แบงก์ชาติชี้'ส่งออก'ส่อต่ำ3%

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 1 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ธปท." เผยแนวโน้มส่งออกอาจต่ำกว่าประมาณการที่3% หวั่นกระทบเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ลุ้นความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฟื้

    ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเศรษฐกิจไทยเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา วานนี้ (31 ก.ค.) โดยตัวเลขเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกที่เริ่มกลับมาขยายตัวที่ 3.8%

    แต่นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ภาพรวมของการส่งออกช่วงที่ผ่านมา กลับต่ำกว่าที่ ธปท. เคยประเมินไว้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขเฉลี่ยของการส่งออกทั้งปีนี้ อาจเติบโตต่ำกว่าที่ ธปท. ได้ประเมินเอาไว้ที่ 3%

    สาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกโดยรวมเติบโตได้น้อยกว่าที่ประเมินไว้ คือ ราคาสินค้าเกษตรที่แนวโน้มปรับลดลงจากปีก่อน และสินค้าบางตัวส่งออกได้ต่ำกว่าที่คาด ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีโรงกลั่นน้ำมันบางโรงปิดซ่อมบำรุงนานกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ จึงมีผลต่อตัวเลขการส่งออกด้วย

    การส่งออกที่ต่ำกว่าคาด คงไม่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากนัก เช่น กรณีของสินค้าเกษตรแม้ราคาตลาดโลกจะปรับลดลง แต่ถ้าดูจากปริมาณการส่งออกไม่ได้ลดตาม จึงไม่มีผลกระทบต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ส่วนการปิดโรงกลั่นนั้น โดยปกติน้ำมันเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าเพื่อส่งออก (Import Content) เกือบ 100% ผลกระทบต่อจีดีพีจึงแทบไม่มี

    สำหรับการส่งออกเดือนมิ.ย.ที่เติบโต 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกปิโตรเคมี เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและปิโตรเลียมที่ขยายตัวสูงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน อย่างไรกตามการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และแผงวงจรรวมยังฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากอุปสงค์จากเอเชียยังอ่อนแอ

    ส่วนการนำเข้าในเดือนมิ.ย. พบว่ามีอัตราการหดตัว 14.1% โดยเป็นผลจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ รวมทั้งการส่งออกที่ฟื้นตัวช้าในช่วงก่อนหน้า ทำให้ระดับสินค้าคงคลังในภาคอุตสาหกรรมอยู่ระดับสูง ธุรกิจจึงลดการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลง รวมทั้งลดระดับการผลิตลงตามไปด้วย

    "ตัวเลขการนำเข้าที่ลดลง โดยเฉพาะวัตถุดิบและสินค้าทุน สะท้อนได้ว่า ความเสี่ยงตัวเลขบางตัวในอนาคตอาจไม่สามารถขยายตัวเท่ากับที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจช้ากว่าที่เราคาดได้" นายดอนกล่าว

    ส่วนภาคการผลิตที่ยังคงหดตัว โดยดูจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมซึ่งหดตัวลง 6.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 2.6% จากเดือนก่อนหน้า ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้ เดิมที ธปท. คาดตัวเลขการผลิตเดือนมิ.ย.จะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. แต่ตัวเลขจริงที่ออกมากลับยังติดลบอยู่

    "ตัวเลขที่ลดลงเป็นผลจากการผลิตเพื่อการส่งออกที่ยังไม่ดีนัก จึงมีคำถามว่าส่งออกเริ่มดี แต่ทำไมการผลิตเพื่อการส่งออกยังไม่ดี ที่เราสำรวจพบเป็นเพราะผู้ประกอบการเริ่มลดจำนวนสินค้าคงคลังลง โดยระดับสินค้าคงคลังที่ผู้ประกอบการเริ่มลดจำนวนลง เราเห็นสัญญาณนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2556 แล้ว ซึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการเริ่มไม่มั่นใจในแนวโน้มเศรษฐกิจ" นายดอนกล่าว

    ส่วนนี้ ธปท. คาดว่า หลังจากที่แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เริ่มหันมาเพิ่มจำนวนสินค้าคงคลัง จะทำให้ภาคการผลิตฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว

    นายดอน กล่าวว่า จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความชัดเจนขึ้น ช่วยเรียกความเชื่อมั่นของภาคเอกชนให้กลับคืนมา ส่งผลให้การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การใช้จ่ายในสินค้าคงทนยังทรงตัว เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังหดตัว 1.1% ตามการใช้จ่ายในสินค้าคงทนที่มีผลของฐานสูงในก่อน

    สำหรับการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 2.7% โดยธุรกิจยังชะลอการลงทุนใหม่ เพื่อรอความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและแนวนโยบายภาครัฐ การลงทุนส่วนใหญ่จึงเป็นแค่การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างยังหดตัวตามอุปสงค์ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว

    ส่วนภาคการท่องเที่ยว ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางการเมือง เพราะหลายประเทศยังคงระดับคำแนะนำการเดินทางมาไทย โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดือนนี้มี 1.6 ล้านคน หดตัว 24.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย

    นายดอน กล่าวด้วยว่า ส่วนภาครัฐใช้จ่ายลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังเร่งเบิกจ่ายเงินโอนให้กองทุนหมู่บ้านไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับการใช้จ่ายงบลงทุนทำได้บางส่วน สำหรับรายได้นำส่งลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการจัดเก็บจากภาษีฐานรายได้ ฐานการบริโภค และฐานการค้าระหว่างประเทศ สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า รายได้ที่มากกว่ารายจ่ายทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสด 1.26 แสนล้านบาท

    สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม แต่โดยรวมอัตราการว่างงานยังอยู่ระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาพลังงานและอาหารสด ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามดุลการค้า จากการส่งออกที่ขยายตัว และการนำเข้าที่หดตัว ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการออกไปลงทุนโดยตรงและลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย รวมถึงการให้สินเชื่อการค้าของผู้ส่งออก การลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศกลับมาเป็นการไหลเข้าสุทธิ โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล

    ส่วนภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปีนี้ มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากสถานการณ์การเมืองและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้น ช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของครัวเรือนและธุรกิจให้กลับคืนมา ส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ดังนั้นโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิคจึงแทบไม่มีเลย

    ส่วนการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามอุปสงค์ของประเทศอุตสาหกรรมหลัก สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกที่ขยายตัวได้ แต่การส่งออกในภาพรวมฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า จากอุปสงค์ของภูมิภาคเอเชียที่ยังอ่อนแอ ขณะที่การท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง

    สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ การว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แต่ของเดือนมิ.ย.เริ่มขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.1% อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูปและราคาพลังงาน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามการนำเข้าสินค้าที่หดตัวเป็นสำคัญ ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลตามการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนไทย โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล

    ส่วนนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจม.หอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้วเศรษฐกิจปีนี้ คาดจีดีพีขยายตัวได้ 2.2% ปรับตัวลดลงจากเดิมที่คาดจะขยายตัวได้ 2.5% โดยตัวชี้วัดเศรษฐกิจด้านต่างๆ มีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก เช่น การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 1.2% การลงทุนปรับตัวลดลง 0.4% เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดจะปรับลดลงถึง 1.1% จีดีพีภาคเกษตรขยายตัวได้ 2.1% และดัชนีภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวได้ 1.9%

    การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง เพราะครึ่งแรกปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 0.4% เนื่องจากปัญหาการเมือง ที่กระทบการลงทุน ความเชื่อมั่นการบริโภค และการส่งออกที่ปรับลดลง รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน และการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

    เมื่อคสช. เข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลา 2 เดือนเศษ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะได้รับปัจจัยหนุนหลายด้าน เช่น การเมืองชัดเจนขึ้น เศรษฐกิจโลมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และเศรษฐกิจในเอเชียและอาเซียนที่ขยายตัวสูง การเร่งรัดเบิกจ่ายงบ และการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น หลังจากมีการตั้งรัฐบาลใหม่ในเดือนก.ย.นี้ คาดเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ดีมากขึ้น โดยไตรมาส 3 จะขยายตัว 3.5% ส่วนไตรมาส 4 จะขยายตัวถึง 5.6% จากแนวโน้มการบริโภคที่ดีขึ้น และการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐลงสู่ระบบเศรษฐกิจ

    ขณะที่ส่งออกปีนี้ จะขยายตัวได้เพียง 1.8% ต่ำกว่าประมาณการที่กระทรวงพาณิชย์คาดจะขยายตัว 3.5% เพราะส่งออกของไทยติดลบต่อเนื่อง 5 เดือน และพึ่งจะฟื้นตัวในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบกับเศรษฐกิจโลกพึ่งฟื้นตัว ทำให้มูลค่ารวมการส่งออกปีนี้อยู่ที่ 2.3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่ามูลค่าที่คาดการณ์ 1-1.5 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนการท่องเที่ยวตลอดปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 24.9 ล้านคน โดยรายได้จากการท่องเที่ยวลดลง 5.9% จากปี 2556 ซึ่งรายได้การท่องเที่ยวปีนี้อยู่ที่ 1.17 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2556 ประมาณ 2.8% หรือลดลงจากปีก่อน 5-7 หมื่นล้านบาท

    ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2558 จะขยายตัวได้ 5% และมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ในระดับนี้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 ปี เป็นผลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของรัฐบาลระยะเวลา 8 ปี เฉลี่ยการลงทุนปีละ 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยจีดีพีขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1-1.5%

    ขณะที่การส่งออกปี 2558 จะปรับตัวดีขึ้น คาดการส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 6.2% เพราะเศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัวชัดเจนโดยปี 2558 เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ถึง 5.3% ขณะที่อาเซียนขยายตัวในระดับ 5-5.4% ส่วนจีนคงประมาณการเศรษฐกิจโต 7% ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกไปยังคู่ค้าในสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป นอกจากนั้นการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และจีนจะคึกคักเพิ่มขึ้น จากการเปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของ คสช.

    "การบริหารเศรษฐกิจครึ่งหลังปีนี้ จนถึงปีหน้า รัฐบาลมีประเด็นที่ต้องบริหารจัดการ คือ เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจ หากล่าช้าไม่เป็นตามแผนจะกดดันจีดีพีโตต่ำกว่า 2% ได้ ส่วนส่งออกต้องจับตาดูเงินบาท ต้องไม่ให้แข็งค่าจนมากเกินไป เพราะจะกระทบเอกชน โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสม และมีเสถียรภาพควรเคลื่อนไหวอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ จึงต้องเฝ้าระวังการผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่อาจได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย"

    ดังนั้นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกลางปี 2558 หลังจากยกคิวอีแล้ว ขณะที่ไทยปีหน้า อาจมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25-0.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2%

    Tags : ธนาคารแห่งประเทศไทย • ธปท. • เศรษฐกิจ • นายดอน นาครทรรพ • สำนักเศรษฐกิจมหภาค • สินค้าเกษตร

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้