สศค.หั่น'จีดีพี'เหลือ2%ห่วงเศรษฐกิจคู่ค้าโตต่ำคาด

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 31 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้เหลือ 2%

    โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.5-2.5% จากที่คาดการณ์เดิมเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า จะสามารถขยายตัวได้จำนวน 2.6% โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีช่วงครึ่งหลังของปี จะสามารถขยายตัวได้ 4.3% หลังจากที่ครึ่งแรกของปีขยายตัวที่ -0.4%

    สาเหตุสำคัญที่มีผลต่อการปรับลดประมาณการจีดีพีลง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสศค. ระบุว่า มีผลจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทำให้จีดีพีในไตรมาสแรกหดตัวมากกว่าคาดที่ -0.6% และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ได้ส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในครึ่งปีแรก

    อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่า ทิศทางที่ชัดเจนขึ้นของสถานการณ์การเมือง จะส่งสัญญาณที่ดีต่อระดับความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนตามนโยบายเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ และการดำเนินมาตรการที่ให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

    ทั้งนี้ ความชัดเจนในเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ รวมทั้งการเร่งรัดการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐ ที่แต่เดิมมีแนวโน้มล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด รวมถึงการเร่งจัดทำงบประมาณปี 2558 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ที่ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

    คาดส่งออกปี2557โต1.5%

    สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปี คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.5%โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.5% ถึง 2.5%

    แม้มูลค่าการส่งออกสินค้าในครึ่งปีแรก จะลดลงต่ำกว่าที่คาด แต่ในครึ่งปีหลัง คาดว่า จะขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การส่งออกภาคบริการ ในส่วนของการท่องเที่ยวคาดจะขยายตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว แม้จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก

    ด้านการนำเข้านั้น คาดว่า จะหดตัวที่ -5.2% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -6.2% ถึง -4.2% แม้จะมีการเร่งตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามการเร่งขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้จ่ายภาครัฐ

    เงินเฟ้อขยับขึ้นเล็กน้อย

    สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยนั้น ในส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะปรับสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.4% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.9% - 2.9% ตามแนวโน้มการทยอยปรับเพิ่มขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ประสบปัญหาภัยแล้งและสินค้าที่ขาดแคลนวัตถุดิบโดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป และบริการต่างๆ ได้เริ่มทยอยปรับขึ้นราคา เช่น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินที่ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป

    อย่างไรก็ดี นโยบายการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) และน้ำมันดีเซลตลอดจนมาตรการตรึงราคาสินค้าจะช่วยชะลออัตราเร่งของเงินเฟ้อ ขณะที่ เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่า ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจาก มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในอัตราเร่งกว่าการนำเข้าสินค้า ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 13.4 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 3.3% ของจีดีพี

    “เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ แม้ว่าจะยังมีสัญญาณชะลอตัวในด้านการท่องเที่ยวต่างชาติและการใช้จ่ายภาคเอกชน แต่เริ่มมีสัญญาณบวกจากความเชื่อมั่นทั้งทางด้านผู้บริโภคและธุรกิจที่ปรับดีขึ้น ซึ่งสะท้อนทิศทางการใช้จ่ายและการผลิตที่คาดว่าจะเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ประกอบกับการส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง นอกจากนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์มั่นคง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังต่อไป”เขากล่าว

    ราคาน้ำมันดิบเพิ่ม-จีดีพีคู่ค้าลด

    น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.กล่าวถึง 7 สมมติฐานหลักที่ใช้ในการประมาณการจีดีพีปีนี้ว่า สศค.ได้ปรับสมมติฐานหลักจากที่เคยประมาณการในเดือน มี.ค. ในหลายสมมติฐาน โดย 1.สมมติฐานด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า 14 ประเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อการส่งออก โดย สศค. มองว่า แม้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าดังกล่าวจะสามารถขยายตัวได้ดีจากปีก่อน แต่ถือว่า ลดลงจากประมาณการเดิม โดยจะขยายตัวได้ประมาณ 3.83% จากคาดการณ์เดิม 3.86%

    “มีกลุ่มประเทศคู่ค้าที่เศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้ดี คือ กลุ่มประเทศยูโรโซน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ส่วนสหรัฐอเมริกา และ ฮ่องกง ขยายตัวได้ลดลง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจคู่ค้าขยายตัวลดลง”เธอกล่าว

    2.สมมติฐานด้านราคาน้ำมันดิบดูไบ สศค.ปรับสมมติฐานเพิ่มจากราคาเฉลี่ยที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 106 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สาเหตุสำคัญ เกิดจากอุปทานที่เกิดเหตุการณ์ด้านความรุนแรงในประเทศอิรัก ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบดูไบจากต้นปีถึงปัจจุบันเฉลี่ยที่ 105.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

    3.สมมติฐานด้านราคาสินค้าส่งออกและนำเข้า โดยราคาสินค้าส่งออกขยายตัวที่ -1.0% จากเดิมที่อยู่ 0% ส่วนราคาสินค้านำเข้าขยายตัวที่ -0.8% 4.สมมติฐานด้านค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ ซึ่ง สศค. คาดการณ์ว่า ค่าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในระดับคาดการณ์เดิมที่ 32.5 บาทต่อดอลลาร์ 5.สมมติฐานด้านจำนวนนักท่องเที่ยว สศค.คาดทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 26.7 ล้านคน จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 27.7 ล้านคน ซึ่งเป็นผลพวงจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยยอดนักท่องเที่ยว 6 เดือนหดตัวที่ 9.9%

    6.สมมติฐานด้านดอกเบี้ยนโยบายนั้น สศค.คาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับปัจจุบันที่ 2% และ 7.สมมติฐานด้านการใช้จ่ายภาครัฐ สศค.คาดการณ์ว่า จะมีรายจ่ายจำนวน 3.11 ล้านล้านบาท ขยายตัว 6.9% จากปีก่อน

    งบลงทุนเกิน100ล.อนุมัติเร็วขึ้น

    ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวมั่นใจว่า การพิจารณางบลงทุนที่มีวงเงินเกินกว่า 100 ล้านบาท จะรวดเร็วยิ่งขึ้น หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจทั้งหมดแล้ว ซึ่งงบลงทุนดังกล่าวจะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น

    "เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้พบกับผู้แทนการค้าจากญี่ปุ่น เขาก็แสดงความมั่นใจว่า ญี่ปุ่นยังตัดสินใจที่จะลงทุนกับไทยต่อ และ ผมคิดว่า เศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีจะดีขึ้นกว่าครึ่งแรก โดยหลังจากที่คสช.เข้ามาบริหารทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น การนำเข้าสินค้าเพื่อการลงทุนก็จะมากขึ้น"เขากล่าว

    ส่วนแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของคสช.นั้น เขากล่าวว่า กระทรวงการคลังคงจะร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาถึงแผนของการจัดหาแหล่งทุนที่จะใช้ดำเนินการลงทุนทั้งหมด โดยส่วนตัวมองว่า เงินลงทุนที่จะใช้ควรนำมาจากในประเทศเป็นหลัก เพราะขณะนี้ สภาพคล่องในระบบสูง โดยเงินฝากของแบงก์ในระบบที่เข้ามาก็สูงกว่าการปล่อยเงินเพื่อจ่ายสินเชื่อ ทำให้แบงก์แบกรับต้นทุนเงินฝากในอัตราสูง

    Tags : สศค. • จีดีพี • เศรษฐกิจไทย • กฤษฎา จีนะวิจารณะ • ส่งออก • น้ำมันดิบ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้