โตโยต้าปรับประมาณการรถทรุด30.9%

หัวข้อกระทู้ ใน 'ยานยนต์' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 30 กรกฎาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    โตโยต้ามองข้ามช็อตปี58 ตลาดรถฟื้นตัว1ล้านคัน เผย3ปัจจัยบวก ภาษีสรรพสามิต,เออีซี,และจีดีพีไทยโต4-5%

    ในขณะที่ปรับลดประมาณการ ตลาดปีนี้ ลดลง 30.9% ปิดที่ 9.2 แสนคัน เผยปัจจัยลบ ครึ่งปีหลัง ราคาพืชเกษตร และภัยแล้งกระทบต่อเนื่อง

    วานนี้ (29 ก.ค. 57 ) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จัดงานแถลงข่าวประมาณการครึ่งปี 2557 โดยได้ปรับลดประมาณการตลาดรถยนต์ประเทศไทยลงเหลือ 9.2 แสนคันจาก 1.15 ล้านคันเมื่อตอนต้นปีหรือลดลง 30.9% ในขณะที่โตโยต้าในฐานะผู้นำตลาดยังคงมีมุมมองที่เชื่อว่า ตลาดรถไทยจะกลับ มาฟื้นตัวได้ถึง 1 ล้านคันอีกครั้งในปี 2558

    นาย เคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางของตลาดรถไทยใน ครึ่งปีหลัง ภาวะการแข่งขันยังคงรุนแรงและ ปริมาณความต้องการของตลาดลดลง โดยโตโยต้าคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2557 จะมียอดรวมทั้งสิ้น 9.2แสนคันลดลง 30.9% โดยในครึ่งปีแรก พบว่าสถิติการขายรถยนต์ ครึ่งแรกของปี 2557 พบว่า ตลาดรวม มีปริมาณการขาย440,911 คันลดลง 40.5%

    เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของ 2556 แบ่งเป็นการขายรถยนต์นั่งจำนวน 183,720 คันลดลง 47.8% รถเพื่อการพาณิชย์ จำนวน257,191 คัน ลดลง 33.8%รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง)จำนวน 212,024คัน ลดลง35.0%และรถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง)จำนวน 185,840คัน ลดลง 37.2%

    “หากเทียบกับในครึ่งปีแรกปี 56 จะพบว่ายอดขายปรับตัวลดลงเป็นผลจากการปรับสมดุลย์ของตลาดรถหลังสิ้นสุดโครงการรถคันแรก ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและ สถานการณ์ทางการเมือง ทำให้เกิด ผลกระทบทางจิตวิทยา ที่มีต่อการตัดสินใจซื้อ อย่างไรก็ตามในครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มว่าจะตลาดจะปรับดีขึ้น เพราะการเมืองมีแนวโน้มที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งความมั่นคง ในทางการเมืองไม่ได้เกิดจากการยึดอำนาจ.แต่เป็นการจัดการของ คสช ประกอบกับ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า" นายทานาดะ กล่าว

    ราคาสินค้าเกษตรปัจจัยลบครึ่งปีหลัง

    สำหรับปัจจัยลบที่จะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในที่ต้องจับตามองโดยปัจจัยภายใน ที่คาดว่าจะส่งกระทบต่อตลาดรถ มี 2 ปัจจัยเพิ่มเติมจากภาพรวมเศรษฐกิจคือ ประการแรก ปริมาณน้ำฝนในปีนี้มีน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดภัยแล้ง และประการที่สอง คือ ปัญหาเรื่องราคาพืชผลการเกษตร ที่ตกต่ำ ทั้งข้าว ยางพาราและปาล์ม ในขณะที่ปัจจัยภายนอกได้แก่ สงครามในตะวันออกกลางหากว่ายืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้

    นายทานาดะกล่าว ในปี 2558 คาดว่า จะเป็นปีที่ดีของตลาดรถเมืองไทยเพราะว่า มีปัจจัยสำคัญหลายอย่าง ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น คือ แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่า จีดีพีจะอยู่ในอัตรา 4-5% และในปลายปีจะมีการเร่งการซื้อ เข้ามาจากการปรับโครงสร้างภาษี สรรพสามิตตามหลักเกณฑ์ใหม่ รวมถึง การเปิดเออีซี ซึ่งเชื่อว่า ปริมาณความต้องการของตลาดรถไทยจะกลับมาสู่ 1 ล้านคันต่อปีอีกครั้ง

    “หากมองยอดขายจะพบว่า ตลาดลดลงแต่ไม่ได้หมายความว่า ตลาดรถยนต์ไทยจะไม่ดี เพราะในปี 2553 ตลาดเคยทำสถิติสูงถึง 8 แสนคัน และในปีถัดมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ตลาดลดลงไปเหลือ 7.94 แสนคัน จากนั้นตลาดปี 55 มียอดขายสูง 1.33ล้านและเพิ่มเป็น 1.43 ล้านคันในปี 56 ซึ่งการประมาณการในปีนี้ ที่ 9 แสนคันถือว่าเป็นยอดที่ยังติดท็อป 3 ของตลาด ”นายทานาดะ กล่าว

