ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาในรอบ 1-2 ปี ผู้อ่าน Blognone คงได้เห็นการก่อตัวของกระแสในการผลิตอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกแบบใหม่จำนวนมาก (ดูตัวอย่างจากบรรดาอุปกรณ์ที่ระดมทุนผ่าน Kickstarter หรือผ่านโครงการ HAXLR8R ได้) ซึ่งการก่อตัวของกระแสดังกล่าว กำลังกลายมาเป็นวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่งซึ่งกำลังมีความสำคัญในฝั่งสหรัฐอเมริกา (สำคัญถึงขั้นว่าทำเนียบประธานาธิบดีจัดงานให้) ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีชื่อว่า Maker Movement บทความนี้จะกล่าวถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าวที่กำลังมีความสำคัญ โดยจะให้ภาพและความหมายในลักษณะรวม ซึ่งจะพิจารณาในฐานะของการเป็นความเคลื่อนไหวในเชิง “วัฒนธรรม” อะไรคือ “Maker movement”? ก่อนที่จะเข้าใจปรากฏการณ์ Maker movement ในฐานะวัฒนธรรม ภาพใหญ่ที่จะต้องเข้าใจก่อนคือวัฒนธรรมของสิ่งที่เรียกว่า “DIY” หรือ Do it yourself (อาจเรียกเล่นๆ ว่า เป็นแนวคิด “อยากได้ต้องทำเอง”) ซึ่งมนุษย์เองก็ประดิษฐ์ประดอย และพยายามคิดหาแนวทางในการสร้างสรรค์อุปกรณ์ต่างๆ มาตั้งแต่ในสมัยอดีต สำหรับนักวิชาการอย่าง Clive Edwards วัฒนธรรม DIY อย่างน้อยที่สุดก็เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในฐานะเครื่องมือของผู้หญิงชนชั้นกลางในการแสดงออกถึงตัวตน และความเชื่อในบาปของการ ‘ว่าง’ ความเชื่อนี้ถูกส่งต่อมาในฐานะกิจกรรมยามว่าง/งานอดิเรก (hobbies) ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เป็นการทำงานภายในพื้นที่บ้านด้วย [1] ส่วนนักวิชาการอย่าง Paul Atkinson มองว่ากระบวนการในการทำงานแบบ DIY แบ่งได้เป็นสองส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนแรกคือ “การสร้างสรรค์วัตถุ” กับอีกส่วนคือการ “บำรุงรักษาบ้าน” [2] ดังนั้นในแง่นี้กระบวนการในการ DIY จึงหมายถึงทั้งการสร้างสรรค์และการดูแลไปพร้อมกัน จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ กระนั้นก็ตาม ความหมายของคำว่า DIY ก็ยังไม่ปรากฏชัดเจน จนกระทั่งอย่างน้อยที่สุดในราวปีคริสตศักราช 1912 ที่คำดังกล่าวเริ่มปรากฏตัวตามนิตยสารของสหรัฐอเมริกา [3] การปรากฏตัวของคำว่า DIY ดังกล่าวถูกเชื่อมโยงกับการเป็นงานอดิเรกของผู้คนในสังคมชนชั้นกลาง (เพราะแน่นอนว่าคงไม่มีชนชั้นแรงงานที่มีเวลาว่างเพียงพอที่จะประดิษฐ์ประดอยสิ่งของห้อยโหน หรือไม่ก็นั่งอ่านหนังสืออย่างบทสนทนาของเพลโต) และแน่นอนว่าการเกิดขึ้นดังกล่าวก็เชื่อมโยงเข้ากับความชาญฉลาดของบรรดานักทุนนิยมทั้งหลาย (เช่น ผู้ผลิตสินค้า นักโฆษณา) ทำให้เกิดปรากฏการณ์ในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้น ในกลางทศวรรษที่ 1920 ก่อนที่จะแพร่ขยายเข้าไปในฝั่งอังกฤษ [4] ภาพโฆษณาในนิตยสาร Popular Mechanics เมื่อปี 1912 กระแสของ DIY กับสังคมอเมริกันจึงมีความใกล้ชิดพอสมควร สำหรับสังคมอเมริกันเองที่อิงอยู่บนฐานของการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย (liberal democracy) [5]การแสดงออกความเป็นตัวตนของตนเองเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นการยืนยันว่าฉันเป็นใคร ฉันเป็นอย่างไร ฉันเหมือนและแตกต่างจากผู้อื่นเช่นไร ตามความหมายของ identity ที่อิงรากศัพท์ภาษาละตินจากคำว่า identitas คือความเหมือน แต่ความเหมือนนั้นก็ต้องดำรงไว้ซึ่งความแตกต่างด้วยในเวลาเดียวกัน [6] ทว่าก็เหมือนดังเช่นความนิยมอื่นๆ กระแสเรื่องของ DIY นั้นก็ซบเซาลงไป อย่างน้อยที่สุดก็นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ที่ DIY ถูกมองว่าเป็นเรื่องของความบันเทิงมากกว่า [7] ทำให้คนอเมริกาขาดความตื่นตัวในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ การถูกลดทอนจากกิจกรรมที่ใช้ในยามว่างไปสู่กิจกรรมยามบันเทิงทำให้ความตื่นตัวของกระแส DIY นั้นตกลงไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงยุคปลายปี 1990 ต่อช่วงต้นของปี 2000 กระแสที่เริ่มก่อตัวขึ้นในแวดวงของผู้สนใจคือสิ่งที่เรียกว่า open-source hardware ซึ่งใช้แนวคิดแบบเดียวกับการเปิดซอร์สโปรแกรม (open-source programming) แบบที่ใช้ในโครงการอย่าง Linux เพียงแต่เป้าหมายอยู่ที่ฮาร์ดแวร์เป็นหลัก และจุดนี้เองเป็นจุดที่เริ่มก่อตัวชุมชนของผู้ที่สนใจและแบ่งปันการทำฮาร์ดแวร์ ความสนใจนี้ได้เริ่มผลักดันให้สื่อทางด้านไอทียักษ์ใหญ่ คือสำนักพิมพ์ O’Reilly เปิดตัวนิตยสาร MAKE ขึ้น โดยเป้าหมายในฐานะเป็นนิตยสารที่รวมการทำฮาร์ดแวร์ต่างๆ ขึ้นในปี 2005 และ Maker Faire งานจัดแสดงของสำหรับผู้อ่านที่สนใจในปี 2006 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นกระแสของ Maker movement นั่นเอง ภาพหน้าปกนิตยสาร MAKE สมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของ O’Reilly ทว่าเมื่อปี 2013 ทาง O’Reilly ตัดสินใจที่จะแยกส่วนของนิตยสาร MAKE ทั้งหมดออกไปเป็นบริษัทต่างหาก ในชื่อ Maker Media Inc. ซึ่งมี Dale Dougherty หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร MAKE ตั้งแต่แรกเป็นเจ้าของ โดยที่ O’Reilly จะมีส่วนร่วมในการถือหุ้นบางส่วน โดยเหตุผลของการแยกบริษัทอยู่ที่เรื่องของความคล่องตัวในการดำเนินงานเป็นหลัก ทำให้ในปัจจุบัน นิตยสาร MAKE และ Maker Faire ดำเนินการโดย Maker Media Inc. เป็นหลักนั่นเอง Joan Voight นักเขียนบทความของ ADWEEK นิตยสารสำหรับวงการโฆษณาของสหรัฐฯ ให้คำนิยามของคำว่า Maker movement ว่าเป็นกระแสทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการสร้างสิ่งของต่างๆ ของบรรดาช่างฝีมือ ผนวกเข้ากับแนวคิดของการจัดการแก้ไขสรรพสิ่งต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ ของคนที่สนใจด้านคอมพิวเตอร์ (computer hackers) รวมตัวกันเป็นชุมชนและมีการแลกเปลี่ยนความรู้กัน โดยทั้งหมดอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเช่น การพิมพ์ 3 มิติ หรือคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กอย่าง Raspberry Pi เป็นตัวประกอบช่วย [8] ดังนั้น อาจจะถือได้ว่า ปรากฏการณ์ Make movement เป็นสิ่งที่ต่อขยาย หรืออาจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมย่อย (sub-culture) ของวัฒนธรรม DIY นั่นก็เพราะว่าในตัวเนื้อหาของ Maker movement โดยแท้จริงคือการสร้างสรรค์สรรพสิ่งต่างๆ เพียงแต่กระบวนการแวดล้อมหรือสภาพบริบทนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนั่นเอง โครงสร้างของ Maker movement Maker movement มีโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยสี่ส่วนหลักๆ ที่สำคัญ ดังนี้ ‘Makers’ กลุ่มคนที่ ‘สร้าง’ สิ่งต่างๆ (ตามนิยามของ Voight ที่กล่าวไปก่อนหน้า) โดยคนกลุ่มนี้มักจะถูกเรียกจากสื่อ (ถ้าไม่เรียกตัวเอง) ว่าเป็น ‘makers’ หรือผู้สร้างสิ่งต่างๆ โดยรายงาน Innovating Pedagogy 2013 ของ Open University มหาวิทยาลัยศึกษาทางไกล (distance learning university) ของสหราชอาณาจักร ให้คำนิยามของ ‘makers’ ว่าเป็นกลุ่มคนที่สร้างของบางสิ่งขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่างในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีมิติด้านสุนทรียศาสตร์อยู่ด้วย [9] นิตยสาร MAKE เมื่อมีชุมชนหรือกลุ่มคนที่สนใจ ปัจจัยที่สองคือพื้นที่ในการแบ่งปันความรู้หรือข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดคือนิตยสารรายไตรมาส MAKE