ตลาดรถครึ่งปีแรกร่วง40% ฉุดภาษีต่ำเป้า3หมื่นล้าน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ยานยนต์' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 2 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สรรพสามิตเผยจัดเก็บภาษีรถยนต์10เดือนปีงบประมาณ57 พลาดเป้า3หมื่นล้าน หลังยอดขายครึ่งปีแรกติดลบ40%

    ฉุดภาพรวมจัดเก็บกรมฯ ร่วง เหตุเป็นแหล่งรายได้หลัก หวั่นลดภาษีดีเซล-จีดีพีหดตัว เป็นปัจจัยลบซ้ำเติม มั่นใจปี 58 เศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นฟื้น ดันรายได้เข้าเป้า 4.2 แสนล้าน

    สรรพสามิตเผยจัดเก็บภาษีรถยนต์ 10 เดือน พลาดเป้า 3 หมื่นล้าน ฉุดรายได้รวมกรมฯ ร่วง เหตุเป็นแหล่งรายได้หลัก สัดส่วน 25% ของการจัดเก็บทั้งหมด หวั่นลดภาษีดีเซล จีดีพีหดตัวเป็นปัจจัยลบซ้ำเติม มั่นใจปี 58 เศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นฟื้น คงเป้าภาษี 4.2 แสนล้าน ขยายตัว 6%

    นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่าการจัดเก็บรายได้จากภาษีสรรพสามิตในสินค้ารถยนต์ ระยะ 10 เดือน ของปีงบประมาณ 2557 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.11 แสนล้านบาท โดยสามารถจัดเก็บได้ 8 หมื่นล้านบาท หรือจัดเก็บได้น้อยกว่าเป้า 3 หมื่นล้านบาท โดยสาเหตุหลักเกิดจากสถานการณ์การเมืองในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ทำให้ความมั่นใจในการซื้อสินค้าต่างๆ รวมถึงรถยนต์ชะลอตัว ประกอบกับ นโยบายโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้กำลังซื้อส่วนหนึ่งหายไปจากการถูกดึงไปใช้ล่วงหน้า

    ส่วนช่วงเวลาที่เหลืออีก 2 เดือน เห็นว่ายังไม่มีทิศทางที่ขึ้นแต่อย่างใด จึงคาดว่าจะไม่สามารถจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้ตามเป้าหมายปีงบประมาณนี้ที่ตั้งไว้ 1.38 แสนล้านบาท

    อย่างไรก็ตามจากการได้พูดคุยกับผู้ประกอบการรถยนต์ พบว่าส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่านับตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป สถานการณ์การผลิตและจำหน่ายจะเริ่มดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความมั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง และผู้ประกอบการมีแนวโน้มจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคก็นิยมซื้อรถยนต์ในช่วงต้นปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาดได้อีกทางหนึ่ง

    “ในช่วงที่ผ่านมา ทางผู้ประกอบการเตรียมที่จะทำการตลาดเพื่อส่งเสริมยอดขาย แต่ต้องชะลอออกไป ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากกรณีที่กรมสรรพากรมีนโยบายที่จะเข้าตรวจสอบภาษีผู้ที่ครอบครองรถยนต์ราคาแพง ทำให้ผู้ซื้อมีความกังวล ผู้นำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศก็ชะลอการนำเข้า”

    ภาษีรถยนต์ 25%รายได้รวม

    สำหรับการจัดเก็บรายได้จากสินค้ารถยนต์นั้น ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีสัดส่วนสูง ประมาณ 25% ของรายได้กรมสรรพสามิตทั้งหมด ดังนั้นเมื่อรายได้ส่วนนี้หายไปถึง 3 หมื่นล้านบาท ก็จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ อย่างแน่นอน

    ทั้งนี้ตลาดรถยนต์ไทย เริ่มมีทิศทางที่ถดถอยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2556 หลังจากการส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถคันแรก ซึ่งมียอดจองตลอดโครงการประมาณ 1.2 ล้านคัน ทำได้เกือบ 100% ส่งผลให้ยอดส่งมอบรายเดือนหลังจากนั้นลดลงอย่างชัดเจน และยังส่งผลให้ตลาดเกิดภาวะช็อก เนื่องจากกำลังซื้อถูกดึงไปใช้ล่วงหน้า ส่งผลให้ยอดขายรถในกลุ่มที่เข้าร่วมในโครงการคือรถปิกอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1.5 ลิตร ลดลงอย่างชัดเจน อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

