แบงก์ชาติป้องเงินสำรองไม่เหมาะลงทุนน้ำมัน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 3 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ผู้ว่าธปท.ชี้เงินสำรองระหว่างประเทศไม่เหมาะนำไปลงทุนน้ำมัน เหตุความผันผวนสูง หากผิดพลาดพาประเทศเสียหาย

    นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอให้ ธปท.นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีรวมกว่า 1.7-1.8 แสนล้านดอลลาร์ ไปลงทุนในคลังน้ำมันสำรองเพื่อความมั่นคงทางพลังงานว่า ธปท.มองว่าสามารถทำได้ เพียงแต่ผู้ที่ดำเนินการต้องไม่ใช่ ธปท. เพราะหากให้ ธปท.เข้าไปดำเนินการเอง จะถือเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต

    อย่างไรก็ตาม หากกระทรวงการคลัง หรือ ปตท. ต้องการให้ประเทศไทยมีคลังน้ำมันสำรองเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ทาง ปตท.ก็สามารถทำได้โดยการนำเงินบาทมาแลกเป็นเงินดอลลาร์เพื่อไปซื้อน้ำมันมาเก็บสำรองไว้ใช้ หรือจะให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการโดยออกพันธบัตรสกุลเงินบาทแล้วนำมาแลกเงินดอลลาร์เพื่อไปซื้อน้ำมันเหมือนกับที่ทางการจีนเคยดำเนินการก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าจะให้ ธปท.ดำเนินการคงไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม

    "จริงๆ แล้วไม่มีธนาคารกลางไหนในโลกที่เก็บน้ำมันในรูปของเงินสำรอง และกฎหมายของเราก็ห้ามเอาไว้ เพราะกฎหมายเข้าใจว่าเงินสำรองมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศ โดยเฉพาะเอาไว้รองรับในยามที่มีเงินทุนไหลออก และโดยทั่วไปธนาคารกลางจะไม่ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างราคาน้ำมันเองช่วงหลังๆ มีการขึ้นลงผันผวนเหมือนหุ้น หากการลงทุนเกิดผิดพลาดขึ้นมา ไม่ใช่แค่แบงก์ชาติเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ทั้งประเทศจะเดือดร้อนไปด้วย จะเหมือนเมื่อตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง" นายประสารกล่าว

    และว่า นอกจากนี้แล้วในบัญชีของ ธปท. ข้างสินทรัพย์จะมีเงินตราต่างประเทศอยู่ แต่ขณะเดียวกัน ธปท.ก็มีบัญชีข้างหนี้สินที่เกิดจากการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับภาพคล่องในระบบด้วย ดังนั้นถ้าจะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศไปใช้ ก็จำเป็นต้องเอาเงินบาทมาแลกออกไป เพื่อที่ ธปท.จะนำไปลดในส่วนของหนี้สินลงด้วย

    สัญญาณศก.ครึ่งปีหลังเริ่มฟื้น

    ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังนั้น นายประสาร กล่าวว่า ไม่มีเหตุที่ต้องกังวล โดยเครื่องชี้วัดต่างๆ โน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพียงแต่ทิศทางอาจไม่ได้ฟื้นตัวเร็วอย่างที่หลายคนอยากเห็น ซึ่งในส่วนของ ธปท.มองว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ประมาณ 3-4% ถือเป็นระดับที่สูงพอสมควร

    "พอพูดถึงตัวเลข เราอาจเห็นความใจร้อนที่อยากได้ตัวเลขกระโดดสูงๆ แต่ความเป็นจริงคงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจเองก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัว" นายประสาร กล่าวอีกว่า สำหรับ ธปท.เองมองว่า เศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยทั้งปีจะเติบโตได้ประมาณ 1.5% โดยตัวเลขไตรมาสแรกที่ออกมามีอัตราการติดลบประมาณ 0.6% ขณะที่ไตรมาสสองอาจทรงตัว ทำให้ค่าเฉลี่ยครึ่งปีแรกติดลบเล็กน้อย และการเติบโตในช่วงไตรมาสสามและสี่น่าจะเติบโตได้เฉลี่ยไตรมาสละ 3-4% ทำให้ทั้งปีโต 1.5% ส่วนปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ตามศักยภาพที่ 5.5%

