แอร์ หรือ เครื่องปรับอากาศกลายเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญประจำรถยนต์ ทุกวันนี้เมื่อทอดสายตามองไปตามท้องถนน แทบจะหารถยนต์ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศไม่ได้แล้ว ไม่เว้นแม้แต่ในภูมิภาคหรือในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นเกือบทั้งปีก็ตาม จากอดีตที่ผู้ซื้อรถยนต์ต้องนำรถออกมาหาร้านรับติดตั้งแอร์เอาเอง จนมาถึงยุคที่แม้จะมีการติดตั้งแอร์มาจากโรงงานผลิตแล้ว แต่เวลาบอกราคาขายรถยนต์ยังต้องมีเครื่องหมายดอกจันกำกับเอาไว้ว่าไม่รวมค่าเครื่องปรับอากาศ ทำให้มีการร้องเรียนกันมากมายว่าเป็นการบอกราคาแบบหมกเม็ด ปัจจุบันนี้หากมีผู้จำหน่ายรถยนต์รายใดประกาศราคาขายรถ พร้อมกับบอกว่า “ไม่รวมค่าเครื่องปรับอากาศ” ก็คงไม่มีใครสนใจซื้อรถยี่ห้อนั้นอย่างแน่นอน 30 กว่าปีที่แล้วผมเคยประกอบอาชีพเป็นพนักงานขายรถยนต์มาระยะหนึ่ง รายได้สำคัญของพนักงานขายรถยนต์ในยุคนั้นคือ ค่านายหน้าหรือที่เรียกกันว่าค่าคอมมิชชั่นสำหรับการนำรถยนต์ไปติดตั้งแอร์และวิทยุ-เทป หรือระบบเครื่องเสียงในรถ ซึ่งเป็นรายได้ที่มากกว่าค่านายหน้าในการขายรถยนต์ 1 คัน ยุคนั้นรถเก๋งขนาดเล็กซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดมาก เช่น ดัทสัน ซันนี่, โตโยต้า โคโรลล่า ฯลฯ ราคาคันละประมาณ 4 หมื่นบาทเศษ แต่เครื่องปรับอากาศหรือแอร์แบบตู้แขวนยี่ห้อดังๆ เช่น กิกิ, ซันเดน, ยอร์ค และ นิปปอน เดนโซ่ ราคารวมค่าติดตั้งอยู่ที่ประมาณเครื่องละ 3 พันบาทหรือมากกว่านั้น เทียบเป็นสัดส่วนแล้วเท่ากับร้อยละ 10 ของราคาค่าตัวรถเลยทีเดียว เครื่องรับวิทยุที่สามารถเล่นเทปคาสเซทได้ระดับพื้นๆ เช่น ยี่ห้อ โรดสตาร์ พร้อมลำโพงขนาด 4 นิ้วสัก 2 ตัว ราคารวมค่าติดตั้งจะอยู่ที่ประมาณ 3 พันบาทเช่นกัน จากการเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยสำหรับคนมีฐานะดีในสมัยแอร์แขวนแบบตู้ ซึ่งมีตำแหน่งการติดตั้งแขวนห้อยเอาไว้ใต้แผงคอนโซลหน้า ต่อมากลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานประจำรถที่มีการติดตั้งจากโรงงานในตำแหน่งที่หลบซ่อนเอาไว้อย่างมิดชิด ทำให้แอร์หรือเครื่องปรับอากาศซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่า เป็นตัวการทำให้อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูงมากขึ้น กลายมาเป็นอุปกรณ์ที่คนขับรถขาดไม่ได้และถูกกำหนดให้ต้องทำการซ่อมบำรุงตามระยะเวลาใช้งาน ไม่ต่างไปจากเครื่องยนต์หรืออุปกรณ์สำคัญอื่นๆ เมื่อแอร์หรือเครื่องปรับอากาศกลายมาเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีในรถยนต์ทุกคัน แถมยังเป็นอุปกรณ์ที่ต้องการการดูแลรักษาและการใช้งานที่ถูกต้อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและค่าซ่อมบำรุงในการใช้แอร์ จึงมีบทความมากมายที่บอกกล่าวถึงวิธีการใช้แอร์ที่ถูกต้อง เผยแพร่ออกตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อของผู้ผลิตรถยนต์เอง, สื่อสิ่งพิมพ์, สื่อโทรทัศน์และสื่อวิทยุทั่วไป