ทุนญี่ปุ่นรุกหนักลงทุนไทย เดินหน้าขยายลงทุนภาคผลิต-สินค้าอุปโภคบริโภค-ภาคบริการ-อสังหาฯ รับเปิด"เออีซี" ขณะสหัพฒน์เผยจับมือญี่ปุ่น ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของธุรกิจไทย เผยญี่ปุ่นเบนเข็มอาเซียน เม็ดเงินลงทุนพุ่งแซงจีน นักลงทุนญี่ปุ่นขยายฐานการลงทุนในภาคผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการอย่างต่อเนื่อง หลังจากก่อนหน้านี้ เน้นไปที่ขยายลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ในปี 2558 ล่าสุด "เครือเจริญโภคภัณฑ์" (ซี.พี.) ทุนใหญ่ในธุรกิจเกษตรครบวงจรของไทย บรรลุข้อตกลงร่วมทุนกับเทรดดิ้งคัมพานีระดับโลก "อิโตชู คอร์ปอเรชั่น" เข้าถือหุ้น 4.92% มูลค่ากว่า 32,000 ล้านบาท เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในองค์กรข้ามชาติ ขณะที่อิโตชู ก็เข้ามาถือหุ้นในบริษัทซี.พี.โภคภัณฑ์ จำกัด (CPP)ใต้เครือซีพี ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง สัดส่วน 25% มูลค่า 27,200 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ มีความเคลื่อนไหวภาคบริการการเงิน ด้วยการเข้ามาถือหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เมื่อปลายปีที่ผ่านมาของกลุ่มมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเซียล (Mitsubishi UFJ Financial Group หรือ MUFG) ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 72% ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.7 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับ ธุรกิจประกัน บริษัท เมจิ ยาซึดะ ไลฟ์ อินชัวรันส์ จำกัด บริษัทประกันชีวิตยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของประเทศญี่ปุ่น เข้าถือหุ้นในไทยประกันชีวิตซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตอันดับ 3 ของไทยในสัดส่วน 15% และหลังจากนี้ไทยประกันจะเดินหน้าขยายธุรกิจไปยังอาเซียนมากขึ้น ส่วนบริษัทกรุงเทพประกันชีวิตผู้นำในตลาดประกันชีวิตของไทยก็มีผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างบริษัท นิปปอน ไลฟ์ อินชัวรันส์ ซึ่งเป็นบริษัทประกันอันดับ1 ของญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้นผ่าน MITSUBISHI UFJ GLOBAL CUSTODY S.A. ในสัดส่วน 24.39% ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนจากก่อนหน้านี้ที่ถือหุ้นอยู่ต่ำกว่า 20% นอกจากนี้ บริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตมีบริษัท ไดอิจิ มิลชวลไลฟ์ อินชัวรันส์ บริษัทประกันชีวิตอันดับ 3 ของญี่ปุ่นถือหุ้นในสัดส่วนกว่า 24% ทุนญี่ปุ่นรุกไทยฐานผลิตอาเซียน นายสุรัช พัฒนวงศ์ยืนยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหชลผลพืช จำกัด บริษัทในเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำนมถั่วเหลืองแบรนด์มารุเซ็น กล่าวว่าทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ เนื่องจากนักลงทุนมองโอกาสในการขยายตลาดไปยัง 10 ประเทศในอาเซียน เจาะตลาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน ส่วนการทุนญี่ปุ่นเลือกลงทุนในไทย เพราะมองว่าเป็นทำเลที่ดี เงื่อนไขต่างๆ ดีกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะ ไม่มีปัญหาเรื่องชนชาติ โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานค่อนข้างพร้อม ระบบโลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่งสะดวก และเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของภูมิภาคอาเซียนเมื่อเทียบกับเวียดนาม หรืออินโดนีเซียที่มีประชากรมากถึง 240 ล้านคน แต่ยังมีข้อด้อย