แก้กฎหมาย8ฉบับดึงเอกชนลงทุน ตีกรอบ20%โครงสร้างพื้นฐาน2.4ล้านล้าน ตั้งกรรมการนโยบาย นายกฯเป็นประธาน คลังเร่งออกกฎหมาย แก้พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมทุนอีก 8 ฉบับ รับลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้าน ตีกรอบเอกชนเข้าร่วมลงทุนไม่เกิน 20% พร้อมตั้งกรรมการนโยบายชุดใหม่ นายกฯเป็นประธาน มีอำนาจพิจารณาโครงการเกินพันล้าน เตรียมเดินหน้าตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน"กฟผ.-การท่าเรือ" กระทรวงการคลังเตรียมแก้กฎหมายร่วมทุนใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ เพื่อกำหนดทิศทางการปฏิรูป นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่าตามแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ขณะนี้สคร.อยู่ระหว่างดำเนินการออกกฎหมายลูกของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ Public Private Partnerships (PPPs) ขณะนี้มีร่างกฎหมายค้างอยู่ 8 ฉบับ โดยจะเร่งให้ได้ข้อสรุปเร็วที่สุดเพื่อให้ทันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาทของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้ ร่างกฎหมายลูกที่สำคัญ ได้มีการกำหนดวิธีการคำนวณมูลค่าโครงการ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ถือเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุนในกิจการของรัฐปี 2535 ฉบับเดิม เพราะไม่ได้ระบุชัดเจนว่า มูลค่าโครงการที่เข้าข่ายกฎหมายร่วมทุนนั้น จะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง โดยกรณีนี้ได้มีจำนวนโครงการที่นำเข้าสู่การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาจำนวนมากหรือกว่า 100 เรื่อง "กฎหมายร่วมทุนฉบับปัจจุบัน กำหนดมูลค่าโครงการที่ต้องเข้าตามขั้นตอนตามกฎหมายนี้ จะต้องมีมูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป ซึ่งในอดีตตามกฎหมายร่วมทุนฉบับเก่าที่ถูกยกเลิกไปแล้ว มักมีปัญหาตีความเรื่องการคำนวณมูลค่าโครงการว่า จะคำนวณอย่างไร เช่น สินค้าในสต็อกจะนำมาคำนวณด้วยหรือไม่ หรือหากเป็นการให้เช่าโดยรัฐ จะเข้าตามขั้นตอนตามกฎหมายหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งความไม่ชัดเจนของตัวกฎหมายฉบับเก่าที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2535 ส่งผลให้มีเรื่องเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความรวมกว่า 100 เรื่อง" นายกุลิศ กล่าว คาดเอกชนเข้าร่วมลงทุน20% นอกจากนี้ ร่างกฎหมายลูกจะได้มีการกำหนดวิธีการปฏิบัติตามแนวทางของกฎหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการจัดลำดับโครงการในการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี การแก้ไขสัญญาที่จะมีการระบุว่า ควรที่จะมีการแก้ไขสัญญาเมื่อใด หรือเมื่อครบกำหนดสัญญาสัมปทานของเอกชนแล้ว จะจัดการกับทรัพย์สินที่ร่วมลงทุนอย่างไร เป็นต้น นายกุลิศ ยังคาดว่า ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ที่ คสช. มีแผนจะลงทุนนั้น จะมีภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนประมาณ 20% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วย เพราะการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐนั้น ถือว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนเงินกู้ของภาครัฐได้ "เราตั้งใจจะให้มีแชร์ของภาคเอกชน หรือ PPP รวมถึง Infrastructure Fund ในโครงการลงทุนใหม่ของรัฐวิสาหกิจ 20% หรือมากกว่า เพื่อให้ภาคเอกชนช่วยเบาแรงเงินกู้ของภาครัฐ และไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ" นายกุลิศ กล่าว ซูเปอร์บอร์ดถก14ส.ค.แผนฟื้นฟู6รัฐวิสาหกิจ นายกุลิศ กล่าวว่าสคร. ยังเร่งดำเนินการเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูของรัฐวิสาหกิจ โดยมีรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง ที่ส่งรายละเอียดของแผนมาแล้ว ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์), บมจ.ทีโอที, บมจ.กสท โทรคมนาคม ส่วน บมจ.การบินไทย (THAI) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังเร่งส่งแผน นายกุลิศ กล่าวว่าจะเร่งหาข้อสรุปเพื่อนำเสนอให้ซูเปอร์บอร์ดพิจารณาภายใน 14 ส.ค.นี้ กฟผ.จ่อตั้งกองทุนพื้นฐาน1.6หมื่นล. สำหรับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่จะมีการลงทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. วงเงินการจัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจอื่นที่มีแผนลงทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อนำเงินไปใช้ขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ทอท.) ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ขณะนี้ คสช.กำลังทบทวนนโยบายการลงทุนภาครัฐที่จะอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ร่วมทุนในกิจการรัฐว่า โครงการใดมีความเหมาะสม เพราะวงเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 2.4 ล้านล้านบาทนั้น ถือว่า เป็นวงเงินที่สูงพอสมควร ดังนั้น การเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนถือเป็นทางเลือกที่จะลดต้นทุนเงินกู้กับภาครัฐได้ "เมื่อคสช.เข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้ระงับโครงการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท เพื่อให้เจ้าของโครงการกลับไปทบทวนแผนการลงทุนใหม่ ถ้าเป็นไปได้ที่จะเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุน ก็ควรที่จะนำโครงการมาปรับปรุง เพื่อให้การลงทุนเป็นไปอย่างโปร่งใส เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง" เขากล่าว ดึงเอกชนร่วมทุนโครงการพันล้าน สำหรับกฎหมายร่วมลงทุนฉบับใหม่ จะมีคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีอำนาจที่สำคัญ คือ กำหนดยุทธศาสตร์การลงทุน และเห็นชอบในหลักการของโครงการลงทุน สำหรับโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป หรือโครงการที่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท หากคณะกรรมการเห็นความจำเป็น ในส่วนของขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนนั้น กฎหมายฉบับนี้กำหนดระยะเวลาการอนุมัติที่ชัดเจน เช่น เมื่อได้ผลคัดเลือกเอกชนแล้ว สคร.จะต้องนำผลการคัดเลือกเอกชน รวมถึง ประเด็นเจรจาต่อรองเรื่องผลประโยชน์ของรัฐ เสนอรัฐมนตรีเจ้าของโครงการภายใน 45 วัน รวมทั้ง กำหนดให้อัยการสูงสุด พิจารณาร่างสัญญา ให้เสร็จภายใน 45 วัน และเมื่อรัฐมนตรีเจ้าของโครงการได้รับความเห็นและร่างสัญญาแล้ว จะต้องพิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นอกจากนี้ กฎหมายร่วมทุนฉบับใหม่ ยังได้เพิ่มเติมในประเด็น เรื่องการแก้ไขสัญญาและการทำสัญญาใหม่ ซึ่งกฎหมายเก่าไม่มี เช่น กำหนดให้ก่อนสัญญาหมดอายุ 5 ปี ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการแจ้งต่อรัฐบาลว่า จะดำเนินการบริหารทรัพย์สินตัวโครงการนั้นต่อไปอย่างไร เป็นต้น Tags : กระทรวงการคลัง • กฎหมาย • ลงทุน • สคร. • กุลิศ สมบัติศิริ • เอกชน • รัฐวิสาหกิจ • คสช. • กฟผ. • รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์