คำบอกเล่าเกี่ยวกับวิธีการใช้และดูแลแอร์มีมากมาย เช่น ก่อนจะสตาร์ทเครื่องยนต์ทุกครั้งควรปิดแอร์ก่อน เพราะการที่เปิดสวิทช์แอร์ค้างเอาไว้ในขณะที่บิดสวิทช์สตาร์ทเครื่องยนต์จะทำให้เกิดแรงกระตุกผ่านสายพานกระทำต่อคอมเพรสเซอร์แอร์อย่างรุนแรง จนอาจจะทำให้คลัทช์ที่คอมเพรสเซอร์แอร์มีอายุการใช้งานสั้นลง และยังส่งผลทำให้แบตเตอรี่และมอเตอร์สตาร์ทต้องทำงานหนักมากกว่าที่ควร นั่นหมายความว่าอุปกรณ์ทั้งสองชนิดดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานสั้นลงไปด้วย แต่ปัจจุบันนี้ฝ่ายเทคนิคของผู้ผลิตรถยนต์บางยี่ห้อกลับมีคำแนะนำที่ต่างกันออกไป เพราะพวกเขาเชื่อกันว่าการที่ทำการปิดแอร์และเปิดแอร์บ่อยๆ จะทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์เสียหายได้ง่าย เขาจึงแนะนำช่างและลูกค้าของเขาว่าไม่มีความจำเป็นต้องปิดสวิทช์แอร์แต่อย่างใด สามารถเปิดค้างไว้อย่างนั้นแล้วดับเครื่องยนต์ลงไปได้เลย เมื่อจะสตาร์ทเครื่องยนต์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งก็บิดสวิทช์กุญแจสตาร์ทเครื่องยนต์ได้เลยโดยที่สวิทช์แอร์ยังเปิดค้างอยู่เช่นนั้น ความเห็นแย้งดังกล่าวอยู่ที่ว่าผู้แนะนำจะมองจากมุมใด แต่สำหรับผมแล้วหากจะมองโดยภาพรวมของรถยนต์ทั้งคัน ผมยังเชื่อในคำแนะนำแรกที่ให้ปิดแอร์รถยนต์ทุกครั้งก่อนจะสตาร์ทเครื่องยนต์ ซึ่งเท่ากับว่าหากจะทำให้ถูกต้องโดยไม่หลงลืมแล้ว ผู้ขับรถยนต์ที่ดีก็ควรที่จะปิดแอร์ก่อนดับเครื่องยนต์ทุกครั้งด้วย ปัจจุบันนี้มีธุรกิจรับล้างเครื่องแอร์หรือที่เรียกกันว่าล้างตู้แอร์ในรถยนต์ด้วยวิธีการที่ไม่จำเป็นต้องถอดตู้แอร์ออกมาจากตำแหน่งที่ติดตั้ง แต่จะใช้การสอดเครื่องมือหรือหัวฉีดสำหรับพ่นน้ำยาล้างตู้แอร์เข้าไปภายใน แล้วทำการฉีดล้างคราบสกปรกที่ติดอยู่บริเวณครีบของตู้แอร์ โดยโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถล้างได้สะอาดและฆ่าเชื้อโรคได้ โดยที่ไม่ต้องถอดตู้แอร์ให้มีความบอบช้ำเกิดขึ้น ความเห็นของผมก็คือหากแอร์หรือเครื่องปรับอากาศยังสามารถทำให้ห้องโดยสารของรถยนต์มีความเย็นอยู่ได้ และไม่มีกลิ่นเหม็นอับเกิดจากการทำงานของระบบปรับอากาศ รวมถึงไม่มีเสียงดังผิดปรกติใดๆ เกิดขึ้นเมื่อระบบแอร์ทำงาน การทำความสะอาดหรือการล้างตู้แอร์ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เสียเงินแต่อย่างใดทั้งสิ้น แอร์หรือเครื่องปรับอากาศถูกผลิตและติดตั้งมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้อุณหภูมิในห้องโดยสารลดลง หรือเพื่อสร้างความเย็นสบายให้กับคนโดยสาร ดังนั้นหากการทำงานของแอร์หรือเครื่องปรับอากาศยังบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ ก็เท่ากับว่าแอร์หรือเครื่องปรับอากาศยังคงทำหน้าที่ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ถูกผลิตขึ้นมานั่นเองครับ Tags : แอร์ • เครื่องปรับอากาศ • รถยนต์ • พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ • รายได้