อาทิ ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ต่อหัวของประชากร นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจัยเศรษฐกิจ กำลังซื้อของญี่ปุ่นที่เข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ผลักดันให้ทุนญี่ปุ่นต้องออกมาลงทุนนอกประเทศ "หลายสิบปีที่ผ่านมา การจะนำสินค้าและบริการเข้ามารุกตลาดไทยและอาเซียน ยังเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป แต่วันนี้ตลาดถือว่ามีความพร้อมและเปิดรับมากขึ้น จึงเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนญี่ปุ่นจะเข้ามา ไทยยังเป็นฐานให้ขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน แค่ส่งสินค้าไปจำหน่ายที่อุดรธานี ก็สามารถกระจายไปถึงประเทศลาว หรือไปภาคเหนือ จ.เชียงราย จ.ตาก ก็เจาะประเทศพม่า" สินค้าและบริการญี่ปุ่นแห่มาไทย นายสุรัช กล่าวอีกว่า แนวโน้มสินค้าและบริการทุกด้านจะบุกเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องดื่ม เวชภัณฑ์ยา รวมทั้งห้างค้าปลีกประเภทคอนวีเนียนสโตร์ ร้านยา เป็นต้น ที่ถือเป็นสินค้าทั่วไป (Mass) ที่ทำตลาดในวงกว้าง ขณะที่เครือสหพัฒน์ได้ดึงสินค้านมถั่วเหลืองแบรนด์ “มารุเซ็น” จากญี่ปุ่น เข้ามาทำตลาดในไทยเพราะเห็นโอกาสทางการตลาดที่ยังเติบโต โดยอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะร่วมทุนผลิตสินค้าในไทย ขยายตลาดไปยังอาเซียนและจีน ส่วนปรากฏการณ์ของเครือซี.พี.ที่เข้าไปถือหุ้นในอิโตชูฯ นั้น มองว่ายุคนี้การทำธุรกิจต้อง "win win" ทุกฝ่าย ที่สำคัญไม่จำเป็นที่จะต้องมาแข่งขันกันเอง เช่นเดียวกับสหพัฒน์ที่ผ่านมาจับมือกับธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไทยเพรซิเดนท์ฟู้ด ผนึกนิชชินในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, การร่วมทุนกับไลอ้อนของญี่ปุ่นผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค, การร่วมมือกับวาโก้ในการผลิตชุดชั้นใน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นายสุรัช ยังเห็นว่า นอกจากญี่ปุ่นจะขยายตลาดมายังอาเซียน ไทยยังสามารถใช้พันธมิตรเป็น "สปริงบอร์ด" รุกสู่เวทีการค้าโลกได้ด้วย เพราะแนวโน้มใน 20 ปีข้างหน้า โลกธุรกิจจะไร้พรมแดนมากขึ้น “การจับคู่แข่งมาเป็นพันธมิตร ช่วยเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจ ซึ่งบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันให้มีภาระต้นทุน ยักษ์มาเจอยักษ์จับมือกันทำธุรกิจดีกว่า” ชี้จับมือญี่ปุ่นเป็นช่องทางธุรกิจไทย ด้านนายรติ พันธุ์ทวี ผู้อำนวยการบริหาร ประจำสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า หากพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจไทยถือว่ามีอัตราการเติบโตสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน และไทยยังเป็นประเทศที่มียุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต ขณะที่ทุนญี่ปุ่นเข้ามาขยายการค้าการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะมองเห็นศักยภาพ เนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่นมายาวนาน และผ่านวิกฤติมาด้วยกันได้หลายครั้ง อาทิ น้ำท่วมครั้งใหญ่ปลายปี 2554 “การค้าการลงทุนจะหนักมายังซีกโลกเอเชียมากขึ้น และคาดว่าเมื่อเปิดเออีซีทุนญี่ปุ่นจะเข้ามาในไทยมากขึ้น โดยวัฒนธรรม สินค้าญี่ปุ่นคนไทยก็เข้าถึงได้ง่าย การจับมือกับนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นพันธมิตร ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินธุรกิจของไทย ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันในทุกๆอย่าง