ทุนจีนทะลักอาเซียนจี้ไทยปรับรับโอกาส

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 11 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สภาธุรกิจไทย-จีน เตือนนักธุรกิจไทยปรับตัวรับทุนจีนไหลเข้าอาเซียน ชี้เป็นทั้งโอกาสและวิกฤติ

    สภาธุรกิจไทย-จีน เตือนนักธุรกิจไทยปรับตัวรับทุนจีนไหลเข้าอาเซียน ชี้เป็นทั้งโอกาสและวิกฤติ หลังจากจีนประกาศชัดลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมหนักสู่ภาคบริการและเกษตร ขณะที่ต้นทุนแรงงานในจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เชื่อเม็ดเงินลงทุนนอกเพิ่มขึ้นทวีคูณ ด้านอมตะเผยทุนจีนขยายเข้านิคมอมตะแล้ว 50 โรงงาน

    จากนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศจีน หลังจากรัฐบาลจีนเปิดการประชุมคณะกรรมาธิการถาวรของสภาประชาชนแห่งชาติจีน หรือ NPC เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ในวาระครบรอบ 1 ปี การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ของนาย สี จิ้นผิง โดยมีสาระสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมของจีนในปี 2558 ที่มุ่งเน้นพัฒนาใน 3 เรื่องหลัก คือ ผลักดันเศรษฐกิจเชิงลึก ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่เหมาะสม และยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างยั่งยืน

    สภาธุรกิจไทย-จีน ร่วมวิเคราะห์ "นโยบายเศรษฐกิจล่าสุดของนาย สี จิ้นผิง กับโอกาสของธุรกิจไทย " ณ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย วานนี้ (9 พ.ค.)

    นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-จีน และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยพาณิชย์ ฉายภาพการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน ภายใต้การนำของนายสี จิ้นผิง ว่า ประเทศจีนพยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ด้วยการลดเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากที่คาดว่าจะเติบโต 7.5% ในปีนี้ เหลือ 5% ในปี 2563 รวมถึงการลดระดับการบริโภค ตลอดจนการปรับโครงสร้างการบริหารงาน ติดต่อกับหน่วยงานราชการเพื่อลดความซับซ้อน

    จีนเบรกศก.ปรับโหมดอุตฯหนักสู่บริการ

    นอกจากนี้ ยังเน้นการปรับโครงสร้างการผลิต จากเดิมเน้นการเติบโตในภาคการผลิตและอสังหาริมทรัพย์ เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมบริการ ผนวกกับเทคโนโลยี เช่น ส่งเสริมภาคเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคการเกษตร และภาคบริการ เป็นต้น

    ขณะเดียวกัน ยังมุ่งแก้ไขปัญหาภาคการเงินนอกระบบ (shadow bank) ที่มีมูลค่าสูงถึง 7-11 ล้านล้านหยวน ที่อาจส่งสัญญาณภาวะฟองสบู่ หรือเกิดการล้มลงของบางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินนอกระบบ ในช่วงไตรมาส 3-4 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลในระยะสั้น แต่จะเกิดประโยชน์ในเชิงคุณภาพกับเศรษฐกิจจีนในระยะยาว

    “จีนต้องการลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจให้มีอัตราการเติบโตในเชิงคุณภาพมากขึ้น จากเดิมมีการเติบโตด้านภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิตขนาดใหญ่มาสู่การบริโภคภาคประชาชน ภาคการเกษตรและภาคบริการ รวมถึงแก้ไขปัญหาทางการเงินนอกระบบ ซึ่งจะกลายเป็นฟองสบู่ในอนาคต เพราะที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจจีนเป็นการเติบโตจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น ก่อสร้างรถไฟ และท่าเรือ ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบมาก ทำให้เกิดปัญหาเงินล้นระบบ (Money supply) ตามมา" เขากล่าว

    ย้ายฐานผลิตโอกาสอาเซียน-ไทย

    ทั้งนี้จากนโยบายดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังต่างประเทศ กลายเป็นโอกาสของอาเซียนรวมถึงไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการย้ายฐานการผลิต

    นอกจากนี้ รัฐบาลจีนก็ยังส่งเสริมให้เอกชนจีน ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ตามนโยบาย going out policy ทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจากจีนเข้ามาอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้นนักลงทุนไทยจึงควรต้องเตรียมพร้อมรับกับโอกาสที่จะเกิดขึ้น ด้วยการยกระดับธุรกิจให้พร้อมรับเม็ดเงินลงทุนจากจีน เรียนรู้ที่จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อรับมือกับคู่แข่งขันอย่างจีน ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและวิกฤติสำหรับผู้ที่ไม่ปรับตัว

    “ปัจจุบันค่าจ้างแรงงานจีนเริ่มปรับสูงขึ้น ทำให้ภาคเอกชนจีนต้องการย้ายมาลงทุนในประเทศที่มีต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย ขณะเดียวกันจีนยังต้องการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกัน เช่น การเข้าไปลงทุนในทวีปแอฟริกา"