    เศรษฐกิจทั้งปีโตต่ำกว่า 2%

    ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายต้องการเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยในปีนี้ที่ 2% นั้น นายประสาร กล่าวว่า หากจะทำได้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังต้องเติบโตแรงแบบผิดปกติ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน ยกเว้นเมื่อครั้งหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ทำให้โรงงานและครัวเรือนเร่งใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในครั้งนั้นฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว แต่หากเป็นในภาวะที่ปกติ เรายังไม่เคยเห็นการฟื้นตัวเช่นนั้นเลย

    นอกจากนี้ นายประสาร ยังกล่าวถึงตัวเลขการผลิตและการนำเข้าที่ยังหดตัวในช่วงนี้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความไม่มั่นใจ ยังไม่กล้าผลิตสินค้า จึงนำสินค้าคงคลังออกมาขายก่อน ส่งผลให้การนำเข้าและการผลิตช่วงที่ผ่านมาหดตัวลง แต่แนวโน้มจากนี้ไปเชื่อว่าจะเริ่มเห็นผู้ประกอบการกลับมาผลิตสินค้ามากขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อเติมสต็อกสินค้าที่ลดลง ทำให้การนำเข้าและการผลิตฟื้นตัวกลับมาได้

    สำหรับทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงที่เหลือของปีนี้ เขายอมรับว่า ยังประเมินทิศทางได้ค่อนข้างยาก แต่โดยภาพรวมน่าจะเป็นในเชิงที่ดีต่อประเทศ เพราะครึ่งปีหลังมีความชัดเจนทางการเมืองให้เห็นมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจเองก็มีทิศทางการฟื้นตัวที่ดี ภาพรวมของเงินทุนเคลื่อนย้ายจึงน่าจะไปในทิศที่มีโอกาสไหลเข้าได้อยู่

    "ผมไม่อยากไปฟันธงอะไรที่ชัดเจน แต่ถ้ามองไปข้างหน้าเรายังมีปัจจัยบวกอยู่ แน่นอนว่าต่างประเทศคนกำลังดูสหรัฐว่าอาจจะลดขนาดของคิวอี (มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ) และแนวโน้มอาจขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า ในทางกลับกันยุโรปและญี่ปุ่นยังผ่อนนโยบายการเงิน จึงต้องดูว่าสุทธิแล้วออกมาอย่างไร ซึ่งในประเทศเราก่อนหน้านี้ เขาก็ออกไปค่อนข้างมาก มาช่วงนี้ที่เหตุการณ์ต่างๆ ดูดีขึ้น ก็เริ่มกลับเข้ามา โดยรวมแล้วยังน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อเราอยู่" ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

    ห่วงปัญหาการเมืองโลกเพิ่มความเสี่ยง

    อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า ขณะนี้ความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์เริ่มมีมากขึ้น เป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน ในส่วนของ ธปท. เองก็จำเป็นต้องวิเคราะห์และหามาตรการตั้งรับ ซึ่งการตั้งรับสามารถทำได้เช่นเดียวกับวิธีการตั้งรับจากปัจจัยหรือเหตุการณ์อื่นๆ เช่น เรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นต้น

    "ยอมรับว่ามีความเสี่ยง เพียงแต่จะมาในมุมไหน แล้วเราจะตั้งรับอย่างไร การวิเคราะห์เพื่อตั้งรับก็ต้องดูว่าเป็นด้านใด เช่น ถ้าเป็นเรื่องตะวันออกกลาง เราก็ห่วงเรื่องราคาน้ำมัน หรือกรณีที่ยุโรปจะแซงชั่นรัสเซีย ตรงนี้ก็อาจมีผลต่อเศรษฐกิจโลกบ้าง ซึ่งยุโรปก็คงได้รับผลกระทบนั้นด้วย เพราะเศรษฐกิจของยุโรปเกี่ยวพันกับรัสเซียพอสมควร ขณะที่รัสเซียก็คงโดนผลกระทบเช่นกัน แม้เศรษฐกิจรัสเซียไม่ใหญ่มาก แต่ก็อาจมีผลกับเราบ้าง เพราะเขาเป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทย" นายประสารกล่าว

    ซุปเปอร์บอร์ดถกแผนฟื้นรสก.กลาง ส.ค.

