หวั่น'เงินร้อน'ทะลักบอนด์ เก็งกำไรบาท-ส่วนต่างดบ.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 4 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    เงินนอกไหลเข้าไทยต่อเนื่อง แห่ลงตราสารหนี้ระยะสั้น ยอดถือครองพุ่งแตะ 7.7 แสนล้าน นักวิเคราะห์ชี้ดอกเบี้ยจูงใจ

    เก็งกำไรค่าบาท ขณะที่ประเมินกนง.ประชุม 6 ส.ค. คงดอกเบี้ย 2% ระดับที่เอต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

    ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังความขัดแย้งการเมืองเริ่มคลี่คลาย ในขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อยกลางปีหน้า ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดเอเชีย รวมถึงตลาดเงินตลาดทุนของไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมา

    ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่ามากสุดในรอบ 8 เดือน โดยขยับแตะระดับ 31.72 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ตามทิศทางเงินไหลเข้า ทั้งตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น

    นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิตลาดหุ้นในเดือนก.ค. รวม 13,765 ล้านบาท ส่วนตลาดตราสารหนี้ ตั้งแต่ 1-25 ก.ค. ซื้อสุทธิ โดยส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารระยะสั้น 104,000 ล้านบาท

    นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่าเงินทุนต่างชาติในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาพบว่ายังมีเงินไหลเข้าประเทศไทยต่อเนื่อง โดยเป็นทิศทางเดียวกับภูมิภาค ซึ่งเงินที่ไหลเข้าส่วนใหญ่เข้าในพันธบัตรระยะสั้น ส่วนตลาดทุนยังน้อย

    "เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าไทยมาจากการอัดฉีดเงินเข้าระบบของประเทศต่างๆ เป็นเงินที่เน้นการลงทุนระยะสั้นเข้าเร็วออกเร็ว เข้ามาเพื่อหวังเก็งกำไรค่าเงินบาท และอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับต่างชาติ"

    นายสุกิจ กล่าวว่าทิศทางการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นการไหลเข้าในตลาดพันธบัตรระยะสั้นประมาณ 1 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่า เงินที่ไหลเข้าเน้นเก็งกำไรระยะสั้นเท่านั้น ส่วนตลาดหุ้นเรายังเห็นว่าเงินทุนต่างชาติยังๆไหลเข้าไทยค่อนข้างน้อยมากเหตุผลหนึ่งเพราะตลาดหุ้นไทยยังมีมูลค่าที่แพงอยู่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้นักลงทุนต่างชาติระมัดระวังการเข้าซื้อ

    "ทิศทางต่อไป มีความเสี่ยงที่จะไหลออกจากตลาดพันธบัตร หากมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบของทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้นมองว่าต่างชาติยังหาจังหวะในการเข้าซื้อซึ่งพวกเขายังเลือกที่จะเข้าซื้อในหุ้นรายตัวที่มีพื้นฐานดี และจะเข้าซื้อเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลงแรง"

    นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บล.ซี แอล เอส กล่าวว่า เงินต่างชาติที่ไหลเข้ามา เกิดจากการปรับมุมมองตลาดหุ้นไทย จากเดิมที่น้อยกว่าตลาด เป็นระดับปกติ ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาอีกครั้ง

    "ภาพเศรษฐกิจไทยดูดีขึ้นชัดเจน หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และในครึ่งปีหลังทุกคนคาดหวังกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย จากการลงทุนภาครัฐที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องทำให้เรามองว่า ภาพหลังจากนี้ความน่าสนใจตลาดหุ้นไทยจะเพิ่มขึ้น ดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติให้กลับมาได้"

    นายปริญญ์ แนะว่าหากดัชนีลดลงมาที่ระดับ 1,450 จุด เป็นจุดที่จะเพิ่มน้ำหนัก โดยกลุ่มน่าสนใจ เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาครัฐบาล อย่างกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างกลุ่มธนาคาร และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม

    ชี้ปัจจัยเฟดหนุนตราสารหนี้

    ด้านนายสุชาติ ธนฐิติพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า เงินต่างชาติไหลกลับเข้ามาเข้าทั้งเอเชียรอบนี้หลังจากคลายกังวลเรื่องที่เฟด จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็ว โดยล่าสุดตลาดมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยอาจเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายปีหน้า จากเดิมที่มองว่าช่วงกลางปี 2558

    อีกปัจจัย คือ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐและยุโรปเองค่อนข้างต่ำ โดยพันธบัตร 10 ปี ของสหรัฐกับไทยต่างกันอยู่ประมาณ 1.15% แต่ในช่วงอายุ 5 ปี ต่างกันประมาณ 1.40% ซึ่งต่างชาติไหลกลับเข้ามารอบนี้จะลงทุนในตราสารหนี้อายุ 5 - 7 ปี เป็นหลัก

    "ยังมองว่าเป็นภาวะปกติ ไม่น่ากังวล หากเฟดยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยก็จะเป็นปัจจัยหนุนให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยอย่างต่อเนื่องได้เช่นกัน"

    นายสุชาติ กล่าวว่าล่าสุด มีเงินต่างชาติไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ไทยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันประมาณ 65,000 ล้านบาท แล้ว ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมียอดถือครองตราสารหนี้ 774,000 ล้านบาท เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 18% และตราสารหนี้ระยะยาว 82%