    อมตะชี้ 50 โรงงานจีนผุดลงทุน

    ด้านนายวิกรม กรมดิษฐ์ รองประธานสภาธุรกิจไทย-จีน และ ประธาน. บมจ.อมตะคอร์ปอเรชัน กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนจีนเข้ามาในไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมอมตะฯ ปัจจุบันมีถึง 50 โรงงาน ที่เข้ามาตั้งโรงงาน จากเดิมที่ไม่มีกลุ่มนักลงทุนจีนเข้ามาเลย เชื่อว่าในระยะยาว จะมีนักลงทุนจากจีนเข้ามามากขึ้น ขยายเป็น 500 โรงงาน

    เขายังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมามีคนจีนเดินทางไปทั่วโลก มากถึงปีละ 100 ล้านคน หนึ่งในนั้นมี 5 ล้านคน เดินทางไปยัง แอฟริกา และประมาณ 4-5% หรือกว่า 4 ล้านคนเดินทางมาไทย ซึ่งในกลุ่มนักเดินทางเหล่านี้ยังมีนักลงทุนรวมอยู่ด้วย สะท้อนว่าทุนจีนเริ่มย้ายมาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น ตามเป้าหมายการเชื่อมประตูการค้ากับภูมิภาคใกล้เคียงจีน จีนยังตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้ากับอาเซียนขึ้นเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2563 จากปัจจุบันมีมูลค่า 4 แสนล้านดอลลาร์

    “จีนมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ ในเดือนมี.ค. 2557 ถือว่าแข็งแกร่งทางการเงินมากที่จะเข้ามาลงทุนในอาเซียนโดยเฉพาะนโยบายที่จีนต้องการเชื่อมต่อกับภูมิภาคข้างเคียงเพื่อเปิดประตูการค้าทางตอนใต้ และทางตะวันออก” เขากล่าว

    แนะใช้ประโยชน์เงินทุนจีน

    ด้าน นายเอนก ศรีชีวะชาติ รองประธานสภาธุรกิจไทยจีน และ อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า การที่นักลงทุนไทยหวังจะเข้าไปลงทุนในจีนเป็นเรื่องยากในยุคนี้ เพราะที่ผ่านมานักลงทุนไทยหลายรายเข้าไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดประโยชน์ในปัจจุบัน คือ การตักตวงโอกาสจากเม็ดเงินการลงทุนของจีนที่เข้ามาในอาเซียนมากกว่า

    “เราเป็นแค่หนึ่งประเทศในอาเซียน จีนไม่ได้มองเราแค่ประเทศเดียว แม้เราจะโฆษณาว่าเราเป็นฮับอาเซียน โดยเฉพาะความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน ควบคู่กับแหล่งวัตถุดิบและแรงงาน ที่เราจะต้องเผชิญกับการแข่งขันกับต่างประเทศ ที่จะดึงดูดเม็ดเงินมาลงทุน”

    ส่วนภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย-จีน คาดว่า ในระยะยาวจะขยายตัวดีขึ้นหากมีการปรับมาตรการผ่อนปรนท่องเที่ยว ที่ห้ามไม่ให้ขายออปชั่นเสริมในช่วงเดือนต.ค. 2556 ที่ผ่านมา ประกอบกับสถานการณ์การเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรค แต่การท่องเที่ยวจีนมาไทยเพิ่มขึ้นถึง 3.8 ล้านคน จาก 2.6 ล้านคนในปี 2555 สะท้อนว่ายังมีความต้องการเดินทางมาไทย

    ยกมาตรฐานสินค้าเข้าตลาดจีน

    ด้าน นายไกรสินธุ์ วงศ์สุรไกร เลขาธิการสภาธุรกิจไทย-จีน และกรรมการบริหาร บริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด กล่าวว่า สินค้าไทยที่ส่งออกไปจีนนั้น มีโอกาสเติบโตอย่างสูง แต่ทางผู้ประกอบการไทยก็ต้องปรับตัว เนื่องจากมาตรการการนำเข้าของจีนค่อนข้างเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย มีการตรวจสอบซ้ำก่อนจะผ่านไปยังตลาดจีนได้

    “เราจะส่งสินค้าไปยังจีนอย่างเดิมๆ ไม่ได้ เพราะรัฐบาลจีนเพิ่มความเข้มงวดในมาตรฐานอาหารสูงขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงต้องเข้มงวดด้านมาตรฐานสินค้ามากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเรื่องสุขอนามัย สารตกค้าง การส่งออกทำให้ประเทศไทย มีการลำเลียงสินค้าไปยังจีน ศุลกากรจีนยังต้องตรวจสอบสองครั้งทั้งคุณภาพมาตรฐานสุขอนามัย ที่จะเข้าไปทำตลาดสง่าผ่าเผยหลังผ่านมาสองด่าน” เขากล่าว

    เขายังกล่าวต่อว่า ทางสภาธุรกิจไทย-จีน พยายามเป็นสะพานเชื่อมโยงประสานงานนักธุรกิจรุ่นใหม่ ไปเยือนทางจีน เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยและเจรจาการค้าและการลงทุนได้ นอกจากนี้ยังเดินหน้ามาตรการเชิงรุก ด้วยการเข้าไปสื่อสารอธิบายทำความเข้าใจการค้ากับเมืองจีนให้มากขึ้น โดยเข้าถึงผู้ค้าโดยตรง เพราะบางระบบการค้ากับจีนยังต้องผ่านคนกลาง

    Tags : สภาธุรกิจไทย-จีน • อาเซียน • เงินทุน
     

แบ่งปันหน้านี้