    ปรับประมาณยอดขายเหลือ3.3 แสนคัน

    นายทานาดะ กล่าวว่า โตโยต้าปรับเป้าหมายการขายของโตโยต้า สำหรับตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ไว้ที่ 330,000 คัน จากเดิมที่คาดไว้ 4 แสนคัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 154,000 คัน ลดลง 19.0% รถเพื่อการพาณิชย์ 176,000 คัน ลดลง 31.1% และ รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ 167,000 คัน ลดลง 29.5%

    ทางด้านการส่งออก โตโยต้ามีเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 433,000 คัน คิดเป็นมูลค่า 196,900 ล้านบาท และการส่งออกชิ้นส่วนมูลค่า 68,900 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้นประมาณ 265,800 ล้านบาท ทั้งนี้การส่งออกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหรือราว 1% ในขณะที่ สัดส่วนการส่งออกของโตโยต้า ปัจจุบัน กำลังการผลิต 60% เพื่อการส่งออกในขณะที่อดีตนั้นสัดส่วนการส่งออกกับการจำหน่ายในประเทศอยู่ในสัดส่วน 50:50นายทานาดะ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โตโยต้า ยังคงเดินหน้าลงทุนในไทย โดยขณะนี้มีโครงการแนะนำรถรุ่นใหม่ซึ่งต้องใช้การลงทุนเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาได้ขอรับการส่งเสริมรถอีโค คาร์ เฟส2 และโครกการขยายการผลิตเครื่องยนต์ใหม่

    “เราเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและยังคงยืนยันว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและศูนย์กลางแห่งการวิจัยและพัฒนาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโตโยต้า เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตที่แข่งแกร่งในทุกด้าน และมีการสนับสนุนการผลิตครบวงจร” นายทานาดะกล่าว

    ยอดผลิตรถยนต์มิ.ย.ติดลบ 26.1%

    ก่อนหน้านี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือน มิ.ย.ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 73,799 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 30.4 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ร้อยละ 5.9 เนื่องจากปีนี้ไม่ต้องส่งมอบรถยนต์ในโครงการรถคันแรก ประกอบกับสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจในประเทศที่ผ่อนคลายขึ้น

    ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปีนี้ พบว่ารถยนต์มียอดขาย 440,911 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 40.5 ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 877,746 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20.05

    ด้านยอดผลิตพบว่า ในเดือนมิ.ย. 2557 รถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้มีทั้งสิ้น 160,452 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 26.1 เนื่องจากไม่ต้องผลิตรถยนต์ในโครงการรถคันแรก แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค.ร้อยละ 8.41 เนื่องจากการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น

    ขณะที่จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ช่วงครึ่งปีแรก มีจำนวนทั้งสิ้น 952,685 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 28.95 แบ่งเป็นยอดผลิตรถยนต์นั่ง มีจำนวน 372,158 คัน เท่ากับร้อยละ 39.06 ของยอดการผลิตทั้งหมด มียอดผลิตลดลง ร้อยละ 37.15 ,รถยนต์โดยสารขนาดต่ำกว่า 10 ตัน และมากกว่า 10 ตัน ขึ้นไป ผลิตได้ 279 คัน ลดลง ร้อยละ 28.09 ,รถยนต์บรรทุก ผลิตได้ 580,248 คัน ลดลง ร้อยละ 22.47 ,รถกระบะขนาด 1 ตัน ผลิตได้ทั้งสิ้น 571,237 คัน ลดลง ร้อยละ 20.65 และรถบรรทุกขนาดต่ำกว่า 5 ตัน - มากกว่า 10 ตัน ผลิตได้ 9,011 คัน ลดลงร้อยละ 68.44 เนื่องจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ล่าช้าออกไป

    การผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศ เดือนมิ.ย. ผลิตได้ 55,860 คัน เท่ากับร้อยละ 34.81 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 54.21 และในช่วงครึ่งปีแรกผลิตได้ 392,759 คัน เท่ากับร้อยละ 41.22 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผานมา ร้อยละ 50.94 เนื่องจากไม่ต้องผลิตรถยนต์ในโครงการรถคันแรก

    ด้านการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก เดือนมิ.ย. ผลิตได้ 104,592 คัน เท่ากับร้อยละ 65.18 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 9.94 ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกในครึ่งปีแรก พบว่า มีการผลิตเพื่อส่งออก 559,926 คัน เท่ากับร้อยละ 58.77 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 3.63

    Tags : โตโยต้า มอเตอร์ • ตลาดรถยนต์ • เคียวอิจิ ทานาดะ • การแข่งขัน • ภาษีสรรพสามิต • เออีซี • จีดีพีไทย • ทรุด • ส่งออก

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้