ของบริษัท Maker Media Inc. (ซึ่งเป็นเจ้าของงานต้นตำหรับที่เรียกว่า Maker Faire ด้วย) โดยนิตยสาร MAKE ถูกวางตัวเองในฐานะเป็นนิตยสารที่มีลักษณะเป็นกึ่งหนังสือ (ในโลกญี่ปุ่นเรียกว่า ‘mook’) [10] โดยการเลือกนำเอาเนื้อหาแบบหนังสือ (อย่างเช่นคู่มือการแก้ไขฮาร์ดแวร์) มานำเสนอในรูปแบบเดียวกับนิตยสารมากกว่าที่จะเป็นหนังสือคู่มืออย่างเดียว และแน่นอนว่าภายในเล่มก็มีการกล่าวถึงความเคลื่อนไหวในแวดวงของ Maker movement ในที่ต่างๆ ด้วยเช่นกัน 3.Make Faire งาน “โชว์ของ” Maker Faire เป็นพื้นที่จริงที่เปิดโอกาสให้เหล่า makers ทั้งหลายได้มาเจอกัน โดย Maker Faire เป็นชื่อทางการค้าของ Maker Media Inc. ซึ่งอนุญาตให้คนอื่นเข้ามาใช้ชื่อนี้ (ผ่านการกระบวนการร้องขออย่างเป็นทางการ) ทำให้เกิดงาน Maker Faire ขึ้นมากมายทั่วโลก 4.พื้นที่ในการทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน แม้ว่าอุปกรณ์อย่าง Raspberry Pi หรือ เครื่องพิมพ์สามมิติ จะมีราคาถูกลงกว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีราคาที่ถูกลงพอจนทำให้ทุกคนมีเป็นของตัวเองได้ และหลายครั้งที่เวลามีคนมาสอนหรือแบ่งปันประสบการณ์ พื้นที่ในการเรียนรู้และทำงานร่วมกันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง ตัวอย่างเช่น Hackerspaces เป้นต้น สี่ส่วนนี้ถือเป็นโครงสร้างที่สำคัญของ Maker movement ซึ่งหากเทียบปรากฎการณ์ที่คล้ายกันอย่างเช่นวงการ open-source ก็จะพบในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ในกรณีของ Linux ที่มีคนเขียนโปรแกรมในฐานะอาสาสมัคร มีชุมชนและแลกเปลี่ยนกันในลักษณะของ mailing-list (การส่งอีเมลโต้ตอบกับคนในกลุ่ม) มีการนัดเจอกันตามงานต่างๆ (อย่างเช่น Linux User Group) และมีนิตยสารในชุมชนของตนเอง (อย่างเช่น Linux Journal) หรือในบางครั้งก็มีการทำงานร่วมกัน อย่างเช่น แก้ไขข้อผิดพลาด (bug) ร่วมกัน ผ่านงานอย่าง Hackathon/Bugathon เป็นต้น ภาพ Hackerspace ที่เมือง Adelaide (ภาพจาก Hackerspace Adelaide) ความแตกต่างที่อาจจะแตกต่างกันอยู่ที่เป้าหมายของแต่ละอย่าง ซึ่งในแง่ของ Linux คือการสร้างตัวซอฟต์แวร์ที่มีการอิงฐานความเป็นชุมชนพอสมควร ขณะที่ Maker movement เป็นการสร้างอุปกรณ์ซึ่งเกิดขึ้นในลักษณะของแง่ปัจเจก มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของชุมชนที่มีพันธกิจบางอย่างร่วมกันนั่นเอง (เพราะ Make movement ไม่ได้มีผลผลิตจากการกระทำตัวเดียว แบบเดียวกับ Linux ที่มี Kernel อยู่หนึ่งชุด) ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแสของ Maker movement มีความแตกต่างจากกระแส DIY (ในฐานะรูปแบบต่อยอด หรือวัฒนธรรมย่อยของ DIY) อยู่ที่เรื่องของเทคโนโลยี อย่างเช่น อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ หรือการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กในรูปแบบใหม่ๆ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้น เพราะการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้รูปแบบของงาน DIY แบบเดิมเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป กล่าวคือ สามารถทำของต่างๆ ได้หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม (อาจจะกล่าวได้ว่า “กว้างขึ้น” มากกว่าเดิม) เนื่องจากเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้งานมีความซับซ้อนในมิติด้านการทำงานมากกว่า ย่อมแปลว่าการต่อยอดต่างๆ สามารถทำได้ง่ายกว่างาน DIY แบบเดิม ที่เป็นการเอาวัสดุต่างๆ มาสร้างเป็นเพียงของใช้ธรรมดานั่นเอง อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้กระแสของ Maker movement เติบโตได้ คือการระดมทุนจากมวลชน (crowdfunding) ซึ่งกลายมาเป็นช่องทางสำหรับผู้คนที่ต้องการสร้างสินค้าใหม่ๆ สามารถแสวงหาเงินทุนที่จะใช้พัฒนาสินค้า และประชาสัมพันธ์-สร้างช่องทางการขายและจัดจำหน่ายไปพร้อมกัน ผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงของ Maker movement โดยรวม สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับ Maker movement คือเรื่องของการเห็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก ที่แต่เดิมอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะการเข้าถึงวัสดุหรือกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนและยุ่งยาก ก็กลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น Makey Makey แผงวงจรที่สามารถทำให้ของต่างๆ กลายเป็นอุปกรณ์ในการป้อนข้อมูลให้กับคอมพิวเตอร์ได้ (ลองดูตัวอย่างจากวิดีโอด้านล่าง) การเกิดขึ้นของอุปกรณ์ที่แปลกใหม่เหล่านี้ สร้างผู้ประกอบการรายใหม่จำนวนมาก อีกทั้งยังทำให้เทคโนโลยีบางอย่างที่ยังมีราคาแพง อย่างเช่นเครื่อง Sous-vide (เครื่องประกอบอาหารที่ต้มในน้ำควบคุมอุณหภูมิ โดยใช้บรรจุภัณฑ์แบบสูญญากาศ มักจะใช้กันในอุตสาหกรรมประกอบอาหาร หรือร้านอาหารที่มีกระบวนการทำอาหารที่ซับซ้อน) มีราคาที่ถูกลงกว่าเดิม และใช้งานได้สะดวกกว่าเดิมด้วย ตัวอย่างคือเครื่อง Anova Precision Cooker ที่เพิ่มคุณสมบัติการควบคุมเครื่อง Sous-vide ผ่านสมาร์ทโฟนเข้าไปด้วย Maker movement เกิดขึ้นมาตั้งแต่กลางยุคทศวรรษที่ 2000 แต่ก็เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าพิจารณาจากสถิติแล้ว ตัวเลขของผู้เข้าร่วมงานเติบโตขึ้นมาก และจำนวนงานทั้งระดับหลัก (Make Media จัดเอง) และงานระดับรอง (ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นจัด) มีจำนวนมากขึ้น โดยปีแรกมีผู้เข้าร่วมงาน 22,000 คน ส่วนข้อมูลของปี 2012 อยู่ที่ 333,000 คน (อ้างอิง) การเติบโตของกระแส Maker movement อย่างต่อเนื่องนำไปสู่การยอมรับจากภาครัฐ ถึงขนาดว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา จัดงาน Maker Faire ที่ทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อเดือนที่ผ่านมา คุณค่าสำคัญของ Maker movement คือการก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งให้ในสิ่งที่ห้องเรียนทำไม่ได้ เพราะเป็นการเรียนรู้จากการทำงานจริงและต่อเนื่อง อีกทั้งคนที่เริ่มทำของเหล่านี้ก็จะต้องมีความรู้อยู่พอสมควรด้วย ในรายงาน Innovating Pedagogy 2013 ของ Open University ระบุอย่างชัดเจนว่า Maker movement เป็น “กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและมีส่วนร่วม” (social learning and participation) [11] โดยถูกมองว่าจะมีผลกระทบกับการเรียนในแบบเดิมพอสมควร ในมิติด้านเศรษฐกิจ Maker movement มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภค (consumerism) เป็นหลัก โดยคอลัมนิสต์ของนิตยสาร TIME อย่าง Tim Bajarin มองว่าการเกิดขึ้นของ Maker movement เป็นการผลักดันสังคมอเมริกาไปสู่การคิดค้น (innovate) นั่นเอง สิ่งที่ตามมาคือการเกิดผู้ประกอบการและธุรกิจรายใหม่จำนวนมากด้วย [12] เป้าหมายนี้ถูกตอกย้ำในปรัชญาของการจัดงาน Maker Faire ที่ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐ ภาพป้ายงาน Maker Faire ในทำเนียบขาว (ภาพจากทำเนียบขาว) ในคำกล่าวเปิดงาน Maker Faire ที่ทำเนียบขาว ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า การพัฒนาที่เกิดจาก Maker movement นี้ มีความหมายที่ไม่ได้หมายถึงการเจริญก้าวหน้าสำหรับมนุษยชาติเท่านั้น แต่หมายถึงความเจริญก้าวหน้าของชาติอเมริกันด้วยเช่นกัน [13] เหตุผลสำคัญคงอยู่ที่ Maker Movement ช่วยปลุกพลังในภาคการผลิต เพราะปัจจุบัน