การผนึกกำลังกันยังช่วยให้สปีดการเติบโตเร็วขึ้น" แฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นสนไทย นายประวิทย์ ตันติวศินชัย รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบัญชีและการเงิน เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า น่าจะเห็นรูปแบบของการขายแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นเข้ามาในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่จะมาเปิดร้านอาหารตามห้างฯในปัจจุบันเหลือไม่มากนัก รวมถึงต้องใช้ระยะเวลาสร้างธุรกิจ ส่วนการลงทุนเปิดร้านพร้อมกันหลายสาขาภายในเวลาเดียวกันก็ทำได้ยาก เนื่องจากห้างใหญ่ๆมีพื้นที่ร้านอาหารค่อนข้างเต็ม ถ้านักลงทุนต่างชาติหน้าใหม่ต้องการจะเปิดร้านใหม่ก็อาจต้องรอร้านเก่าหมดสัญญาเช่าที่ก่อน หรืออาจเลือกไปเปิดร้านในห้างใหม่แทน ส่วนความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นการลงทุนครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นในกลุ่มธุรกิจอาหารภายในประเทศยังคงเกิดขึ้นได้ยาก และการลงทุนธุรกิจอาหารไม่ได้ใช้เงินลงทุนสูงมากนัก ซึ่งอาจยังไม่มีความจำเป็นหรือไม่ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่นได้มากพอ แต่ 2 ปีลงทุนสินค้า-บริการต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้หันมากลับมาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าและบริการ โดยเข้ามาผนึกทุนไทยกันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นลอว์สัน อิงค์ เจแปน ร้านเครือข่ายรายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ที่ร่วมทุนกับสหพัฒนพิบูล ขยายร้านสะดวกซื้อ “ลอว์สัน 108” แบ่งเค้กตลาดร้านสะดวกซื้อมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท บริษัทยักษ์ญี่ปุ่น อย่างบริษัท อิโตชู เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท คาโกเมะ จำกัด ผนึกบริษัท โอสถสภา จำกัด อีกผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภครายใหญ่ของไทย ตั้งบริษัทร่วมทุนและเปิดตัวน้ำมะเขือเทศสกัดเข้มข้น “คาโกเมะ” รุกตลาดเครื่องดื่มสกัดเข้มข้นมูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท บมจ.เอสแอนด์พี ดึงร้านอาหารประเภททงคัตสึแบรนด์ “ไมเซน” รุกธุรกิจอาหารญี่ปุ่นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท บมจ. เบอร์ลี่ยุคเกอร์ ดึงเชนร้านยา “โอเกงกิ” และเครือสหพัฒน์ร่วมกับ ซูรูฮะ จากญี่ปุ่น เปิดร้านยา “ซูรูฮะ” รุกตลาดซูเปอร์ดรัก สโตร์ มูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ในธุรกิจค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย ผนึกยักษ์ค้าปลีกแห่งเอเชีย “อิออน กรุ๊ป” ร่วมทุนกับ AEON CO. (M) BHD. (อิออน คอมพานี มาเลเซีย เบอร์ฮาด) บุกตลาดค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ประเทศมาเลเซีย ภายใต้บริษัท AEON INDEX LIVING SDN. BHD. (อิออน อินเด็กซ์ ลิฟวิ่ง) แบ่งสัดส่วนการถือครองหุ้น อินเด็กซ์ฯ 30% อิออน 70% โดยมีแผนจะร่วมกันรุกตลาดอาเซียน ขณะที่อิออน กรุ๊ป วางยุทธศาสตร์ให้มาเลเซีย เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่เพื่อขยายสาขาสู่อาเซียน ล่าสุด บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท มารุเซ็น ที เจแปน จำกัด ตั้งบริษัท มารุเซ็น (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อผลิตชาเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มทั้งในและต่างประเทศ ค่ายรถแห่ลงทุนอีโคคาร์เฟสสอง ทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ถือว่ายังคงใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญ โดยปี 2556 ไทยผลิตรถยนต์รวมกว่า 2.4 ล้านคัน อยู่ในอันดับ 9 ของโลก และแม้ว่าปีนี้คาดว่าการผลิตจะลดลงเหลือ 2.2 ล้านคัน เนื่องจากตลาดในประเทศลดลง การตั้งเป้าเพิ่มการผลิต เนื่องจากค่ายรถต่างๆ มีแผนการลงทุนเพิ่มเติม รวมถึงการลงทุนในโครงการอีโค คาร์ เฟส 2 ซึ่งค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ที่ขอบีโอไอ คือ นิสสัน มูลค่าลงทุน 6,860 ล้านบาท มิตซูบิชิ 6,000 ล้านบาท ซูซูกิ 8,438 ล้านบาท โตโยต้า 10,406 ล้านบาท และมาสด้า 9,727 ล้านบาท "เอสเอ็มอี"ญี่ปุ่นลงทุนไทยเพิ่ม นายสมเกียรติ ชูพรรคเจริญ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย กล่าวว่าไทยยังเป็นแหล่งผลิตที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจ ไม่เฉพาะรถยนต์เท่านั้น ซึ่งจากการเดินทางไปหารือนักธุรกิจที่ญี่ปุ่น ช่วงต้นปีที่ผ่านมาพบว่ามีนักธุรกิจสนใจเข้ามาลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องมือแพทย์ รวมมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท นายสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ ผู้อำนวยการโครงการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด กล่าวว่า การเดินทางโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นเดือนมี.ค. ที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มเอสเอ็มอีชิ้นส่วนยานยนต์ญี่ปุ่นในเมืองอุตสาหกรรมใหม่ อย่าง นากาโน และซันโจ ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็ก มีความละเอียดสูง (Hi Precision) จะเข้ามาลงทุน 200 ราย รวม 4,000 ล้านบาท ช่วง1-2 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งที่ลงทุนไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ อสังหาฯญี่ปุ่นลงทุนต่อเนื่อง ด้านกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการอสังหาฯของไทยมีเพียง 2 ราย คือ บริษัท มิตซูบิชิ เอสเตท กรุ๊ป องค์กรพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่าสินทรัพย์เป็นอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าร่วมทุนกับบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายจะร่วมพัฒนาโครงการคอนโดใจกลางเมือง 3 โครงการ มูลค่ารวม 7,137 ล้านบาท ส่วนกลุ่มบริษัท มิตซุย ฟุโดซัง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรของญี่ปุ่น ที่มียอดขายกว่า 1,600 ล้านดอลลาร์ ร่วมทุนกับกลุ่มอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ โดยตั้งบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเซีย จำกัด (Ananda MF Asia) ทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า นางสาวณภัทร เธียรชุติมา รองผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาและการลงทุนพัฒนาโครงการ บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และฮ่องกง ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดและกลุ่มค้าปลีก เช่น ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าชุมชน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมการบริการ โรงแรม อาคารสำนักงาน เป็นต้น เนื่องจากเศรษฐกิจในญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวและตลาดอสังหาฯญี่ปุ่นค่อนข้างอิ่มตัว Tags : เครือเจริญโภคภัณฑ์ • กลุ่มทุนญี่ปุ่น • อาเซียน • อุปโภค • บริโภค • เออีซี • ซี.พี. • อิโตชู คอร์ปอเรชั่น • แฟรนไชส์ • ร้านอาหารญี่ปุ่น • ค่ายรถ • บุญรอดบริวเวอรี่ • อสังหาริมทรัพย์ • มิตซุย ฟุโดซัง