ช.การช่างขายหุ้นบีเอ็มซีแอล 2.9% จำนวน 1.2 พันล้านหุ้น ขายให้บริษัทในเครือ-นิติบุคคลอื่น หวังเพิ่มสภาพคล่อง บริษัท ช.การช่าง (CK) รายงานตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการมีมติอนุมัติขายหุ้น บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ให้แก่นิติบุคคลที่ไม่มีความเกี่ยวโยงกับบริษัทฯ จำนวน 785 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 1.65 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 1,295.25 ล้านบาท และขายหุ้นบีเอ็มซีแอลให้กับบริษัทที่ดินบางปะอิน จำนวน 240 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.65 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 396 ล้านบาท สำหรับการเสนอขายหุ้น บีเอ็มซีแอลให้ บริษัท ที่ดินบางปะอิน จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ถือหุ้นนั้น ซึ่งช.การช่างจะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และบริษัทสามารถนำไปใช้ในการชำระคืนหนี้และรองรับการลงทุนในอนาคต นายอนุกูล ตันติมาสน์ กรรมการ บริษัทช.การช่าง กล่าวว่าการที่ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นบีเอ็มซีแอล เพราะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และเป็นจังหวะที่ดีในการขายหุ้น หลังจากที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายในปีนี้จะมีการขายหุ้นบีเอ็มซีแอลเพิ่มเติม "การขายหุ้นบริษัทบีเอ็มซีแอลถือเป็นเรื่องปกติ และบริษัทจะนำเงินที่ได้มาใช้เป็นทุนหมุนเวียนของบริษัท ช.การช่าง รวมทั้งถือเป็นการเพิ่มสภาพคล่องด้วย"กรรมการกล่าว สำหรับการเคลื่อนไหวราคาหุ้นบีอีซีแอล ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 67% ล่าสุดปิดตลาดที่ราคา***บาท บริษัททริสเรทติ้ง ระบุว่า บริษัทได้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาทของ บริษัท ช. การช่าง ที่ระดับ "BBB+" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ "BBB+" โดยแนวโน้มยังคงมุมมองเชิงบวก ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระคืนหนี้ และใช้ในการขยายกิจการ ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในโครงการก่อสร้างพื้นฐานและโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งความยืดหยุ่นทางการเงินจากมูลค่าเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากความผันผวนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลอดจนความเสี่ยงของสัญญาที่มีลักษณะต่อหน่วยแบบคงที่ และภาระหนี้ที่สูงของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเป็นบวก สะท้อนถึงสัดส่วนภาระหนี้และความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจซึ่งทำให้บริษัทสามารถรับรู้มูลค่าตลาดของหุ้นของบริษัททีทีดับบลิว (TTW) และช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่หุ้นของบริษัทซีเค พาวเวอร์ (CKP) อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้น หากบริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับสูงกว่า 5% และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ไม่รวมเงินกู้เพื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4) ในระดับต่ำกว่า 67% หรือเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 2 เท่าต่อไปได้ บริษัท ช. การช่างก่อตั้งในปี 2515 โดยตระกูลตรีวิศวเวทย์ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ 3 รายในตลาดหลักทรัพย์ของไทย และมีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างตั้งแต่งานโยธาโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงโครงการที่มีความซับซ้อนสูง บริษัทมีเงินลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ บริษัท ทีทีดับบลิว และ บริษัท ซีเคพาวเวอร์ (CKP) นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีก 1 ราย คือ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) สิ้นเดือนมี.ค.2557 บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบมูลค่า 1.04 แสนล้านบาท โดยมีโครงการหลักได้แก่ โครงการเขื่อนไซยะบุรีซึ่งมีมูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4 มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท โครงการทางพิเศษศรีรัชวงแหวนรอบนอก มูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสัญญาที่ 1 มูลค่า 8 พันล้านบาท ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 43% ของมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมด ช่วง 12 เดือนย้อนหลังจากเดือนมี.ค.2557 สถานะทางการเงินของบริษัทยังคงสอดคล้องตามประมาณการของทริสเรทติ้ง โดยภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 3.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2557-2559 โดยจะเป็นรายได้จากโครงการเขื่อนไซยะบุรีประมาณ 8 พันล้านถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ งานรับเหมาก่อสร้างในมือจำนวนมากที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของประมาณการรายได้ อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 5% โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2557-2559 ทริสเรทติ้งมองว่าภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันแม้ว่าบริษัทจะมีภาระหนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้รับเหมาที่ได้รับอันดับเครดิตเท่ากัน เนื่องจากโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทเป็นทั้งผู้รับเหมาและประกอบธุรกิจลงทุน โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 70% ในกรณีที่ไม่รวมเงินกู้เพื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะอยู่ที่ 67% ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ไม่รวมเงินกู้เพื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4) ของบริษัทในช่วงปี 2557-2559 จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันที่ประมาณ 67% Tags : ช.การช่าง • ขายหุ้น • บีเอ็มซีแอล • สภาพคล่อง