พลังของการผลิตของโลกอยู่ที่ประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ การเกิดขึ้นของกระแส Maker movement จึงเป็นการส่งเสริมความพยายาม ‘ดึง’ พลังการผลิตกลับมาสู่อเมริกาด้วย อย่างไรก็ตาม Tim Bajarin วิจารณ์ว่าความสนใจใน Maker movement ยังมีวงที่ค่อนข้างจำกัด (จากการเข้าร่วมงาน Maker Faire ของเขาเอง เขาพบว่าคนอเมริกันจริงๆ ยังไม่สนใจมาก) และต้องการการกระตุ้นที่มากกว่านี้ เพื่อที่จะทำให้วัฒนธรรมนี้ มีความสำคัญมากขึ้นในสังคมอเมริกันกระแสหลัก [14] สำหรับเมืองไทย ก็เริ่มมีกลุ่มก้อนที่สนใจเรื่อง Maker movement มากขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการเกิดขึ้นของพื้นที่ทำงานร่วมกัน (co-working space) อย่าง Maker Zoo และ Bangkok MakerSpace ซึ่งในอนาคตน่าจะมีจำนวนมากยิ่งขึ้น หากกระแส Maker movement เกิดขึ้นในไทยได้แบบเดียวกับในสหรัฐอเมริกา อ้างอิง [1] Edwards, Clive. 2006. "Home is Where the Art Is: Women, Handicrafts and Home Improvements 1750-1900." Journal of Design History 19(1): 11-21. ใน Helen Powell, "Time, Television, and The Decline of DIY," Home Cultures 6, no. 1 (March 2009): 91. [2] Atkinson, Paul. 2006. "Do It Yourself: Democracy and Design." Journal of Design History 19(1): 1-10. ใน Helen Powell, ibid. [3] Goldstein, Carolyn. M. 1998. Do It Yourself: Home Improvement in 20th Century America. New York: Princeton Architectural Press. ใน Helen Powell, ibid. [4] Helen Powell, ibid. [5] Ryal-Paul Frost, Jeffrey Sikkenga, eds. 2003. History of American Political Thought. Oxford: Lexington Books, หน้า 33. [6] ภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร, “จากน้ำไวน์สู่จุกคอร์ก: การเปลี่ยนแปลง อัตลักษณ์ และสื่อมวลชน กับการบริโภควัฒนธรรม,” Transform Thailand, เข้าถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2557, http://transform.in.th/2011/03/wine-and-identity/. [7] Helen Powell, ibid: 93-94. [8] Joan Voight, "Which Big Brands Are Courting the Maker Movement, and Why From Levi's to Home Depot," Adweek, เข้าถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2557, http://www.adweek.com/news/advertising-branding/which-big-brands-are-courting-maker-movement-and-why-156315?page=1. [9] Matt Woodward, "Make magazine: premier issue," Ars Technica, เข้าถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2557, http://arstechnica.com/features/2005/03/make-magazine/. [10] Mike Sharples, Patrick McAndrew, Martin Weller, et al., Innovating Pedagogy 2013. Buckinghamshire: Open University. [11] Mike Sharples, Patrick McAndrew, Martin Weller, et al., ibid. [12] Tim Bajarin, “Why the Maker Movement Is Important to America’s Future,” Time, เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2557, http://time.com/104210/maker-faire-maker-movement/. [13] Barack Obama, “National Day of Making, 2014,” The White House, 17 June 2014, เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557, http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/06/17/presidential-proclamation-national-day-making-2014. [14] Tim Bajarin, ibid. อ้างอิงเพิ่มเติม บทความจาก MIT Technology Review บทความจาก Raising Geeks บทความอธิบายสาเหตุการแยกตัวของนิตยสาร Make โดย Tim O’Reilly บล็อกโพสต์ของ Kickstarter บทความจาก Huffington Post Special Report, Culture, Maker Movement