    สำหรับภาพรวมตลาดรถยนต์ปีนี้ พบว่าช่วงครึ่งปีแรกหดตัว 40% โดยทำได้ 4.4 แสนคัน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วมียอดขาย 7.4 แสนคัน ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัดสินใจปรับลดประมาณการผลิตรถยนต์ปีนี้ลง 2 แสนคัน จาก 2.4 ล้านคัน เหลือ 2.2 ล้านคัน โดยเป็นการปรับลดในส่วนของการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จาก 1.2 ล้านคัน เหลือ 1 ล้านคัน ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกยังคงเป้าหมายเดิม 1.2 ล้านคัน

    อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการรถยนต์แสดงความคิดเห็นว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น หลังจากสถานการณ์การเมืองสงบ และภาครัฐมีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น และยอดขายล่าสุดเดือน มิ.ย.ซึ่งทำได้ 7.37 แสนคัน ทำได้มากกว่าเดือนก่อนหน้า ทั้งที่ มิ.ย.ไม่ใช่ฤดูกาลขาย เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน

    ล่าสุด บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ผู้นำตลาดรถยนต์ ประเมินว่า สถานการณ์ช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น โดยมีอัตราถดถอย 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งดีกว่าครึ่งปีแรกที่ลดลงไป 40% ดังนั้นจะทำให้ภาพรวมทั้งปี 2557 ยอดขายรถยนต์ลดลง 30% อยู่ที่ 9.2 แสนคัน ก่อนที่ปี 2558 จะกลับขึ้นมาอยู่ในระดับ 1 ล้านคันอีกครั้ง

    ลดดีเซล-จีดีพีลด ฉุดรายได้

    นายสมชายกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่พลาดเป้า นอกจากปัจจัยหลักคือ ตลาดรถยนต์ที่ถดถอยแล้ว ยังจะได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับลดภาษีน้ำมันดีเซล อีกทั้งการประมาณการรายได้เดิมของกรมฯนั้น อยู่ภายใต้สมมติฐานจีดีพีขยายตัวในระดับกว่า 4% แต่ขณะนี้ จีดีพีทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 2% ทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลงตามไปด้วย

    ขณะที่การจัดเก็บภาษีสินค้าประเภทอื่นสามารถทำได้สูงกว่าเป้าหมาย แต่ไม่อยู่ในระดับที่สูงนัก เพราะที่ผ่านมาหลายๆกลุ่มธุรกิจยังได้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาการเมือง และสินค้าบางกลุ่มที่คาดว่าจัดเก็บได้ดี ก็ไม่เป็นไปตามคาดการณ์เช่นเครื่องดื่มต่างๆ

    “ช่วงที่คสช.เข้ามาบริหารประเทศ แน่นอนว่า ทำให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคกลับมา แต่หากมองในภาพย่อย หรือ ในระดับท้องถิ่น เราจะพบว่าการเมืองที่นิ่ง ทำให้การจัดจ่ายใช้สอยจากฝั่งการเมืองที่จะลงไปในพื้นที่ต่างๆ ก็ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าเครื่องดื่มต่างๆ ตรงนี้ ก็กระทบกับการจัดเก็บรายได้ของกรมฯด้วยเช่นกัน”

    ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสศค.ได้ปรับลดประมาณการจัดเก็บรายได้ของกรมฯในปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ 3.97 แสนล้านบาท จากเดิม 4.6 แสนล้านบาท โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา สามารถจัดเก็บได้ 2.97 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 14.5% อย่างไรก็ตามกรมฯมั่นใจว่าทั้งปีงบประมาณ จะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย

    สำหรับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2558 กรมฯได้รับมอบหมายการจัดเก็บที่ 4.2 แสนล้านบาท ขยายตัวประมาณ 6% จากเป้าหมายรายได้ในปีงบ 2557 ทั้งนี้ เป้าหมายดังกล่าว ไม่ได้นับรวมการปรับขึ้นภาษีน้ำมันดีเซล

    “กรมฯเชื่อว่า เราจะสามารถจัดเก็บรายได้ในปีงบ 2558 ได้ตามเป้าหมาย เพราะยอดขายรถยนต์ก็น่าจะดีขึ้น และเราก็จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี รวมถึง การผลิตสินค้าปลอมในประเทศ” นายสมชายกล่าว

    Tags : สมชาย พูลสวัสดิ์ • อธิบดีกรมสรรพสามิต • ตลาดรถ • ติดลบ • ภาษีรถ • สศค.

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้