นอกเหนือไปจากจุดสนใจว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทั้ง 200 คนจะเลือกใครเป็นประธานสภา, จะเลือกใครดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี(ไม่เห็นต้องลุ้น?) หรือ จะมีการแสดงความยินดี/ไม่ยินดี กับการเข้าเป็นสมาชิก สนช. แล้ว ปมหรือประเด็นเกี่ยวกับสัดส่วนของสมาชิก สนช. ที่เป็นข้าราชการทหารทั้งในและนอกราชการเสีย 92 คน จนถูกค่อนขอดว่าเป็น "สภาทหาร" หรือ "สภาท็อปบู๊ต" ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาพอสมควร กลายเป็นข้อสังเกตที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหยิบยกมากล่าวถึงและอธิบายอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2557 "สนช.ที่กำหนดมา 200 คน ไม่ใช่ระบบโควต้า ไม่อยากให้ใช้คำว่าโควต้า เป็นการให้ทุกพวกทุกฝ่ายเสนอชื่อมา..." ขณะเดียวกันก็ย้ำภารกิจที่ชัดเจนของ สนช.ว่าจะต้องดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายอย่างเร่งด่วน "มีองค์ประกอบหลายๆ อย่าง จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อจะได้มีการเปิดประชุมสภานิติบัญญัติให้ได้โดยเร็ว เราต้องการให้เกิดความเป็นเอกภาพและตอบสนองภารกิจหลัก คืองานปฏิรูปให้เป็นผลสำเร็จได้ เรื่องกฎหมายที่ล้าสมัย เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารจัดการ ระบบราชการ การศึกษา กฎหมายกระบวนการยุติธรรม สาธารณสุข หรือเรื่องอื่นๆ 11 เรื่อง อาจจะมากกว่า 11 เรื่องก็ได้ ก็ต้องไปแก้กันให้ได้" ความจำเป็นที่จะต้อง "เร็ว" และ "เป็นเอกภาพ" น่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณา เป็นปัจจัยเดียวกันกับที่ ดร.ธงชัย วินิจะกูล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า จะต้องแต่งตั้งบุคคลที่สามารถสั่งให้ซ้ายหัน ขวาหันได้ เหมือนกับการทำรัฐประหารทุกครั้ง และการแต่งตั้ง สนช. ครั้งนี้ ก็เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของการทำรัฐประหารนั่นก็คือ การออกกฎหมาย เพื่อกำจัดระบอบทักษิณ และทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมือง แน่นอนว่า การทำรัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมา เผชิญปัญหา "เสียเปล่า" ด้วยปัจจัยของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ขาด เอกภาพ และไม่สามารถทำหน้าที่ โดยเฉพาะในด้านการออกกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว จากบทเรียนเหล่านั้น ทำให้การจัดตั้งสมาชิก สนช.จำนวน 200 คนเมื่อพิจารณาจากสัดส่วนที่ประกอบด้วยทหารทุกเหล่าทัพ(92) อดีต สว.และอดีต สนช.(32) อดีตข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ(39) ผู้นำสถาบันอุดมศึกษา(12) แล้ว น่าจะมั่นใจและวางใจได้แน่นอนว่า จะทำหน้าที่อย่างเป็นเอกภาพและไม่ "เสียเปล่า" อีก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ "อำนาจ" หรือ "หน้าที่" ของ สนช.ทั้ง 200 คน ซึ่งถูกจัดวางเอาไว้แล้วว่า ต้องรับผิดชอบ 4 เรื่องสำคัญๆ ได้แก่ 1. การออกกฎหมาย การอนุมัติพระราชกำหนดที่รัฐบาลจำเป็นต้องออกเร่งด่วน หรือให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาและหนังสือสำคัญที่รัฐบาลทำกับต่างประเทศ 2. การให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี 3. การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการทำงานของรัฐบาล (ทำได้เฉพาะการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรืออภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ) 4. การให้ความเห็นชอบ การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เช่น อัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ ถึงขั้นนี้แล้ว กฎหมายหลายๆ เรื่องที่เคยถูกมองว่า หากนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและผ่านความเห็นชอบของ "สภาผู้แทนราษฎร" รวมถึง "วุฒิสภา" แล้วมีโอกาสที่จะผ่านยาก หรือถูกตรวจสอบ คัดค้านในหลายๆ ขั้นตอน ก็จะมิใช่เรื่องยากอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน, กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร, การทำความตกลงระหว่างประเทศ ฯลฯ โดยไม่ต้องพะวงว่าจะต้องดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ที่ยุ่งยากซับซ้อน รอฟังความเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือเปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็น ฯลฯ (คงไม่เหมือน หรือมีรูปแบบที่แตกต่างไปจาก สภาเสียงข้างมากลากไปของนักการเมือง หรือกลไกเผด็จการรัฐสภาในอดีต...!!) ถือเป็นโอกาสดีและโอกาสทองในการ จัดการปัญหาหลายๆ เรื่องหลายประเด็นที่ซับซ้อน ซึ่งก็มีหลายเรื่องหลายประเด็นที่ได้รับเสียงชื่นชมมาแล้ว ทั้งในยุค สภาแต่งตั้งสมัย รสช.(2534) หรือในยุค สนช.(2549) ที่อาจต้องลุ้นกันมากหรือหนักหน่อยก็คือ ท่ามกลางภารกิจของ สนช.ในห้วงเวลาประมาณ 1 ปีกว่านับจากนี้ "แจ็กพ็อต" จะไปตกอยู่กับใคร กลุ่มไหน ฝ่ายใดบ้าง และที่ประเมินกันว่า จะเป็น "ยุคทอง" ของใคร ฝ่ายไหน คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างระทึกใจแน่นอน