    จับตา"แครี่เทรด"ทำตลาดผันผวน

    นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร กล่าวเช่นเดียวกันว่าในช่วงนี้เงินทุนไหลเข้าเอเชียจำนวนมาก อย่างกรณีไทยในเดือนก.ค. เข้ามามากกว่า 1.5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เข้าพันธบัตรของแบงก์ชาติ เรียกว่าเป็นการทำแครี่เทรด หรือ การยืมเงินที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนได้สูงกว่า มากินส่วนต่างดอกเบี้ย

    "จะเห็นว่าเข้ามาในบอนด์รุ่นอายุ 3-6 เดือนจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็จะถือจนครบกำหนด เพื่อหาผลตอบแทนจากส่วนต่างดอกเบี้ย และค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น"

    คาดกนง.คงดอกเบี้ย6ส.ค.นี้

    นายพิพัฒน์ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 6 ส.ค.นี้ ว่ากนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เพราะจากมุมมองของ ธปท. ที่มองว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ที่ 3.4% และปีหน้าการเติบโตน่าจะอยู่ที่ 5.5% สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเข้าใกล้ศักยภาพมากขึ้น ดังนั้นความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีน้อยลง

    “ความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มคงไม่มี เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ศักยภาพได้มากขึ้น output gap(ช่องว่างการผลิต) ก็น่าจะแคบลง ซึ่งจริงๆ แล้วภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มดูดีขึ้น เราเริ่มกลับมาใช้นโยบายการคลังเพื่อดูแลเศรษฐกิจได้อีกรอบ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนเองก็เริ่มกลับมา ดังนั้นเคสที่จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจคงไม่ได้มีมาก”นายพิพัฒน์กล่าว

    อย่างไรก็ตามประเด็นที่ต้องจับตาในระยะต่อไป คือ การเร่งขึ้นของเงินเฟ้อ เพราะถ้าเงินเฟ้อเริ่มกลับมามากๆ อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และ กนง. เองต้องระมัดระวังในเรื่องนี้มากขึ้น โอกาสที่ดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตจะปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาดก็มีความเป็นไปได้

    นอกจากนี้ต้องติดตามการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ด้วยว่า จะมีทิศทางอย่างไร เพราะถ้าปีหน้าเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็อาจจะเป็นการบีบบังคับเราทางอ้อมให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามก็เป็นได้

    กสิกรคาดกนง.คงดอกเบี้ยทั้งปี

    นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินเช่นเดียวกันว่ากนง.ยังไม่น่าจะเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ จึงเชื่อว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เช่นเดิม โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง และอัตราดอกเบี้ยไทยในปัจจุบันก็เป็นระดับที่เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

    “ดอกเบี้ยปัจจุบันค่อนข้างเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องปรับลดลง ส่วนแนวโน้มจะมีการปรับขึ้นภายในปีนี้หรือไม่ คงต้องขึ้นกับเงินเฟ้อ ซึ่งถ้าเงินเฟ้อมาเร็วมากๆ ก็มีโอกาสที่จะเห็นดอกเบี้ยปรับขึ้นได้ในปีนี้ เพียงแต่เรามองว่าโอกาสเกิดขึ้นคงยาก โดยรวมจึงคิดว่าปีนี้ยังไม่น่าจะเห็นการขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย”นายเชาว์กล่าว

    รอเฟดขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า

    นายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ กล่าวว่า ยังไม่เห็นปัจจัยใดที่จะทำให้ กนง. ต้องปรับนโยบายด้านดอกเบี้ย จึงเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้ กนง. จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2%

    “ปัญหาด้านการคลังที่ทำให้นโยบายติดล็อกก็ถูกแก้ไขไปมากแล้ว เชื่อว่า กนง. เองก็คงอยากให้ภาคการคลังเข้ามามีส่วนช่วยเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ใช้ให้ภาคการเงินมีส่วนช่วยอย่างเดียว ดังนั้นเรื่องดอกเบี้ยปรับลดลงคงปิดประตูไปเรียบร้อยแล้ว” นายกำพล กล่าว

    ส่วนเรื่องทิศทางดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น ซึ่งเวลานี้ธนาคารกลางหลายประเทศในตลาดเกิดใหม่เริ่มพูดถึงกันนั้น คงต้องติดตามดูทิศทางของเฟดด้วยว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้เมื่อไร โดยขณะนี้ตลาดเงินเริ่มคาดการณ์กันแล้วว่าในปีหน้าคงได้เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เพียงแต่ว่าจะปรับขึ้นเมื่อไรเท่านั้น

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การประชุม กนง. รอบนี้ไม่น่าจะมีอะไรที่อยู่เหนือการคาดการณ์ของตลาด โดยมองว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 2% เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในขณะนี้ลดลงไปจากช่วงก่อนหน้าค่อนข้างมาก

    “แม้เศรษฐกิจจะไม่โตแรงอย่างที่เราอยากเห็น แต่อย่างน้อยก็โตดีกว่าช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้มีปัญหา ทำให้มองว่าการประชุมรองนี้ กนง. จะยังตัดสินใจคงดอกเบี้ยไว้ก่อน ส่วนการปรับขึ้นคิดว่าคงยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะเงินเฟ้อเองก็ไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากนัก โดยเป็นผลจากมาตรการดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ยังมีผลอยู่”นายอมรเทพกล่าว

    Tags : เฟด • เงินร้อน • บอนด์ • เก็งกำไร • เงินบาท • ดอกเบี้ย • ตราสารหนี้ • กนง. • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย • เชาว์ เก่งชน

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้