    ด้าน นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า การตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ ทางคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูและรัฐวิสาหกิจ (ซุปเปอร์บอร์ด หรือ คนร. แต่งตั้งโดย คสช.) จะมีทีมมาดูแล มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาช่วยคัดเลือกบุคคคลที่เหมาะสมเพื่อแต่งตั้งบอร์ดใหม่เข้าไปโดยการส่งบุคคลทั้งนักการเงิน นักบัญชี อัยการ ธปท. ที่ผ่านมาได้ทยอยเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจไปค่อนข้างมากแล้ว ขณะนี้รัฐวิสาหกิจสำคัญได้ทยอยแต่งตั้งไปเกือบหมดแล้ว คาดว่าในช่วงต้นเดือน ส.ค.น่าจะแต่งตั้งบอร์ดใหม่ได้ทั้งหมด

    ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนบอร์ดไปแล้ว เช่น คมนาคม โทรคมนาคม แบงก์รัฐ พลังงาน ยังเหลือสาขาด้านการเกษตรและรัฐวิสาหกิจรายเล็กบางแห่ง หากแบงก์รัฐแห่งใดต้องเร่งการฟื้นฟู เช่น ไอแบงก์ (ธนาคารอิสลาม) เอสเอ็มอีแบงก์ (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) จะส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยวางแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อแก้ปัญหา โดยมีทีมในการคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอไปยังกระทรวงเจ้าสังกัด และเสนอให้ คสช.พิจารณาแต่งตั้ง

    สำหรับสิทธิประโยชน์ของบอร์ด ได้มีประกาศ สคร.กำหนดไว้ชัดเจนแล้ว แต่ที่ผ่านมาบอร์ดแต่ละแห่งจะอนุมัติเพิ่มเติมสำหรับค่ารับรอง ทำให้รัฐวิสาหกิจบางแห่งได้รับสูงจนเกินความจำเป็น จึงต้องใช้บอร์ดใหม่ที่แต่งตั้งใหม่พิจารณาปรับค่ารับรองให้เหมาะสม โดยคณะอนุกรรมการของ คนร.ที่มีผู้ว่าการ ธปท.เป็นประธาน จะพิจารณาเน้นปรับปรุงการบริหารจัดการด้วยธรรมาภิบาล การกำกับดูแล วางข้อกำหนดไปจนถึงการคัดเลือกกรรมการ การคัดเลือกซีอีโอ การทำระบบบัญชี การกำหนดอัตราเงินเดือนของพนักงานผู้บริหาร สำหรับรัฐวิสาหกิจบางแห่งตามกฎหมายจัดตั้งต้องมีขั้นเงินเดือนและการประเมินผล

    "จะปรับทุกอย่างให้เป็นมาตรฐานสากลเหมือนกับรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องดำเนินการตามแผนธรรมาภิบาล รวมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ จะกำหนดแนวทางร่างทีโออาร์ให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ แต่ไม่เป็นภาระ เพราะต้องดำเนินการด้วยความคล่องตัว มีการคัดเลือกผู้รับเหมาและกระบวนการตรวจสอบงานให้เป็นไปตามสัญญา เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีประสิทธิภาพ ห้ามการล็อกสเปค" นายกุลิศ กล่าว

    ส่วนแผนฟื้นฟูกิจการ นายกุลิศ กล่าวว่า ทางรัฐวิสาหกิจได้ทยอยส่งมาให้ สคร.พิจารณาแล้ว เช่น ธนาคารอิสลาม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การบินไทย จึงต้องดูแผนทั้งระบบ โดยในการประชุม คนร.วันที่ 14 ส.ค.นี้ จะหารือเรื่องแนวทางฟื้นฟูของรัฐวิสาหกิจบางแห่งด้วย


    Tags : ประสาร ไตรรัตน์วรกุล • เงินทุนสำรอง

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้