้งเป้าปี 61 ขยาย 10 เมืองอุตฯนิเวศ ด้าน"กอบกาญจน์"เล็งผลักดันยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงาน นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นการรวมแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่มุ่งแสวงหาผลกำไรกับแนวความคิดเชิงนิเวศ ที่มุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลในระบบนิเวศ ปีนี้ได้ขยายพื้นที่โครงการไปยังพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรม 6 แห่ง ภายใต้โครงการย่อย 6 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 2.โครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (จังหวัดระยอง และปราจีนบุรี 3.โครงการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (จังหวัดปทุมธานี ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี) 4. โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับแผนแม่บทเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5. โครงการเผยแพร่ความรู้และพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และ 6.โครงการจัดทำศูนย์พัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ “กรมโรงงานมีแผนที่จะผลักดันเขตอุตสาหกรรมทั้งหมด ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยในเบื้องต้นในปี 2561 จะพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้ได้ 10 แห่ง โดยจะต้องผ่านเกณฑ์ตามกำหนด 5 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ โดยในแต่ละด่านจะมีเกณฑ์ชีวัดชัดเจน โดยเฉพาะการลดการปล่อยมลพิษด้านต่างๆ” นายพสุ กล่าว นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทโตชิบาและประธานกรรมการบริหาร สวนอุตสาหกรรมบางกะดี กล่าวว่า สวนอุตสาหกรรมบางกะดี ได้ให้ความร่วมโครงการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมาโดยตลอด โดยสวนอุตสาหกรรมบางกะดี เป็นพื้นที่ต้นแบบเชิงนิเวศ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกโรงงานที่จะเข้ามาตั้งในสวนอุตสาหกรรมจะต้องเป็นอุตสาหกรรมสะอาด นอกจากนี้ ยังมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด เช่น จะต้องมีพื้นที่สีเขียวภายในโรงงานไม่ต่ำกว่า 30% นอกเหนือจากพื้นที่สีเขียวส่วนกลางของนิคมฯ ส่วนระบบบำบัดน้ำเสียจะมี 2 ชั้น นิคมฯจะเข้าไปตรวจสอบน้ำเสียที่ออกจากโรงงานทุกๆ เดือน ด้านมลพิษทางอากาศ จะมีการตรวจสอบที่โรงงานในทุกๆ 1 ปี ส่วนในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนภาคอุตสาหกรรม เรื่องหลักๆที่จะเข้าไปผลักดัน จะเป็นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงาน การเพิ่มพูนรายได้ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน และการลดปัญหาทุจริตคอรัปชัน นอกจากนี้จะเข้าไปผลักดัน พ.ร.บ.บริหารจัดการน้ำ การขุดลอดคูคลองต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นเป็นห่วงมากที่สุด เพราะตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ยังไม่มีการวางแผนป้องกันอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมเลย สำหรับความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นนั้น ได้ฟื้นกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และบางโรงงานก็ได้มีการลงทุนขยายกิจการ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศได้ขยายโรงงานจนมีกำลังการผลิตสูงที่สุดในโลก Tags : นายพสุ โลหารชุน • โรงงานอุตสาหกรรม • กระทรวงอุตสาหกรรม • กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร • อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ • กรอ.