ห่วงนำเข้าหดแรงฉุดศก.ฟื้นช้า

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 30 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    นักวิเคราะห์ ห่วง นำเข้า หดตัวแรง หลังตัวเลขเดือนมิ.ย.ติดลบ 14.03% ฉุดค่าเฉลี่ยครึ่งปีแรกหดตัว 14%

    กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย.2557 ออกมาเติบโต 3.9% ถือเป็นตัวเลขที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ แต่ประเด็นที่ทำให้นักวิเคราะห์มีความเป็นห่วง คือ ตัวเลขการนำเข้าของเดือนมิ.ย.ซึ่งยังติดลบกว่า 14.03% ทำให้ค่าเฉลี่ยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การนำเข้ามีอัตราการติดลบสูงถึง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขการนำเข้าของไทยเดือนล่าสุดที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาว่าหดตัว 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นตัวเลขที่น่าห่วง เพราะสะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจซึ่งอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด

    “การนำเข้าถือว่าหดตัวแรงมาก ถ้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มของการฟื้นตัว การนำเข้าไม่น่าจะหดแรงขนาดนี้ จึงยังต้องจับตาดูว่า ความเชื่อมั่นของการบริโภคและการลงทุน จะฟื้นได้อย่างแข็งแกร่งจริงหรือไม่”นายอมรเทพกล่าว

    ถ้าดูสาเหตุการหดตัวของการนำเข้า ตัวหลักๆ มาจากการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางที่นำมาใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก ดังนั้นแล้วการที่ตัวเลขนำเข้าหดตัวลงมาแรง อาจสะท้อนถึงการลงทุนที่ยังไม่น่าจะได้เห็นเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ก็เป็นได้

    ขณะนี้อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจะช้ากว่าที่คาด หรือการลงทุนอาจยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นเพียงเดือนแรกของการมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งช่วงนั้นนักลงทุนต่างชาติเองยังคงมีความกังวลอยู่ จึงยังต้องติดตามดูสถานการณ์ไปอีกระยะ

    “การนำเข้ามักเชื่อมโยงกับการลงทุน ที่เรากลัว คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนอาจจะไม่ได้เร็วอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ เพียงแต่เดือนมิ.ย.ยังเป็นแค่ช่วงแรกหลังจากมี คสช. จึงเร็วไปที่จะประเมิน ยังต้องรออีกสักพักจึงจะดูได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนจะฟื้นได้เร็วหรือไม่”นายอมรเทพกล่าว

    ส่วนตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย.ที่เติบโต 3.9% เขากล่าวว่า เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างดี แต่ถ้าดูไส้ในจะเห็นว่า การเติบโตส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรมหลักอย่างสหรัฐและยุโรป ขณะที่การส่งออกไปจีนและอาเซียน ยังคงหดตัวอยู่ ซึ่งทั้ง 2 ตลาดนี้ก็ถือเป็นตลาดหลักของการส่งออกไทยด้วย

    นายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งหดตัวเฉลี่ย 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น ถือเป็นการหดตัวที่ค่อนข้างแรง สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ยังไม่น่าจะกลับมาได้เร็วอย่างที่หลายคนอยากเห็น

    สาเหตุการหดตัวหลักๆ มาจากการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าจำพวกวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตมีการหดตัวค่อนข้างมาก ทำให้แนวโน้มการส่งออกในอนาคตอาจจะยังฟื้นตัวไม่ได้เร็วด้วย

    “ช่วง 3 เดือนข้างหน้า การลงทุนอาจจะไม่ได้กลับมาเร็ว ถ้ามองเรื่องการลงทุนภาครัฐก็คงต้องรอในปีหน้า ส่วนการลงทุนฝั่งเอกชนที่มองกันว่าจะมาได้ก่อนนั้น ผมเชื่อว่าคงจะดีเลย์ออกไป เพราะการบริโภคอาจยังไม่ได้กลับมาเต็มที่ ทำให้ผู้ผลิตยังไม่จำเป็นต้องขยายกำลังการผลิต” นายกำพลกล่าว

    เขากล่าวด้วยว่า ถ้าดูอัตราการใช้กำลังการผลิตของผู้ประกอบการในปัจจุบัน พบว่ามีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่เพียง 60% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เท่ากับว่ากำลังการผลิตของผู้ประกอบการในปัจจุบันยังเหลืออีกมาก ดังนั้นหากผู้ประกอบการยังไม่เห็นคำสั่งซื้อที่เข้ามาแรงๆ ก็คงไม่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตแต่อย่างใด

    นายกำพล กล่าวด้วยว่า ตัวเลขการนำเข้าที่หดตัวค่อนข้างแรง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังคงเป็นลักษณะการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจจะไม่ได้ฟื้นตัวแรงอย่างที่หลายคนอยากเห็น ซึ่งในส่วนของ บล.ทิสโก้ มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 1.5% โดยครึ่งปีแรกอาจไม่เติบโตเลย แต่ครึ่งปีหลังจะโตเฉลี่ยที่ 3%

    ส่วนนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า ตัวเลขการนำเข้าล่าสุดที่ยังหดตัว 14% ถือว่าค่อนข้างน่ากังวล เพราะสินค้าหลักๆ ที่หดตัวส่วนใหญ่เป็นพวกวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ใช้ในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ หรือ ชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้มีการชะลอตัวด้วย แต่การหดตัวของการนำเข้าในภาพรวม สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนและการส่งออกระยะต่อไปอาจไม่ได้ฟื้นตัวเท่าที่ควร

    “ตัวเลขที่ออกถือว่าผิดไปจากที่คาดพอสมควร ซึ่งตัวเลขนำเข้าถือเป็นตัวชี้นำนิดๆ ในเรื่องการส่งออกและการลงทุนได้ เพียงแต่ตอนนี้อาจจะยังไม่สามารถพูดได้ชัดว่าจะกระทบต่อการลงทุนและการส่งออกในอนาคตหรือไม่ แต่เท่าที่ดูก็พอจะเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่า การฟื้นตัวอาจจะไม่ได้ฟื้นเท่าที่ควร ถือเป็นภาวะที่น่าเป็นห่วงได้เช่นกัน”

    ตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย.ที่ออกมาเติบโต 3.9% ถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์เอาไว้ โดยการเติบโตของการส่งออกหลักๆ ในเดือนมิ.ย. มาจากการส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้น

    Tags : กระทรวงพาณิชย์ • อมรเทพ จาวะลา • ส่งออก • นำเข้า • เศรษฐกิจ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้