ฟิทช์ เล็งหั่นเครดิตไทย หลังจากไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้กลางปีนี้ ระบุส่งผลกระทบความเชื่อมั่นในวงกว้างระดับ "พื้นฐาน" ฟิทช์ เรทติ้งส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ออกแถลงการณ์ย้ำอีกครั้งวานนี้ (9 พ.ค.) ว่า ภาวะชะงักงันทางการเมืองในไทยที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะส่งผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ และมีแนวโน้มที่จะทำให้ฟิทช์ทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของไทย แถลงการณ์ครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำที่ฟิทช์เคยระบุไว้ในการทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในเดือนมี.ค. ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าครึ่งปี ไม่เพียงแต่ฟิทช์เท่านั้นที่กล่าวเตือนปรับลดความน่าเชื่อถือ แต่ก่อนหน้านี้ บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และ บริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ก็แสดงความเห็นเช่นเดียวกันว่าความขัดแย้งการเมืองยืดเยื้อมีความเสี่ยงที่จะปรับลดความน่าเชื่อถือของไทย ฟิทช์ ระบุในแถลงการณ์ว่า "ตามที่เราได้เน้นย้ำในการทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือในเดือนมี.ค. นั้น ความล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาลที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในกลางปีนี้ จะส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่องบลงทุนด้านทุนในระยะกลาง, ต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และต่อการวางแผนงบประมาณ โดยมีการคาดการณ์กันว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะอยู่ในภาวะอ่อนแอในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีที่แท้จริงของไทย อยู่ที่ 2.5% ชี้ศก.โตต่ำกว่าประเทศระดับเดียวกัน ฟิทช์ กล่าวว่า แรงถ่วงทางเศรษฐกิจที่เกิดจากภาวะไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน จะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของไทยร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่าอัตราการเติบโตของประเทศอื่นๆ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ ขั้น BBB เหมือนกัน และจะเป็นการสร้างแรงกดดันในเชิงลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ "ความเสี่ยงทางการเมืองทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ในวันที่ 7 พ.ค. ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และรัฐมนตรี 9 คน สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี และหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี และเมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติในวันที่ 8 พ.ค.ให้ชี้มูลความผิดนางสาวยิ่งลักษณ์ในโครงการรับจำนำข้าว ขณะที่ฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีกำหนดจัดการชุมนุมขึ้น โดยคำตัดสินของศาลมีแนวโน้มที่จะเป็นจุดสนใจสำคัญสำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาล" ระบุเลื่อนเลือกตั้ง 20 ก.ค. กระทบวงกว้าง ฟิทช์ ระบุว่า หากการเลือกตั้งที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 20 ก.ค. ถูกเลื่อนออกไปหรือถูกยกเลิก ก็มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นที่ไทยจะไม่มีรัฐบาลที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ และสถานการณ์เช่นนี้อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเมืองระดับพื้นฐานของไทย "ภาวะที่ไม่แน่นอนทางการเมือง ที่ยืดเยื้อยาวนาน อาจส่งผลกระทบทางลบในวงกว้างต่อพื้นฐานความน่าเชื่อถือของไทย โดยเราเคยประเมินว่าศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย อาจลดลงสู่ระดับราว 3% ในการทบทวนอันดับเดือนมี.ค. ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำมากสำหรับประเทศที่มีรายได้เท่ากับไทย โดยสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับความล่าช้าอย่างต่อเนื่องในการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ และปัจจัยนี้จะส่งผลให้ไทยไม่สามารถหลุดออกจากดุลยภาพ "กับดักรายได้ปานกลาง" ที่มีการลงทุนต่ำ ซึ่งเป็นภาวะที่ไทยเผชิญอยู่ นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินเอเชียในปี 2540 เป็นต้นมา" "วิกรม"ชี้ถึงเวลาเริ่มต้นนับหนึ่ง นายวิกรม กรมดิษฐ์ รองประธานสภาธุรกิจไทย-จีน และ ประธาน บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน มองภาวะทางการเมืองในปัจจุบันว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ด้วยการร่วมกันแก้ไขปัญหาจากทุกฝ่าย เมื่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกฯ นั่นก็เป็นสิ่งทำให้บ้านเมืองเดินมาถึงจุดเชื่อม และหาทางออก "ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลก็ได้ในสิ่งที่ควรได้แล้ว ขณะที่ทางฝ่ายรัฐบาลก็สูญเสียบางประการ จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ทุกคนหันมาหารือแก้ไขปัญหา หลังจากที่เศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเกือบ 6 เดือน ทำให้ถูกจัดเรทติ้งเป็นเมืองที่ไม่มีความสงบ จนกระทั่งนักลงทุนไม่มั่นใจ" นอกจากนี้ ไทยรวมถึงทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตั้งแต่แผ่นดินไหว น้ำท่วม รวมถึงภัยแล้ง สะท้อนให้เห็นว่าไทยไม่ควรจะทำร้ายประเทศของตัวเอง จนกระทั่งสูญเสียโอกาส เพราะว่าอุปสรรคจากทั่วโลกก็มีมากขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหาในสังคมไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ พร้อมกับหาข้อสรุปที่จะนำไปสู่การยอมรับทุกฝ่ายเพื่อให้ประเทศกลับมาพัฒนาด้านเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการข้อสรุปวันเลือกตั้ง ให้เหมาะสมโดยเร็วที่สุด รวมถึงการปฏิรูปแก้ไขปัญหาบางอย่างที่ทำให้สังคมไม่พอใจ วอนทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน "สังคมของไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเสื่อมถอยในหลากหลายด้าน ทั้งการเจริญเติบโตด้านจีดีพี และด้านความเชื่อมั่น ได้รับผลกระทอย่างหนัก ไทยจึงควรเข้าสู่จุดเชื่อม ที่จะร่วมกันหาทางออกให้กับสังคมไทย ลดการเผชิญหน้า เอาชนะ แต่ยอมเสียสละในสิ่งที่ตัวเองต้องการ หาจุดร่วม 70% และทิ้งอีก 30% ที่ความต้องการไม่ตรงกัน อย่างเช่นการหาทางออกด้วยการเลือกตั้ง แต่แก้ไขปัญหาบางอย่างที่ทำให้สังคมไม่พอใจ ผมว่าทาง กปปส. ก็ได้ในสิ่งที่ต้องการมากแล้ว คุณทักษิณก็อ่อนแรงมากแล้ว และคุณยิ่งลักษณ์ก็มีลักษณะของการประนีประนอมมากขึ้น" นายวิกรม กล่าวอีกว่า ไม่เห็นด้วยที่ทุกฝ่ายเรียกร้องให้นำไปสู่การปฏิวัติ เพราะเป็นแนวทางที่โยนภาระหรือเผือกร้อนให้แก่กองทัพ แต่เป็นวิธีการที่สังคมโลกในยุคปัจจุบันไม่ยอมรับในระดับสากล ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันหาทางออกด้วยกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมากมาย หลังจากมีข่าวความไม่สงบเกิดขึ้นจากถูกเผยแพร่ผ่านสื่อในต่างประเทศ ทำให้มุมมองไทยจากสายตานักลงทุนจากต่างประเทศเกิดความไม่เชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนในไทย อาทิ นักลงทุนญี่ปุ่น ต่างไปตั้งฐานการผลิตสร้างนิคมอุตสาหกรรมในอินโดนีเซีย ถึง 5-6 แห่ง 'นักวิชาการ'ชี้กระทบภาพลักษณ์ประเทศ ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากไทยถูกปรับลดเครดิต จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ "หากมีการลดอันดับความน่าเชื่อถือจริง ในทางปฏิบัติจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะไทยไม่ได้กู้เงินมากจากต่างประเทศ และไทยมีอันดับเครดิตที่สูงกว่ามาตรฐานถึง 3 ขั้น หากลดไปหนึ่งขั้น ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงอยู่ แต่สถานการณ์ลักษณะนี้จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะว่าไทยกำลังถูกลดอันดับลง ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนกำลังถูกปรับเพิ่มขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากยังไม่มีรัฐบาลถาวร จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ กระทบถึงภาคการส่งออกและการบริโภค และทำให้จีดีพีขยายตัวลดลง ทำให้สัดส่วนต่อหนี้สาธารณะของประเทศ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นแม้ไม่ได้กู้เงินเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นประเทศลดลง Tags : ฟิทช์ เรทติ้งส์ • หั่นเครดิต • ความน่าเชื่อถือ • การเมือง